วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

นโยบายจำนำ(ข้าวใน)ยุ้งฉาง? / โดย ทีมข่าวการเมือง

On November 8, 2016

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

ในที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ก็เคาะมาตรการเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ หรือ 1,295 บาทต่อตัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิทุกราย ซึ่งข้าวจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม เมื่อคิดรายได้ที่ผู้ปลูกข้าวหอมมะลิแบบไม่มียุ้งฉางจะได้รับตันละ 10,995 บาท ส่วนเกษตรกรที่มียุ้งฉางจะได้จากการรับจำนำยุ้งฉางตันละ 11,525 บาท ซึ่งก็คือการแจกเงินให้ชาวนาส่วนหนึ่งและจำนำยุ้งฉางอีกส่วนหนึ่ง

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นห่วงเกษตรกรมาก เพราะเดือดร้อนมาหลายปี จึงต้องช่วยเหลือให้อยู่ได้ แต่ต้องไม่ผิดกฎหมาย

“มตินี้ถือว่าแฟร์ ไม่บิดเบือนกลไกตลาด และวินวินทั้งหมด ทั้งชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิทุกรายทั้งที่มียุ้งฉางและไม่มี รวมถึงโรงสีและผู้ส่งออกก็สามารถขายข้าวได้อย่างสบาย เพราะราคาที่ นบข. กำหนดจำนำเป็นราคา 90% ของราคาตลาด ไม่สูงเกินไปเหมือนที่ผ่านมา ที่เหลือเป็นการอุดหนุนตรง ไม่ผิด WTO (องค์การการค้าโลก) โดยรัฐบาลจะประเมินผลโครงการภายใน 3 เดือน ส่วนข้าวเปลือกเหนียวไม่น่ามีปัญหา เพราะเกษตรกรเก็บไว้กินเอง มีเหลือขายบ้างเล็กน้อย ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้าผลผลิตส่วนใหญ่ยังไม่ออก แต่รัฐบาลเตรียมมาตรการรองรับแล้ว หากพยุงราคาไม่ได้อาจมีมาตรการเสริมอื่นๆอีก” นายสุวิทย์กล่าว

คิดใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าชาวนาจะได้รับเงินทั้งสิ้น 13,000 บาท ซึ่งตอนนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,700-12,000 บาท คือเฉลี่ยตันละ 11,000 บาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะรับจำนำตามความเห็นชอบของ ครม. 9,500 บาท และจะเพิ่มเติมช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพอีกตันละ 2,000 บาท ค่าขึ้นยุ้งฉางเก็บรักษาตันละ 1,500 บาท รวมเป็น 13,000 บาท สำหรับเกษตรกรที่ร่วมโครงการและมียุ้งฉาง เพราะ ธ.ก.ส. รับเต็มที่ไม่ได้ จะทำให้ผิดกติกา หากเกษตรกรไม่มียุ้งฉางจะช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและค่าปรับปรุงคุณภาพโดยโอนเงินเข้าบัญชีตันละ 2,000 บาท อันนี้ถือเป็นข้อยุติ

พล.อ.ประยุทธ์ยังขอให้เห็นใจรัฐบาล เพราะช่วงนี้มีความยากลำบากหลายอย่าง ทั้งระบุว่ามาตรการอุดหนุนที่ผ่านมาไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งได้ จึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสหกรณ์ แกนนำหมู่บ้านต้องร่วมมือกัน อย่าเชื่อคำบิดเบือนทางโทรศัพท์ เพราะไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลทำ คนไทยบังคับไม่ได้ทั้งหมด ต้องใช้วิธีการขอร้องกัน คนที่เข้ามาอยู่ในโครงการที่รัฐบาลแนะนำจะมีผลผลิตและรายได้ที่ดีขึ้น แต่คนที่ยังไม่เปลี่ยน รายได้ก็น้อยลง สิ่งที่ห่วงอีกเรื่องคือ ถ้ารัฐบาลบริหารจัดการน้ำได้ดีก็จะเฮโลปลูกข้าวกันอีกและให้รัฐบาลปล่อยน้ำมาเลี้ยงข้าว ปัญหาก็จะวนทับแบบนี้ ฉะนั้นวันนี้ต้องแก้ทั้งระบบ ทั้งประชาชน โรงสี เอกชน พ่อค้าข้าว ต้องมีธรรมาภิบาล ขณะที่รัฐบาลจะมีนโยบายใหม่ๆมาแก้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่กำหนด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยสบายใจคือ ที่บอกว่าตนไปเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ถามว่าไปเอื้อใคร เอื้อทำไม แล้วจะได้อะไร ต้องไปดูว่าสิ่งที่ได้กลับมาคืออะไร การเอาบริษัท ห้างร้านเข้ามาช่วย เป็นเรื่องที่ประชาชนจะเป็นผู้เลือกเองว่าจะขายให้ใคร จะขายให้ประชารัฐหรือจะขายเองก็เรื่องของเขา ตรงนี้เป็นทางเลือกเท่านั้นเอง รัฐบาลนี้มีหน้าที่สร้างทางเลือกให้ประชาชนเข้มแข็งด้วยตัวเอง นอกจากการช่วยแล้ว กรมวิชาการเกษตรจะผลิตเมล็ดพันธุ์พืชให้มากกว่า 800,000 ตัน แต่ก็ไม่พอ เพราะต้องใช้ถึง 6-7 ล้านตัน ต่อไปจะให้ชาวนาแต่ละกลุ่มไม่ต้องขายเป็นข้าวทั้งหมด แต่ให้ขายเป็นเมล็ดพันธุ์ด้วย ซึ่งตนคิดตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่ใครเสนออะไรมาก็รับหมด เงินมีหรือไม่ก็ช่างมัน ผิดกฎหมายหรือไม่ไม่รู้ก็ช่างมัน เป็นนายกฯแบบนั้นไม่ได้

ทุกข์ของชาวนาปั้นไม่ได้

คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์เห็นชัดเจนว่าไม่ได้คิดว่าราคาข้าวตกต่ำเป็นความผิดพลาดของรัฐบาล แล้วยังพยายามอ้างถึงการใช้งบประมาณที่ต้องไม่ผิดกฎหมาย แม้ไม่ระบุว่ารัฐบาลใดก็ตาม แต่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถึงกระแสราคาข้าวตกต่ำจนมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีการร่วมมือกันระหว่างนักการเมืองในพื้นที่ร่วมกับโรงสีบางโรงในการกำหนดราคาข้าวให้ต่ำลง โดยหวังให้เกิดประเด็นต่อประชาชนให้เกิดการต่อต้านหรือขัดแย้งกับรัฐบาล

ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งโจมตีโครงการรับจำนำข้าวมาตลอดก็ออกมาสร้างภาพกับกระแสชาวนาที่ให้ปลูกเองขายเองว่า เป็นโอกาสดีที่สุดที่จะปฏิรูประบบข้าวของประเทศ ให้ชาวนาทำข้าวครบวงจร ปลูกเอง สีเอง ขายเอง โดยรัฐบาลใช้บริษัทประชารัฐเป็นแกนกลางทุกจังหวัด ไม่ต้องผ่านโรงสีใหญ่ เพราะมีโรงสีบางส่วนกำลังเล่นเกมร่วมกับกลุ่มอำนาจเก่าทุบราคาข้าว

นายบรรจง ตั้งจิตรถาวรกุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ยืนยันว่า โรงสีข้าวไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองแต่อย่างใด ส่วนที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ทางโรงสีก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีและอยากให้เร่งรัดโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงสีข้าวกล่าวว่า การรับจำนำยุ้งฉางจะช่วยพยุงราคาข้าวเปลือกหอมมะลิได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ ธ.ก.ส. จะผลักดันให้เกษตรกรนำข้าวมาจำนำยุ้งฉางได้ครบ 2 ล้านตันข้าวเปลือกหรือไม่ หากต่ำกว่าเป้าหมายก็ไม่ช่วยผลักดันราคาข้าวได้ เพราะข้าวเปลือกหอมมะลิจะออกสู่ตลาดพร้อมกันจำนวนมากในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ถึง 10 ล้านตัน ถ้าดูดซับไม่ได้ 2 ล้านตัน และเกษตรกรนำออกมาขายพร้อมๆกัน ราคาตลาดย่อมลดลงอีก

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การให้ข่าวชี้นำว่านักการเมืองและนายทุนโรงสีบิดเบือนกลไกตลาดข้าว ทุบราคาข้าว ทำให้ราคาตก ต้องพูดบนข้อเท็จจริง มิใช่การมโนคิดเอาเอง ไม่ควรใช้วาทกรรมมาเที่ยวโยนความผิดให้ผู้อื่น และอย่ามองทุกอย่างเป็นเรื่องการเมือง เพราะทุกข์ของชาวนาไม่มีใครปั้นหรือตกแต่งเรื่องได้

นายสมคิด เชื้อคง พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์นับหนึ่งถึงสิบก่อนพูดว่านักการเมืองและโรงสีอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่านักการเมืองพรรคไหนก็ไม่อยากให้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะคะแนนความนิยมชมชอบมาจากชาวบ้าน มีแต่อยากให้ชาวบ้านรักทั้งนั้น ท่านวางนโยบายเรื่องข้าวไว้อย่างไรผลก็ออกมาอย่างนั้น เป็นฝีมือบริหารจัดการของรัฐบาลล้วนๆ อย่าโยนมาฝั่งการเมือง นายกฯอย่ามีอคติกับนักการเมือง ไปดูว่าราคาตกต่ำเพราะอะไร ข้าราชการที่ให้อำนาจล้นเหลือจนต้องออกมาตรา 44 ให้จัดการเรื่องข้าวเดินหน้าถึงไหน ผู้ส่งออกที่อยากซื้อถูกๆ กดราคาข้าว ทำไมไม่เอ่ยถึง

“มันผิดพลาดแน่นอนในวิธีการของรัฐบาล ท่านควรไปหาข้อบกพร่องขององคาพยพของคณะท่าน อย่าโยนให้ร้ายคนอื่น เป็นบาปกรรมนะ ท่านควรรับผิดชอบทุกเรื่อง เพราะเป็นผู้นำรัฐบาล ต้องกล้าเผชิญความจริงสมกับที่ท่านเป็นชายชาติทหาร” นายสมคิดกล่าว

“จำนำข้าว-จำนำยุ้งฉาง” ไม่ต่างกัน

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไม่อยากเสนอข้อคิดเห็นไปยังผู้มีอำนาจ เนื่องจากคุยไม่รู้เรื่อง แต่สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการหาทางช่วยชาวนา ซึ่งข้าวเป็นสินค้าเกษตรตามฤดูกาล เมื่อผลผลิตเกินความต้องการก็ต้องเก็บ เหมือนฝนตกหนักก็ต้องมีเขื่อนเก็บน้ำเช่นเดียวกัน ข้าวเมื่อมีมากรัฐบาลต้องเข้าไปแทรกแซงช่วยเหลือ ซึ่งเป็นวิธีที่ทั่วโลกทำกัน ปีการผลิตที่จะถึงนี้มีข้าวเปลือกกว่า 32 ล้านตันที่จะออกมา และผลิตเป็นข้าวสาร 18-20 ล้านตัน ปริมาณการบริโภคของคนไทยทั้งประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 8 ล้านตันต่อปี ทำให้มีส่วนเกินกว่า 10 ล้านตัน ส่งผลให้ข้าวล้นตลาด และเชื่อว่าราคาจะลดต่ำลงมากกว่านี้

ส่วนการจำนำยุ้งฉางที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ นายวัฒนาเชื่อว่าจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาทุจริตมากกว่าเก่า เนื่องจากให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูแลกันเอง และตรวจสอบได้ยากว่าในยุ้งฉางมีข้าวจริงหรือไม่ การที่รัฐบาลนำความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นเครื่องมือเล่นงานคนอื่น สุดท้ายจะเป็นสิ่งรัดตัวเอง เพราะวิธีแก้ไขก็คือการแทรกแซงราคา ส่วนจะใช้คำพูดว่าจำนำข้าว ประกันข้าว หรือจำนำยุ้งฉางก็ไม่ต่างกัน จึงอยากฝากไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ช่วยตรวจสอบและเตือนรัฐบาลถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำในครั้งนี้ด้วย

รัฐบาลฆ่าชาวนา

ที่น่าสนใจคือการเคลื่อนไหวของชาวนาที่ไม่พอใจมาตรการของรัฐบาล โดยนายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า สมาคมจะทำหนังสือและเข้าพบนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้เพื่อแสดงความผิดหวังต่อราคารับจำนำข้าวยุ้งฉาง เพราะต่ำเกินไป ข้าวเปลือกหอมมะลิไทยไม่เคยราคาต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท แต่ราคาที่ นบข. กำหนดคำนวณจากฐาน 90% ของราคาตลาด ซึ่งอยู่ที่ตันละ 8,730 บาทเท่านั้น ชาวนาผิดหวังและรับไม่ได้ โดยวันที่ 2 พฤศจิกายน ได้มีการประชุมกรรมการเพื่อหาวิธีช่วยเหลือชาวนาต่อไป

“ปัจจุบันราคาขายข้าวอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.80-6.00 บาท ไม่เคยตกต่ำถึงขนาดนี้มาก่อน ไม่รู้จะบอกกับชาวนายังไง เพราะเป็นนโยบายที่ชาวนาคาดหวังว่าจะแก้ปัญหาให้ดีขึ้น ราคาที่ออกมาหลอกลวงชาวนา เป็นการฆ่าชาวนา ไม่รู้จะพึ่งใคร รัฐบาลกดราคาเสียเอง ซ้ำเติมชาวนา และกดราคาตลาดให้แย่ลงอีก เรื่องนี้ไม่ต้องโทษโรงสีหรือผู้ซื้อ” นายสุเทพกล่าว

นายวิเชียร พวงลำเจียก คณะกรรมการกลุ่มเกษตรกรทำนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า อยากให้นายกฯสนใจชาวนาบ้าง ที่ผ่านมารัฐบาลไม่จริงจังและจริงใจแก้ปัญหาราคาข้าว ต้นทุนเกษตรกรสูงเพราะโดนกดราคาจากโรงสี ทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 6,000-7,000 บาท เมื่อทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ก็ได้รับคำตอบว่าต่างประเทศที่เคยซื้อข้าวไทยไม่ซื้อแล้วเพราะผลผลิตประเทศอื่นสูงขึ้น ส่วนการพักหนี้ของรัฐบาลให้กับชาวนาที่กู้เงินกับ ธ.ก.ส. ก็ไม่ได้พักดอกเบี้ย เดิมดอกเบี้ย 3% แต่ปัจจุบัน 7% แล้วจะเรียกว่าพักหนี้ได้อย่างไร

กระแสช่วยชาวนา

ราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำแบบดิ่งเหวทำให้เกิดกระแสทางสังคมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งหลายคนเชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชาวนาไม่มากก็น้อยคือ ชาวนาต้องลุกขึ้นมาสู้ด้วยการนำข้าวเปลือกมาสีและขายเอง แม้โดยข้อเท็จจริงจะมีปัญหาหนี้สินและการตลาดก็ตาม แต่ถ้าคนไทยที่ต้องกินข้าวเป็นอาหารหลักร่วมให้ความช่วยเหลือ ซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง ชาวนาก็จะมีกำลังใจและเกิดการรวมกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ในรูปแบบสหกรณ์ที่เอาข้าวไปขายให้กับโรงสีอย่างในอดีตเท่านั้น แต่ยังสามารถต่อรองราคาได้อีกด้วย

นายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รณรงค์โครงการ “ลูกชาวนาได้เวลาช่วยพ่อ” ทำให้เกิดกระแสสังคมในภาคส่วนต่างๆออกมารณรงค์ช่วยชาวนาเอาข้าวเปลือกมาสีและขายเองโดยไม่ผ่านโรงสีและพ่อค้าคนกลาง โดยเริ่มจากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ซื้อในราคาที่เป็นธรรม แต่ถูกกว่าในท้องตลาด หรือขายตามถนนแบบขายผักขายปลา หลังจากนั้นก็รวมกลุ่มเป็นข้าวชุมชนในรูปแบบต่างๆ โดยเน้นข้าวที่มีคุณภาพเพื่อแข่งขันในตลาด

ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับมากมาย และมีหลายพื้นที่ทั้งสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน บุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ได้ออกมาเปิดพื้นที่ให้ชาวนานำข้าวสารมาขาย หรือฝากขายผ่านสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะโครงการ “ลูกชาวนาได้เวลาช่วยพ่อ” นั้น นายเดชรัตได้สรุปเสียงตอบรับว่าเพียงไม่กี่วันที่เป็นข่าวคือ 1.ในส่วนของรัฐบาล ปลัดกระทรวงพาณิชย์สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดเป็นศูนย์กลางในการประสานงานช่วยชาวนาและลูกชาวนาขายข้าวในแต่ละจังหวัด 2.มีโรงสีหลายแห่งยินดีให้บริการตาก สี และเก็บข้าว สำหรับลูกชาวนาที่จะนำข้าวของพ่อแม่ไปขาย เช่น เชียงราย พะเยา ชัยนาท และสุพรรณบุรี

3.ภาคเอกชนเสนอให้พื้นที่สำหรับชาวนาและลูกชาวนาในการมารวมตัวกันจัดตลาดนัดข้าวสารทั้งในกรุงเทพฯ (หลายพื้นที่) และต่างจังหวัด 4.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะช่วยเปิดตลาดข้าวล็อตใหญ่ในองค์กรราชการต่างๆให้กับพี่น้องชาวนา 5.ภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญเรื่องไอทีจะช่วยกันพัฒนาเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นสำหรับการขายข้าวของชาวนาและลูกชาวนา โดยในส่วนแอพพลิเคชั่นจะเชื่อมกับแอพฯท่องเที่ยว ทำให้สามารถแวะซื้อข้าวของชุมชนได้ทันที และ 6.ธ.ก.ส. กำลังพิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกชาวนา

นกหวีดหายหัวไปไหนหมด?

กระแสลูกชาวนาและการตื่นตัวของสังคมที่จะช่วยเหลือชาวนาทำให้มีการย้อนไปถึงครั้งที่กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เป่านกหวีดปิดกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่เรื่อง “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” แต่ยังขยายผลทางการเมืองเพื่อโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทุกรูปแบบ ซึ่งโครงการรับจำนำข้าวเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ที่นำมาอ้างว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ได้พูดถึงโครงการรับจำนำข้าวว่า สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนาจำนวนมาก และบอกถึงชาวนาว่าเมื่อไรที่สามารถไล่รัฐบาลและปฏิรูปประเทศเสร็จจะจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้กับชาวนาทุกคนแน่นอน

นอกจากนี้นายสุเทพยังเดินขบวนเชิญชวนชาวกรุงเทพฯบริจาคเงินเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายให้ชาวนามาประท้วง ขณะเดียวกันกลุ่ม กปปส. ก็ไปปิดล้อมหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินรับจำนำข้าว เพื่อไม่ให้จ่ายเงินให้กับชาวนา หรือไม่ให้มีการประมูลขายข้าวเพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับชาวนา รวมถึงสถานทูตประเทศต่างๆที่จะซื้อข้าวจากประเทศไทย

ทำให้มีกระแสโซเชียลมีเดียถามนายสุเทพและกลุ่ม กปปส. ว่า วันนี้ชาวนากำลังเดือดร้อนอย่างหนัก ทำไมไม่ออกมาช่วยเหลือตามที่สัญญาไว้ ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมชื่อดัง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คถึงสลิ่มนกหวีดหลังจากมีการโพสต์เหน็บ “บก.ลายจุด” ไปไหน ตอนนี้ข้าวราคาตก เคยลั่นวาจาช่วยซื้อตันละหมื่นห้า ไม่เห็นออกหน้ามาช่วยชาวนาทุกข์ร้อน?? ว่า “ผมขอท้าให้สลิ่มนกหวีดที่ถามผมว่าทำไมไม่ออกมาซื้อข้าวเกวียนละ 15,000 บาท ไปรณรงค์ใน Change.org ให้ได้ 15,000 รายชื่อเมื่อไร ผมจะเอากางเกงในไปจำนำเพื่อเอาเงินไปรับซื้อข้าวหอมมะลิทันที”

ส่วน “ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์ชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊คโดยตั้งหัวข้อ “Cornetto พลิกฝา พามันส์” ว่า พอคิดค่าเสียหายจำนำข้าว 35,000 ล้านจากอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ราคาข้าวก็ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

“มันบังเอิญพอดี ที่ไหนได้ ประยุดกลับหาว่าทักกี้ อีปู จับมือโรงสีทำราคาข้าวตก เป็นงั้นไป มี ม.44 ปกครองมา 3 ปี ยังสู้ทักกี้ไม่ได้? 3 ปีนะครับ แก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรไม่ตก เก่งแต่บอกชาวบ้านไปปลูกหมามุ่ย ไปขายยางดาวอังคาร กับติดป้ายประชารัฐ (บวกกระแสคนชั้นกลางมีอันจะกินไปทำการเกษตรเอาเท่ แล้วหาว่าชาวบ้านโง่) ที่พยายามจัดระเบียบให้เลิกปลูกข้าว ปลูกอย่างอื่นแทนก็ล้มเหลว ปลูกข้าวโพดก็ราคาตก พื้นที่เหมาะปลูกข้าวอยู่ดีๆจะไปปลูกอย่างอื่นทำไม ฉะนั้นอย่าปฏิเสธเลยเรื่องการอุดหนุนเกษตรกร มันจำเป็น เพียงแต่ไม่ต้องไปไกลขนาดจำนำ 15,000 (แล้วจำนำยุ้งฉางต่างตรงไหน) ยังไงประเทศไทยก็ต้องอุดหนุนเกษตรกรอีกสักหลายปี จนภาคอุตสาหกรรม บริการ เติบโตกว่านี้ ลูกหลานก็เปลี่ยนอาชีพแล้ว แต่นี่พอดีเศรษฐกิจหยุดเติบโต การลงทุนหยุดชะงัก พอพืชผลราคาตกต่ำมันเลยซ้ำเติมกันหมด แถมระวังจะซ้ำเติมเศรษฐกิจไตรมาส 4 ด้วยนะเออ ปูนใหญ่ยังบอกเลยว่า “ประชาชนยังอยู่ในช่วงโศกเศร้า ทำให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว” คือเศรษฐกิจปลายปีปรกติเงินสะพัดจากความบันเทิง ท่องเที่ยว เฮฮาปาร์ตี้ แต่ปีนี้ทั้งมาตรการรัฐ ทั้งความรู้สึกคน น่าคิดเหมือนกันว่าการจับจ่ายจะเป็นอย่างไร”

นโยบายจำนำ (ข้าวใน) ยุ้งฉาง?

ราคาข้าวจึงเป็นประเด็นที่ไม่ใช่ “ทุกข์ของชาวเป็นทุกข์ของแผ่นดิน” เท่านั้น แต่ “ทุกข์ของชาวนา” กำลังเป็นทุกข์ของรัฐบาลรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งไม่ว่าจะอ้างอย่างไรก็ถูกตั้งคำถามเรื่องการบริหารจัดการหรือรัฐบาลมีกึ๋นในการแก้ปัญหาบ้านเมืองหรือไม่ ทั้งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จคับบ้านคับเมืองยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งปัญหาการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลยืนยันว่าแข็งแกร่งและดีขึ้น แต่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ให้ความเห็นเรื่องเศรษฐกิจมาตลอดก็ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยยังโคม่า ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าวตกต่ำมากสุด ชาวบ้านทำมาหากินฝืดเคือง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่ถือเป็นขุนพลเศรษฐกิจของรัฐบาลก็รู้ดี ไม่ใช่อ้างตัวเลขของหน่วยงานรัฐ เพราะคำถามว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีแค่ลงไปสำรวจความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปจริงๆเท่านั้น ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นจริง ทำไมไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์จึงบอกว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาก และมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด และที่ดีใจว่าส่งออกเป็นบวก 2 เดือนติดกันนั้น ทำไมไม่พูดถึงก่อนหน้านี้ที่ติดลบติดต่อมา 19 เดือน และปีนี้มีแนวโน้มส่งออกต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี

นายพิชัยยังถามถึงเงินอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายแสนล้านบาทว่า ไปกระจุกอยู่ที่ไหน ทำไมไม่ถึงมือประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งยังชี้ว่าการจำนำยุ้งฉางของรัฐบาลที่ออกมาแก้ปัญหาราคาข้าวหอมมะลิก็เป็นหลักการเดียวกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ดังนั้น รัฐบาลจะสองมาตรฐานไม่ได้ จะบอกอันนี้ทำได้ไม่เสียหาย แล้วอีกอันทำไม่ได้เพราะเกิดความเสียหาย อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่คนอื่นทำผิด แต่ตัวเองทำไม่ผิด

เรื่องข้าวจึงตอกย้ำชัดเจนถึงการบริหารจัดการของรัฐบาล ไม่ว่าจะบิดเบือนเป็นเรื่องการเมืองหรือเศรษฐกิจ ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ต้องมีนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินช่วยเหลือ ซึ่งก็คือความเสียหายที่รัฐต้องนำมาช่วยเหลือเกษตรกรเหมือนกันทุกรัฐบาลและทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจำนำข้าว ประกันข้าว หรือจำนำยุ้งฉางก็ไม่ต่างกัน

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจึงไม่ใช่เรื่องกำไรขาดทุนตามหลักธุรกิจ แต่เป็นการบริหารจัดการที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติและเกษตรกร หากมีการโกงหรือทุจริตก็ต้องมีระบบตรวจสอบและมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาด

ไม่ใช่พูดทีเล่นทีจริงว่า ถ้าราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำก็ให้ไปขายบนดาวอังคาร หรือถ้าราคาปุ๋ยแพงกว่าข้าวก็ขายปุ๋ยแทนข้าว หรือปลูกหมามุ่ยแทน แล้วโยนความผิดไปให้ฝ่ายตรงข้าม โดยตีความกฎหมายสองมาตรฐานหรือดิ้นได้ เพราะ “คนดีทำอะไรก็ไม่ผิด”

บนมาตรฐานความยุติธรรมเดียวกัน ถ้านโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ผิด แต่สร้างความเสียหายจนถูกใช้คำสั่งทางปกครองให้ยึดทรัพย์ถึง 35,000 ล้านบาท สิ่งที่ผู้มีอำนาจรัฐต้องทำก็คือ ใช้กฎหมายเดียวกันเรียกค่าเสียหายทุกรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงเตรียมเงินเตรียมทรัพย์สินส่วนตัวของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันไว้จ่ายค่าเสียหายที่รัฐบาลนี้ก็ทำความเสียหายไม่แตกต่างไปจากทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

นโยบายอุดหนุนเกษตรกรผิดหรือไม่ก็เป็นความรับผิดชอบทางการเมือง เพราะรัฐเสียหาย แต่ประชาชนได้ประโยชน์ ก็คือประชานิยมหรือประชารัฐ

นโยบายจำนำข้าว ประกันราคาข้าว จำนำยุ้งฉาง หรือนโยบายจำนำข้าวในยุ้งฉาง จึงเป็นนโยบายแทบไม่ต่างกันนั่นเอง!!?


You must be logged in to post a comment Login