- อย่าไปอินPosted 3 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 21 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
น่าเสี่ยงเดิมพัน
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
มาตรการลดความเดือดร้อนของชาวนาที่ขายข้าวไม่ได้ ที่ถูกวิจารณ์ว่าทำแบบฝนตกไม่ทั่วฟ้า ก่อนหน้านี้ได้รับการแก้ไขโดยขยายให้ช่วยเหลือชาวนาทุกกลุ่มที่ปลูกข้าวทุกสายพันธุ์ ทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ
สำหรับข้าวเปลือกเจ้า จะให้สินเชื่อร้อยละ 90 ของราคาตลาด ราคาเฉลี่ย 7,800บาท/ตัน วงเงินสินเชื่ออยู่ที่ 7,000บาท/ตัน ส่วนข้าวหอมปทุม ราคาเฉลี่ย 8,700 บาท/ตัน วงเงินสินเชื่อ 7,800/ตัน ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก 1,500 บาท โดยจะได้เงิน 1,000 บาท ในวันเบิกรับเงินกู้ และ 500 บาท ในวันที่ไถ่ถอนข้าวเปลือก
นอกจากนี้ ยังมีจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ตันละ 2,000 บาท ไม่เกิน12,000 บาท/ครัวเรือน โดยใช้งบประมาณดำเนินการทั้งหมด 18,041 ล้านบาท
เป็นอันว่าปัญหาราคาข้าวตกต่ำในปีนี้ได้รับการแก้ไขแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปอีกปี
อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานที่ประชุม
หลังประชุมนายกฯให้สัมภาษณ์น่าสนใจ สรุปได้ว่าทุกมาตรการที่ทำในวันนี้และที่ทำกันมาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทั้งสิ้น ถ้าไม่สนใจต้นทาง สนใจแต่ปลายทางไม่มีวันแก้ปัญหาได้
“หลักการของรัฐบาลต้องคำนึงถึงต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ของพืชทุกชนิด ถ้าทำผลผลิตออกมามากเกินไปก็ขายไม่ได้อยู่ดี และต้องอุดหนุนกันไปอีกสักเท่าไหร่ วันนี้เห็นใจทุกคน ทั้งเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ และชาวสวน แต่ที่ผ่านมาต้องอุดหนุนปลายทางตลอด ดังนั้นต้องไปดูต้นทางเป็นอย่างไร ถ้าทุกคนไม่เข้าใจตรงนี้ สุดท้ายก็เดือดร้อน เงินก็หมดไปเรื่อยๆ แล้วเข้มแข็งขึ้นไหม
วันนี้มาตรการต่างๆ ต้องทำควบคู่กันไป แต่ไปได้ช้า เพราะส่วนใหญ่ติดกับวัฒนธรรม หรือพฤติกรรมการปลูกข้าวแบบเดิม ขอให้เข้าใจตรงกัน ถ้ามีอะไรผิดก็ให้บอกมา แต่ไม่น่าผิด คิดมานาน คิดมา 3 ปีแล้ว แต่ทำได้แค่นี้ เพราะเจอปัญหาแบบนี้ วันนี้ต้องคิดใหม่ทั้งหมด ไม่อย่างนั้นจะเป็นวงจรแบบเดิม…คงต้องแก้ทั้งระบบ ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง หากแก้เช่นนี้ได้รับรองไม่เกิน 5 ปี ชาวนา ชาวไร่รวยขึ้นเยอะ ขอให้เข้าใจความตั้งใจของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
สิ่งที่นายกฯพูดเป็นการพูดบนหลักการดีมานด์-ซัพพลาย เป็นตัวกำหนดราคาสินค้าไม่ว่าจะพูดเมื่อไหร่ก็ไม่ผิด
น่าสนใจตรงที่นายกฯบอกคิดแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรแบบครบวงจรทั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทางมา 3 ปีแล้ว พูดง่ายๆคือคิดมาตั้งแต่เข้ามายึดอำนาจการปกครอง
แต่พูดกันแบบไม่เกรงใจก็ต้องบอกว่ายังมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติ
น่าสนใจกว่านั้นคือนายกฯบอกว่าหากแก้ปัญหาตามแนวทางที่คิดไว้รับรองไม่เกิน 5 ปี ชาวนา ชาวไร่จะรวยขึ้นเยอะ
ถ้าสามารถทำได้จริงอย่างที่นายกฯบอก ถือว่าน่าเดิมพันให้รัฐบาลชุดนี้อยู่บริหารประเทศไปอีก 5 ปี เพื่อให้ทำงานแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรแบบครบวงจรตามแนวทางที่คิดไว้ให้เต็มที่ เพราะหากลงจากอำนาจไปแล้วให้รัฐบาลอื่นมาทำแทน ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ จะมีข้ออ้างได้ว่าไม่ทำตามที่วางแผนไว้ หรือขาดประสิทธิภาพในการทำงาน
อยู่ต่อ 5 ปี แล้วแก้ปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรทุกตัวได้ครบวงจรอย่างยั่งยืนจึงเป็นอะไรที่น่าเสี่ยง
หากทำได้จริง อย่าว่าแต่อยู่ต่อ 5 ปีเลย จะมีเสียงเรียกร้องให้อยู่นานกว่านั้นเสียด้วยซ้ำ เพราะปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรแก้ปัญหาหลายรัฐบาล หลายสิบปี ทำมาหลายวิธีแล้วไม่เคยสำเร็จ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ทำได้ ต้องยกให้เป็นวีระบุรุษของชาติ
You must be logged in to post a comment Login