วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“ภักดิ์กมล” วาทกรรมชาตินิยม พลังความทรงจำ ความรู้สึกร่วมเป็นเหยื่อผ่านเยาวชนปาตานี

On November 11, 2016

มูฮำหมัด ดือราแม โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) ได้สัมภาษณ์พิเศษ ‘ภักดิ์กมล ศิริวัฒน์’ น.ศ.ปริญญาเอก แคมบริดจ์ ว่าด้วยงานวิจัยเกี่ยวกับ “บทบาทวาทกรรมสำนึกชาตินิยม-พลังของความทรงจำร่วมและความรู้สึกร่วมการเป็นเหยื่อผ่านมุมมองเยาวชนปาตานี/ชายแดนใต้” อะไรคือคำตอบที่เธอค้นพบ จากการสัมภาษณ์เชิงลึกด้วยกลุ่มตัวอย่างเกือบ 3,500 คนในพื้นที่

เธอคนนี้เป็นนักวิจัยในพื้นที่ขัดแย้งปาตานี/ชายแดนใต้ กับ 3 ปีที่อยู่ในวงคนมลายูในพื้นที่ อะไรคือคำตอบที่เธอค้นพบจากคำถามที่คาใจมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมที่ว่า “ทำไมที่นี่จึงเกิดความไม่สงบ?”

เธอชื่อ ภักดิ์กมล ศิริวัฒน์ หรือ “น่าน” นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ อายุ 26 ปี กำลังทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง“บทบาทของวาทกรรมชาตินิยมที่มีต่อการสร้างสำนึกร่วมความเป็นมลายูปาตานีผ่านมุมมองเยาวชนในปัจจุบัน”

เธอลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้วยการทำแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่างเกือบ 3,500 คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นเยาวชนทั้งในระบบและนอกการศึกษา ทั้งโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันปอเนาะ มหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชนในพื้นที่และนอกพื้นที่ และในกลุ่มวัยรุ่นตามหมู่บ้านที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา

แม้เนื้อหาอาจรู้สึกหนัก แต่การได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการชนกันของสองวาทกรรมชาตินิยม (ชาตินิยมสยาม-ไทย และ ชาตินิยมมลายูปาตานี) บทบาทพลังของความทรงจำรวม กับอารมณ์ความรู้สึกร่วมของการเป็นเหยื่อของคนมลายูมุสลิมปาตานีจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งยืดเยื้อนี้ได้อย่างไร อะไรคือข้อค้นพบและทางออกของเธอจากงานวิจัยที่เธอตั้งเป้าหมายจะให้จบภายในเดือนมกราคม 2560 ชิ้นนี้ โปรดตั้งใจอ่านแล้วจะพบในตอนท้าย

ศึกษาบทบาทวาทกรรมชาตินิยมและผลกระทบผ่านมุมมองเยาวชน

เธอบอกว่า งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาบทบาทของวาทกรรมชาตินิยมที่มีต่อการสร้างสำนึกร่วมความเป็นมลายูปาตานีผ่านมุมมองเยาวชนมลายูในปัจจุบัน

“ตอนแรกลงมาในพื้นที่ด้วยความคิดที่อยากจะเข้าใจว่าทำไมคนมลายูถือสัญชาติไทยแต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นไทย ซึ่งจากการมาอยู่และได้สัมผัสกับคนในพื้นที่ทำให้เห็นว่า วาทกรรมของชาตินิยมมลายูปาตานีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อที่จะยับยั้งหรือชะลอการกลืนเอาความเป็นไทยเข้ามาในความเป็นมลายู นี่คือสิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนพอสมควร”

โลกที่เปลี่ยนแปลงกระทบความรู้สึกร่วมหรือไม่

ขณะเดียวกันเธอก็อยากรู้ด้วยว่า ปัจจุบันด้วยการที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทำให้เยาวชนมลายูรุ่นใหม่ที่สามารถใช้ภาษาไทยได้มากกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่หรือรุ่นปู่รุ่นย่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบอะไรหรือไม่ เยาวชนมลายูรุ่นใหม่ยังคิดว่าตัวเองมีความรู้สึกร่วมกับความสำนึกในความเป็นมลายูปาตานีนี้หรือไม่ หรือเปลี่ยนไปแล้ว

มันยังโดดเด่นอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนมลายู

แม้งานชิ้นนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ แต่สิ่งที่เธอเห็นคือ “เราเห็นถึงความสำนึกนี้มีอยู่จริง มันยังคงโดดเด่นอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนมลายู สำนึกของเยาวชนยังไม่ได้หายไปไหน ต่อให้เขาพูดภาษาไทยมากขึ้นแต่ก็ยังใช้ภาษามลายูเป็นหลัก เพียงแค่ดูจากข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นได้ชัดถึงมีความต่างระหว่างบริบทของพื้นที่นอกเมืองกับในเมือง กล่าวคือ คนที่อยู่นอกเมืองมีความรู้สึกร่วมของสำนึกนี้เข้มข้นกว่าคนในเมือง”

ความรู้สึกร่วมของการเป็นเหยื่อ ทำให้วาทกรรมชาตินิยมยิ่งเข้มข้น

เธอบอกว่า มองในแง่หนึ่งคือ ความไม่สงบเองมันทำให้สำนึกร่วมของความเป็นมลายู เข้มข้นและยังคงอยู่ เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์กับคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าในพื้นที่ไหนหรือไม่รู้จักกัน เพียงแค่ได้ยินข่าวว่าคนมลายูถูกกระทำ ความรู้สึกร่วมของการเป็นเหยื่อมักจะเกิดขึ้น จึงยิ่งทำให้ความเข้มข้นของวาทกรรมชาตินิยมยิ่งมากขึ้นยิ่งในบริบทนอกเมือง

ที่มาและความต่างของวาทกรรมชาตินิยมมลายู/ไทย

เมื่อถามว่า วาทกรรมที่พูดถึงนี้มีอะไรบ้าง น่านบอกว่า ถ้าจะพูดคร่าวๆ มีในแง่การนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อย่างที่เราเคยได้ยินความเป็นมาของคนมลายูปาตานี ความรุ่งเรืองในอดีตเป็นอย่างไร อีกประเด็นหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาบ่อยมากในการสัมภาษณ์เชิงลึก คือในแง่บทบาทการถูกยึดครอง บางคนอาจใช้คำว่าอาณานิคม บางคนพูดคำว่าปาตานีถูกยึดครองเลยมีการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่

“สิ่งที่เขาบอกคือความเป็นมลายูแตกต่างจากความเป็นคนไทย และแตกต่างจากความเป็นคนไทยมุสลิมด้วย คือคนมุสลิมในภาคอื่นก็ไม่เหมือนกับมุสลิมที่นี่เพราะเรื่องเชื้อชาติและความเป็นมาของคนที่นี่”

เธอบอกว่า อีกเรื่องที่ปรากฏขึ้นมาตลอดในเรื่องวาทกรรม คือความรู้สึกของความเป็นเจ้าของพื้นที่ หลายคนที่ให้สัมภาษณ์อาศัยอยู่ในพื้นที่สีแดง หลายคนเป็นเยาวชนที่เคยผ่านการถูกหมาย (หมายค้น หมายเชิญตัวหรือหมายจับ) เขาจะพูดเสมอว่า ต่อให้มีความไม่สงบเขาก็จะไม่ทิ้งหรือไม่สามารถไปที่อื่นหรือย้ายไปอยู่ที่อื่นได้ เพราะนี่คือแผ่นดินบ้านเกิดของเขา (Homeland)

ความถี่ของเหตุการณ์เชื่อมโยงกับความสำนึกหรือไม่

น่านบอกว่า การทำวิจัยชิ้นนี้แบ่งเป็น สองขั้นตอน ตอนที่หนึ่ง คือการทำแบบสอบถามนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 ในโรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา นักเรียนปอเนาะดั้งเดิม และเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาที่อยู่ตามหมู่บ้าน คือออกจากโรงเรียนแล้วหรือไม่ได้เรียนในระบบไหนเลย

เธออยากจะรู้ว่าเยาวชนเหล่านี้มีความคิดอย่างไร โดยเลือกทั้งโรงเรียนและปอเนาะขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ที่อยู่ในเมืองและนอกเมืองเป็นกลุ่มตัวอย่าง ในพื้นที่สีแดงตามหมู่บ้านเล็กๆ ก็มี เพราะอยากรู้ว่ามีความแตกต่างอย่างไร “ที่สำคัญคือ ความถี่ของเหตุการณ์ในแต่ละพื้นที่มีความเชื่อมโยงกับความสำนึกที่เข้มข้นมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งต้องหาข้อมูลสถิติเหตุการณ์มาเปรียบเทียบต่อไป”

ในจำนวนแบบสอบถาม 3,500 ชุด เธอต้องคัดเฉพาะที่ตอบเกิน 80% ของคำถามจนเหลือประมาณ 3,400 ชุดแล้วมาวิเคราะห์ว่าสำนึกชาติพันธ์มลายูปาตานีมีบทบาทอยู่ไหมในมุมมองเรื่องอัตลักษณ์ (Identity) และ ความรู้สึกร่วม (Belonging) ของเยาวชนมลายู

วาทกรรมที่เข้าถึงสถานที่หลากหลาย แต่ไม่ใช่ในเมือง

ตอนที่สองของการวิจัย คือการสัมภาษณ์เชิงลึกในพื้นที่ 50 กว่าแห่ง โดยเลือกจากคนที่ตอบแบบสอบถาม 1-2 คนเป็นตัวแทนแล้วมาดูว่าอะไรที่เป็นประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผ่นดิน เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ความรู้สึกของคนที่เกิดและโตมาท่ามกลางความขัดแย้ง มุมมองที่มีต่อภาครัฐ หรือ ฝ่ายขบวนการเอง

เธอบอกว่า การที่คนที่ไม่รู้จักกันแต่พูดประเด็นคล้ายคลึงกันเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก… เพราะที่สัมผัสจะอยู่คนละพื้นที่ในต่างบริบท เช่น เยาวชนเรียนศาสนาในปอเนาะดั่งเดิมพูดถึงประเด็นอารมณ์ความรู้สึกที่เหมือนกับคนที่ที่ไม่ได้เรียนจบอะไรเลยอยู่ในกำปงเล็กๆ … ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์พอสมควรว่าวาทกรรมความรู้สึกเหล่านี้มันเข้าถึงสถานที่และในบริบทที่หลากหลายในพื้นที่

น่านเห็นว่า เยาวชนที่อยู่โรงเรียนรัฐในเมืองจากที่วิเคราะห์เบื้องต้นจะมีความรู้สึกร่วมหรือมีสำนึกร่วมนี้น้อยมากถ้าเทียบกับเยาวชนนอกเมือง ต่อให้จะเป็นโรงเรียนรัฐก็ตาม ความสนใจในประเด็นความไม่สงบก็ถือว่าจำกัดกว่าเยาวชนที่อยู่นอกเมืองด้วย ทั้งที่วิถีชีวิตของเยาวชนในเมืองใกล้ชิดกับการการรับข่าวหรือความรู้สึกร่วมว่าถูกกระทำน่าจะเข้าถึงได้มากกว่า

การรับรู้ข้อมูลที่ต่างกันของเยาวชนในเมืองกับเยาวชนในชนบท

หรือเพราะการถ่ายทอดหรือการส่งต่อข้อมูลความสำนึกร่วมนี้ในเมืองยากกว่าในชนบทหรือเปล่า? เธอตอบว่า น่านเข้าใจว่าการส่งต่อข้อมูลจะผ่านเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่เห็นคือเยาวชนในโรงเรียนรัฐมีความรู้เกี่ยวกับความไม่สงบน้อยมาก เหมือนพวกเขาจะโฟกัสเรื่องเรียนมากกว่า

“คำศัพท์ที่เขาที่ใช้ก็แตกต่างกัน เช่น เมื่อพูดเรื่องขบวนการ เยาวชนในเมืองจะมองว่าเป็นขบวนการก่อการร้าย แต่เยาวชนนอกเมืองจะเรียกว่า ยูแว(นักสู้) มันมีระดับการให้เกียรติคนละอย่างกัน อาจเป็นเพราะความเป็นเมืองเองที่มีผลต่อมุมมองของเยาวชน เช่น พ่อแม่เป็นข้าราชการก็มีบทบาทต่อความคิดของลูก หรืออาจจะเพราะการใกล้ขึ้นกับความเป็นไทยหรือได้รับผลประโยชน์อย่างชัดเจนขององค์ประกอบที่ร่วมสมัยสมัยไทย (Thai Modernity) ก็เป็นอีกปัจจัยหลักที่สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเยาวชนในเมืองหรือนอกเมือง”

พุทธ-มุสลิม ปฏิสัมพันธ์ที่หายไป

เธอบอกถึงสิ่งได้สัมผัสมาว่า พื้นที่นอกเมืองอย่างที่รู้กันว่าในช่วง 10 ปีมานั้นมีการย้ายออกของคนจำนวนมาก แต่ก่อนหน้านั้นเยาวชนมุสลิมที่เรียนในโรงเรียนรัฐนอกเมืองยังได้สัมผัสกับเยาวชนไทยพุทธอยู่หรืออาจเป็นครูพุทธ ทำให้เขาสามารถรู้จักคนไทยพุทธได้ในมิติคนต่อคน มีความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ แต่ทุกวันนี้แทบจะไม่มีความสัมพันธ์เลย ยิ่งในหมู่บ้านเล็กๆ เวลาเราถามเขาว่ามีเพื่อนคนพุทธไหม ส่วนมากก็ตอบว่า ไม่

“เมื่อถามว่าเจอคนไทยพุทธที่ไหน อาจมีบ้างที่ตอบว่า เจอผ่านกันที่ตลาด นี่คือคำตอบที่ได้ยินมา .. แต่มีมุมมองของเขาเกี่ยวกับคนไทยพุทธคือผ่านบทบาทเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเขาเห็นเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานในหมู่บ้าน มาเดินลาดตระเวน อันนั้นคือความเป็นไทย-ความเป็นคนไทยพุทธในมุมมองเขา ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ที่เคยมีในสมัยก่อน ยิ่งพื้นที่นอกเมืองตอนนี้แทบจะไม่มี”

วาทกรรมความเป็นพหุวัฒนธรรม

น่านบอกว่า มุมมองที่เยาวชนมลายูมีต่อความเป็นไทยพุทธยิ่งในระดับกำปงคือผ่านเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ปฏิสัมพันธ์ที่มีจึงค่อนข้างจะจำกัด เพราะช่องว่างของความไว้วางใจมันมี.. องค์ประกอบของความไม่ไว้วางใจที่บางทีก็ผสมผสานไปกับความกลัวก็เกิดขึ้นได้..รากเหง้าของปัญหามาจากความไม่เข้าใจของทั้งสองฝ่าย

“เยาวชนจากหมู่บ้านเล็กๆที่ได้สัมผัส กับคนไทยพุทธทุกวันนี้ก็ต่อเมื่อเวลาผ่านด่านตรวจ..เวลาเจอเจ้าหน้าที่ ความสัมพันธ์ก็อยู่ในกรอบแคบๆของการถกถามของเจ้าหน้าที่ว่า “มาจากไหน” และ “จะไปไหน” หรือบางคนก็ก็เล่าให้ฟังว่ามีการถามว่า “เป็นโจรรึเปล่า?”

“เมื่อถามว่าคนไทยพุทธแตกต่างกับคนมลายูอย่างไร เขาจะบอกเป็นลักษณะที่เรียกในภาษาอังกฤษว่าเป็น Stereotype (การเหมารวมในเชิงเป็นกฎที่ตายตัว) จะยกประเด็นเช่น การกินหมูหรือกินเหล้า แต่พอถามว่ามีเพื่อนไทยพุทธไหม เขาบอกว่าไม่มี ยกเว้นบางคนที่เข้ามาเรียนในเมือง แต่ในบริบทของหมู่บ้านแทบจะไม่มีปฏิสัมพันธ์เลย ช่องว่างของความไม่เข้าใจคนที่ต่างจึงเยอะมากๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า”

แต่เพราะสิ่งที่น่านสัมผัสในการลงพื้นที่เช่นนี้ ทำให้น่านเองสับสนกับวาทกรรมที่เรียกว่า พหุวัฒนธรรม…ใช่พหุ-ความหลากหลาย-มีอยู่ในบริบทเมือง แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่เมืองแต่อยู่ในหมู่บ้านที่มีมุสลิม 100% จึงเข้าใจทำไมถึงมีช่องว่างของความเข้าใจอยู่เยอะ เพราะไม่มีปฏิสัมพันธ์ มันทำให้มีช่องว่างตรงนี้มากขึ้นทวีคูณ.. มุมมองเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บทบาทของรัฐในความขัดแย้งก็ล้วนจะต่างกันไปในต่างกลุ่ม มีช่องว่างในการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันเยอะ เพราะปฏิสัมพันธ์ไม่ค่อยจะมีหรือบางที่อาจจะไม่มีเลย… ซึ่งต่างกับคนรุ่นก่อนที่น่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนไทยพุทธมากกว่าและมีโอกาสการแลกเปลี่ยนมุมมองมากกว่าเยาวชนรุ่นหลังๆนี้

วาทกรรมที่ปกป้องอัตลักษณ์ไม่ให้ถูกกลืน

ตอนแรกน่านสนใจเรื่องอัตลักษณ์ เพราะอยากรู้ว่าทำไมคนในพื้นที่ยังคงเป็นความมลายูอยู่ เมื่อยิ่งเข้าไปสัมผัสทำให้เห็นว่า ในแง่วาทกรรมทางการเมืองมีความสำคัญมากที่ทำให้อัตลักษณ์นี้ยังคงอยู่ได้และไม่ได้ถูกกลืน

น่านบอกว่า วาทกรรมความเป็นมลายูปาตานีมันถือได้ว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบหนึ่งที่มีบทบาทในการยับยั้งหรือไว้ชน (Counter-narrative) กับวาทกรรมความเป็นไทยที่ใหญ่ในบริบทความเป็นชาติสมัยใหม่ (Dominant narrative)

วาทกรรมสำนึกชาตินิยมลายูเองก็ไม่ได้มีแหล่งมาจากขบวนการแต่อย่างเดียว คนทั่วไปที่เห็นด้วยกับวาทกรรมนี้แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำใช้ความรุนแรงของขบวนการก็มี.. แต่สิ่งที่เราต้องยอมรับคือวาทกรรมโต้นี้ก็มีบทบาทที่เกินคุณค่าทางจิตใจที่ลึกซึ้ง (Intrinsic value) แต่ก็มีไว้เพื่อที่จะลดความเร็วที่จะกลืนทางด้านวิถีและอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่จำนวนหนึ่งมองว่าตนเองแตกต่างจากความเป็นสยามไทย

ปาตานี สตูลและความเป็นไทยมุสลิม

เธอบอกว่า หลายคนจะเปรียบเทียบกับสตูลว่า ปาตานีกับสตูลมาเป็นส่วนหนึ่งของสยามไทยในเวลาใกล้เคียงกัน แต่ทำไมที่สตูลทุกวันนี้ ภาษาและวัฒนธรรมมลายูหายไป ทำไมคนสตูลถึงยอมรับความเป็นไทยมุสลิม

“ที่น่านค้นพบผ่านแบบสอบถามสามพันกว่าคนและเกือบร้อยคนที่ได้สัมภาษณ์เชิงลึก จะเห็นได้ชัดว่าในความคิดคนในพื้นที่มันมีความหลากหลายจริง.. ความมลายูไม่ได้เป็นสิ่งที่ตายตัว ไม่ใช่ขาวดำ มีความหลากหลายในเรื่องความคิด บริบทในเมืองและบริบทนอกเมือง…ระบบการศึกษาที่ผ่านมา ประเด็นเชิงปัจเจกก็สำคัญ เช่นบางคนอาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากความไม่สงบหรือบางคนอาจจะใช้ชีวิตเหนือความไม่สงบเลยก็มี แต่ประเด็นภาพกว้างๆที่เราได้ยินอยู่บ่อยครั้งก็คือ ประเด็นที่ในแง่ของวาทกรรมที่คนในพื้นที่ใช้ในการบอกว่าเขาไม่เหมือนคนไทยในที่อื่นๆ”

ถ่ายทอดบอกต่อมากกว่าบ่มเพาะในสถาบัน

น่านบอกว่า ความไม่สงบทำให้วาทกรรมนี้ยังคงอยู่และทวีคูณในความเข้มข้นซึ่ง ส่งผลต่อสำนึกชาตินิยมที่มีท่ามกลางกลุ่มเยาวชนโดยเฉพาะ … เวลาเราอยู่ในพื้นที่แล้วได้ยินเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าเป็นความอยุติธรรมที่มาจากฝ่ายความมั่นคง เราจะสัมผัสได้ถึงเหตุและผลว่าทำไมความคิดเช่นนี้ยังคงมีอยู่… ถามว่าชุดความคิดนี้มาจากไหน จะมีบางส่วนที่กล่าวว่าชุดความคิด/วาทกรรมมาจากแหล่งเดียว.. จากการลงมาสัมผัสในพื้นที่ได้ยินเกี่ยวกับพลังของการ ‘บอกเล่า’ ที่มีผลต่อจุดยืนความเชื่อ… งานวิจัยชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อเรื่องความคิดสำนึกนี้มีความแพร่หลาย ไม่จำเป็นต้องผ่านระบบโครงสร้างที่มีอยู่ เช่นระบบการศึกษา ฯลฯ หลักๆที่ได้ยินก็คือ เป็นการบอกเล่าแลกเปลี่ยนคนสู่คน

“ในอดีตบางคนพยายามพูดว่าปอเนาะเป็นแหล่งบ่มเพาะโจร..ในปัจจบันเป็นความเชื่อของคนจำนวนหนึ่งว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนามาเป็นที่บ่มเพาะโจรแทน.. ข้อกล่าวหานี้น่านไม่เห็นด้วย หนึ่งเพราะความคิดเรื่องอัตลักษณ์มันไม่ได้มาจากโครงสร้างระบบรูปแบบของโรงเรียนแต่อย่างเดียว แต่มันมีความลึกซึ้งมากกว่านั้นซึ่งถ่ายทอดมาจากรุ่นปู่รุ่นย่า จากคนสู่คน… มันมีหลายช่องทางที่จะทำให้เยาวชนในพื้นที่ตระหนักถึงความ แตกต่าง และประเด็นที่สอง มันคือการเหมารวมที่ไม่เป็นธรรมและแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจพื้นที่… ระบบปอเนาะคือระบบการศึกษาแรกๆในพื้นที่…ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับศาสนา ไปกล่าวหาเช่นนี้ถือว่าไม่ให้ความเคารพต่อความเชื่อและวิถีอย่างสิ้นเชิง”

ตัวอย่างกรณีปอเนาะญีฮาด

น่านบอกว่า ในแง่ความรู้สึกร่วมในการมองตัวเองเป็นเหยื่อในพื้นที่ขัดแย้ง มีความชัดเจนมาก จากเหตุการณ์ใหญ่ๆเช่น ตากใบ…สู่เหตุการณ์ที่อาจจะไม่ได้มีผู้สูญเสียในจำนวนมากๆแต่เป็นเสมือนแผลต่างจิตใจ เช่น กรณีปอเนาะญีฮาด(โรงเรียนญีฮาดวิทยา อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ที่ถูกศาลสั่งยึดที่ดินโทษฐานที่ใช้สนับสนุนการก่อการร้าย) มีคนไปร่วมงานสมทบทุน(เพื่อซื้อที่ดินแปลงใหม่)จำนวนมากเพราะรู้สึกว่ามีจุดร่วมเดียวกันคือโดนกระทำ

เหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดทุกวันล้วนแต่เพิ่มความเข้มข้นให้สำนึกนี้ …ความขัดแย้งความไม่สงบรวมถึงความอยุติธรรม จะช่วยต่อเติมเพลิงต่อชีวิตวาทกรรมเรื่องสำนึกชาติพันธุ์มลายู ยิ่งถ้าคนในพื้นจำนวนหนึ่งมีความคิดว่าเจ้าหน้าหรือฝ่ายรัฐมีส่วน กับความขัดแย้ง การสร้างความเป็นอื่นในความเป็นรัฐก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เช่นนี้ในระดับรากหญ้า

จำนวนเยาวชนที่สวนทางสถิติประเทศ

น่าน บอกว่า ในระบบการศึกษาของอังกฤษนั้น โชคดีมากที่อาจารย์ที่ปรึกษาให้อิสระในการลงมาดูว่าเราเจออะไรในพื้นที่ แล้วค่อยๆคัดกรองออกมาเป็นประเด็นนี้ โดยเราลงมาด้วยความรู้คร่าวๆ เพื่อมาศึกษาเรื่องเยาวชน ถามว่าทำไมต้องเป็นเยาวชน เพราะ

1.งานวิจัยส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นเยาวชนแต่เน้นความไม่สงบหรือเน้นขบวนการก็มี แต่น้อยคนที่จะโฟกัสถึงคนที่อยู่ภายใต้ความไม่สงบ คนที่อยู่ระหว่างสองฝ่าย คือฝ่ายขบวนการและฝ่ายรัฐ

“คนที่อยู่ตรงกลางคือคนทั่วไป เราอยากรู้ว่าคนทั่วไปอยู่อย่างไรกับ 2 วาทกรรมการอยู่ตรงกลางระหว่างการเมืองในแง่ ความเป็นไทย กับ ความเป็นมลายูปาตานี”

2.เพราะประชากรของ 3 จังหวัดนี้แตกต่างกับที่อื่นของประเทศไทยในแง่ที่ว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ Aging society คือจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าเยาวชน แต่ใน 3 จังหวัดนี้อยู่ในทางกลับกัน เพราะจากสถิติพบว่า มีจำนวนเยาวชนครึ่งหนึ่งของประชากรโดยรวม

เยาวชนคือผู้ชี้ทิศทางสถานการณ์

น่านเคยคุยกับ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ให้ข้อคิดว่า ถ้าดูกราฟประชากรใน 3 จังหวัดนี้จะพบว่ามีฐานประชากรที่มีอายุน้อยกว้าง เมื่อดึงจำนวนออกมาดูพบว่า อันดับ 1, 2, 3 ของจังหวัดที่มีประชากรเยาวชนเยอะที่สุดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส

“แล้วเราจะไม่มองหรือไม่ให้ความสำคัญกับมุมมองเยาวชนเหล่านี้ได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาจะทำให้เราเห็นทิศทางของสถานการณ์หรือความไม่สงบนี้ว่ามันจะไปทางไหนในอนาคต”

ครึ่งหนึ่งของประชากรคือเยาวชน

น่านบอกว่า มุมมองเยาวชนสำคัญมาก เขามองความไม่สงบว่ามีความชอบธรรมไหม เราต้องให้ความสำคัญเพราะเขาคือครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรที่นี่ เช่น จ.ปัตตานีมีประชากร 6 แสนกว่าคน แต่เป็นเยาวชนถึง 3 แสนกว่าคน ตั้งแต่อายุ 0-25 ปี จ.ยะลามีประชากร 493,000 คน เป็นเยาวชนถึง 233,000 คน หรือ 47% ของประชากรทั้งหมด นี่จึงตอบโจทย์ว่าทำไมจึงสนใจเยาวชน

“ในอีกแง่หนึ่งคือ ในช่วง 5 ปีให้หลังมีคนที่มองว่ากลุ่มเยาวชนที่ทำงานองค์กร เช่น กลุ่ม PerMAS เปอร์มัสถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายการเมืองของขบวนการ น่าคิดว่าทำไมรัฐจึงระแวงเยาวชนเหล่านี้ ทำไมจึงโยงนักศึกษาเหล่านี้กับขบวนการ แต่น่านมองกลุ่มนี้เป็นส่วนเล็กๆของงานวิจัยนี้เท่านั้นเพราะน่านเน้นเยาวชนทั่วไป แต่ก็จะเขียนถึงการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมเหล่านี้ด้วยในบริบทเมืองกับชนบท แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตามกลุ่มนี้ทั้งหมด เพราะบางโรงเรียนนักกิจกรรมกลุ่มนี้ก็เข้าไม่ถึง”

มิตรภาพที่สร้างก่อนทำงานวิจัย

น่านบอกว่า มาใช้เวลาในพื้นที่นานมากเพราะมาอยู่กับคนในพื้นที่ก่อน เช่น น่านเป็นที่ปรึกษาให้สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี ไปคุยเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างไร การเก็บข้อมูลอย่างไร บอกตรงๆว่าน่านไม่สามารถทำวิจัยนี้ได้ถ้าไม่ได้มาปฏิสัมพันธ์กับคนที่นี่ก่อน เพราะเราไม่ใช่มาศึกษาแล้วก็ไป แต่มาสร้างมิตรภาพที่เราก็หวังว่าจะคงต่อไปเรื่อยๆต่อให้ได้ใบปริญญาแล้วก็ตาม

“เรารู้สึกว่างานวิจัยมันทำให้เรามีโอกาสไปลงมาอยู่ในสังคมที่เราไม่รู้จักเลย ต่างทั้งศาสนา ต่างทั้งวัฒนธรรมแต่กลับมาเป็นเพื่อนกัน มีความรู้สึกเป็นพี่น้องกันมาก”

และน่านก็อดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมบางคนที่มาให้สัมภาษณ์หรือร่วมงานกัน ถึงมาเล่าเรื่องให้น่านฟังได้อย่างเปิดใจ ในเมื่อน่านเองก็เป็นคนนอก มาจากกรุงเทพด้วยซ้ำและไม่รู้จักกันมาก่อน แต่เขาพูดได้ลึกมากถึงมุมมองที่มีต่อความไม่สงบ ซึ่งก็ทำให้รู้สึกซาบซึ้งกับการที่เขาไว้ใจเรา จึงต้องทำให้เต็มที่แต่ก็เครียดอยู่เพราะทำให้รู้สึกว่ามีคนคาดหวังกับงานวิจัยชิ้นนี้ว่าเราจะถ่ายทอดออกมาอย่างไร

เยาวชนมองความไม่สงบคือหนึ่งในหลายปัญหา

ปัญหาที่เห็นจากการวิเคราะห์เบื้องต้น คือมุมมองที่เยาวชนมีกับปัญหาทางสังคม คือไม่ใช่ทุกคนที่มองว่าความไม่สงบคือปัญหาหนึ่ง แต่กลับมองเรื่องยาเสพติดเป็นปัญหามากกว่าและเร่งด่วน แต่คนนอกมองว่าเป็นความไม่สงบ แต่ปัญหาอันดับหนึ่งในมุมองของเยาวชนที่นี่คือเยาวชนและเยาวชนติดยาตามหมู่บ้านซึ่งมันเยอะมาก

“บางคนส่วนคำถามกลับมากว่า ทหาร ตำรวจมีเยอะขนาดนี้ ด่านตรวจมีเยอะขนาดนี้ แล้วยาเสพติดมาจากไหน นี่คือความคิดของเขา เราก็ต้องเก็บไว้คิดหนักในการนำเสนอผลวิจัย”

ความจนหรือคือเหตุที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนหรือ?

“คนนอกพื้นที่หลายคนชอบบอกว่า ความจนก็เป็นเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความต้องการแบ่งแยกดินแดน บางคนบอกว่าต้องการเป็นมาเลเซีย ด้วยความที่อยากรู้จริงๆว่าชุดความคิดเหล่านี้มีความเป็นจริงไหม จากมุมมองในพื้นที่ผ่านสายตาความคิดของคนใน…คำตอบที่เราได้คือความลึกซึ้งที่มันมากไปกว่าแง่เศรษฐกิจ”

สีเทาของความหมาย คำว่า Merdeka

ตอนลงมาในพื้นที่ครั้งแรกก็ได้เห็นการพ่นสีตามป้ายบอกริมทางในภาษามลายูอักษรยาวีบ้าง…รูมีบ้าง…ในภาษาไทยบ้าง ก็ได้มารู้ภายหลังว่า คำว่า Merdeka หมายถึง เอกราช สำหรับการลงไปสัมภาษณ์เชิงลึกและที่ทำวิจัยเกี่ยวกับความเข้าใจความหมายหรือรูปแบบของคำนี้ จะเห็นได้ชัดว่า มันยังมีความ ‘เทา’ อยู่มากในมุมมองของคนในพื้นที่

ในพื้นที่ๆมีความขัดแย้งในรูปแบบของการใช้ความรุนแรงและความขัดแย้งที่เรามองว่ามันลึกซึ้งไปกว่านั้นก็คือความขัดแย้งเชิงความคิด การกระทำของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมีบทบาทมากกับการเสริมสร้างชุดความคิดเรื่อง Merdeka เวลามีเหตุการณ์ในพื้นที่ๆชาวบ้านมองว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ คำนี้จะมีความสวยงาม น่าแสวงหาขึ้นมาทวีคูณ แต่ถ้าหากเวลามีเหตุการณ์ที่เป็นการกระทำที่ชาวบ้านมองว่าไร้ซึ่งมนุษย์ธรรมจากฝ่ายขบวนการ คนในพื้นที่ก็จะรู้สึกไม่แน่นอนกับความหมายของคำนี้ …

“เขาไม่สามารถพูดได้ว่าระบบการปกครองเป็นอย่างไร แต่ด้วยวาทกรรมชาตินิยมโต้ที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของความเป็นชาติและเน้นการให้ศักดิ์ศรีของผู้ร่วมชาตินั้น มันยิ่งทำให้ให้คำนี้มีดูว่าดีกว่าระบบที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน… ที่ชัดเจนคือยิ่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ด้วยแล้วก็ยิ่งมีความรู้สึกร่วมของการเป็นเหยื่อ คำนี้ยิ่งดูดีมากขึ้น ดูน่าไปให้ถึง น่าค้นคว้า”

ความรู้สึกร่วมของการเป็นเหยื่อจะไม่มีได้อย่างไรในปัญหาที่เรื้อรังมาเป็นทศวรรษ?

อีกประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนคือผลกระทบไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือทางอ้อมของความไม่สงบที่มีต่อคนทั่วไปในพื้นที่…ยิ่งในบริบทนอกเมืองจะเห็นได้ชัดเลยว่าเยาวชนมลายูเหล่านี้อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงเช่น เคยโดนค้น โดนหมายจับ โดนจับกุม หรือ หากไม่ได้เจอกับตนเองก็รู้จักคนที่เคยเจอเรื่องราวแบบนี้..เช่นคนในครอบครัว พี่น้อง หรือคนรู้จัก ประสบการณ์เหล่านี้ล้วนที่จะแสดงให้เห็น บทบาทของ “ความรู้สึกร่วมของการเป็นผู้ที่โดนกระทำ/เหยื่อ” และพลังของ “ความทรงจำร่วม” ที่มีต่อการเสริมสร้างทั้งวาทกรรมทางการเมืองและสำนึกชาตินิยมมลายูปาตานีในปัจจุบัน

ในแง่ของแบบสอบถาม..น่านมี 17 หน้าซึ่งเยอะเกิน… เราลงไปทำเอง ถ้าคนตอบไม่ถึง 80% ก็ใช้ไม่ได้ เรามีทีมงานที่ถามภาษามลายูได้ เชื่อไหมว่าที่บาลัย(อาคารละหมาด)ของบางปอเนาะแห่งหนึ่ง โต๊ะครูให้น่านอ่านคำถามให้โต๊ะปาเก(นักเรียน)ฟัง (เพราะไม่เข้าใจภาษาไทย) นึกภาพแล้วยังรู้สึกตลกที่มีโต๊ะปาเกนั่งรอบๆ คนที่รู้ว่าไม่ใช่มุสลิม สุดท้ายเขาก็มาพูดกับน่านว่าขอให้พระเจ้าให้ฮีดายะห์(ทางนำ)ด้วย (ยิ้ม) ความรู้สึกมันคนละอย่างกันเลยในแต่ละที่ที่ลงไป…การที่ได้ทำวิจัยแบบลุยๆเองในพื้นที่จึงมีเสน่ห์มาก ถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตเลยก็ว่าได้

วัฒนธรรมมลายูไม่มีอะไรขาวดำ

“งานวิจัยนี้ไม่ได้แตะเพียงประเด็นระบบการศึกษาแต่มันมีประเด็นสถานการณ์ด้วย เพราะมันคือหัวใจหลักของมุมมองรวมที่รู้สึกว่าตนเองเป็นเหยื่อในความขัดแย้งเชิงกลุ่ม คนจำนวนหนึ่งมีความรู้สึกร่วมว่าตัวเองโดนกระทำ จึงหนุนเสริมกับวาทกรรมเชิงชาตินิยมที่ตีกรอบความแตกต่างระหว่างความเป็นมลายูปาตานีกับความเป็นไทย”

ในช่วงที่น่านลงมาก็มีแคมเปญต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งชุดมลายู การสวมชุดกูรง มันก็ทำให้น่านตั้งคำถามเยอะขึ้น เพราะตอนช่วงหลังๆ หลังยุค Islamic Revivalism ก็มีการเอาวัฒนธรรมอาหรับเข้ามานี่แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมลายูด้วย เช่น เมื่อก่อนผู้หญิงไม่คลุมหัวตอนนี้คลุมมิดชิดกว่าเดิม นี่ก็คือความเป็นมลายู ไม่มีอะไรขาวดำ ความเทามันก็มีอยู่มาก เพราะวัฒนธรรมเป็นประเด็นที่ไม่ได้คงนิ่ง (static) แต่ก็รับผลกระทบตามบริบทของการเปลี่ยนแปลงด้วย

เป็นพื้นฐานทำความเข้าใจความไม่สงบและกระบวนการสันติภาพ

แม้งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้เสนอทางออกไว้ แต่ตัวงานวิจัยเองจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างนั้น เธอบอกว่า มันสามารถทำให้เราเข้าใจได้ในระดับหนึ่งว่าคนที่นี่ให้คุณค่ากับความรู้สึกร่วม (Belonging) และ อัตลักษณ์ (Identity) มากน้อยเพียงใด มีความคิดที่แตกต่างกับคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้อย่างไร และความคิดสำนึกที่ก่อเกิดจากการเมืองเชิงวาทกรรมมีความเข้มข้นมากน้อยเพียงใดในปัจจุบัน

“การเข้าใจตรงนี้เป็นพื้นฐานที่จะทำความเข้าใจความไม่สงบว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น วิธีการแก้ปัญหาก็ต้องมีความคิดเรื่องพวกนี้ ต้องให้คุณค่ากับความคิดเห็นของคนเหล่านี้ เพราะต้องมีการเปิดพื้นที่ให้คนสื่อความคิดของตน…ต่อให้มันจะขัดชุดความคิดหลักของชาตินิยม (Dominant nationalist narrative) ก็ตาม”

“เรามีการเจรจาสันติภาพในระดับบนตอนนี้ คนที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่ายที่เจรจากันก็คือคนที่จะชี้ให้เห็นทิศทางของกระบวนการสันติภาพได้”

ความไม่สงบทำให้ชาตินิยมของที่นี่ยังคงอยู่

น่าน บอกว่า ความไม่สงบก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ชาตินิยมของที่นี่ยังคงเข้มข้นอยู่มาก ถ้าไม่มีความไม่สงบใครจะไปรู้ว่าคนที่นี่อาจยอมรับความเป็นไทยมุสลิมไปแล้วก็ได้เหมือนในพื้นที่อื่นๆ

“ในบริบทของความไม่สงบ มีวาทกรรมที่ผลิตอยู่เรื่อยๆว่า คนในพื้นที่มีแตกต่างกับความเป็นไทยอย่างไร แล้วเขาต้องพยายามคงเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ ภาษา ปกป้องระบบโครงสร้างตาดีกา ปอเนาะดั้งเดิม ไว้ยังไง… การร่วมมือของคนเหล่านี้ที่ทำให้อัตลักษณ์นี้ยังคงมีความหมาย มีคุณค่าทางจิตใจของคนที่นี่”

“ความต้องเหมือนมันเป็นปัญหา จึงมีวาทกรรมชาตินิยมที่ชนกันอย่างรุนแรง บางคนบอกว่า น่านยอมรับได้อย่างไรกับความสุดโต่งของความเป็นมลายู..ความสุดโต่งในแง่ชาตินิยมของฝ่ายใดไม่ใช่สิ่งที่น่านยอมรับ เพราะผลรับมันก็จำกัดการพัฒนาเชิงความคิดของคน ตีกรอบจำกัดให้คนเหมือนกัน เราก็เห็นได้จากผลผลิตของความสุดโต่งของความเป็นไทย… แต่ในฐานะนักวิจัย เรามาเพื่อที่ทำความเข้าใจในความแตกต่าง… ทำความเข้าใจการเมืองของวาทกรรมชาตินิยมและผลกระทบที่มีต่อคนทั่วไปยังไง… หากเราไม่เข้าใจซึ่งความแตกต่างของกันและกัน…จะมีแววของสันติภาพให้เราเห็นได้อย่างไร”

ทำไม ทำไม ทำไม

เธอบอกว่า มีคนถามน่านว่ามาอยู่ที่นี่ได้ยังไงเพราะคนในพื้นที่ต่างกับเรามาก ทั้งความคิด วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ แต่เป็นเพราะเราไม่ได้มาเพื่อจะมายัดเยียดความคิดของเรา..แต่มาเปิดใจ เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่างโดยที่ไม่คิดว่าจะต้องไปตัดสินเขา… การเปิดใจกว้างเพื่อทำความเข้าใจได้มากขึ้น

ความตั้งใจแรกที่เลือกลงมาที่นี่

เธอเล่าถึงความตั้งใจแรกที่มาที่นี่ว่า เพราะยังไม่มีใครให้คำตอบได้ ตอนเริ่มเรียนปริญญาเอกอายุ 23 ปี เรายังมองมุมแคบอยู่ว่า คนที่นี่ไม่เอาอัตลักษณ์ความเป็นไทย แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่อย่างนั้น มันมีความกลายไปในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีอะไรที่ขาว-ดำ คนเรามีอัตลักษณ์หลายมิติ ความหลากหลายทางความคิดมีอยู่แล้ว แล้วจะทำอย่างไรกับความหลากหลายนี้ เราต้องทำความเข้าใจให้ได้

เหตุผลที่สองคือ ถ้าน่านไม่มีโอกาสได้ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ พ่อแม่ไม่ให้มาแน่นอนเพราะท่านเป็นห่วงมากกับการลงมาอยู่ที่นี่ แต่เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาอยากให้เรียนต่อปริญญาเอก จึงอยากทำวิทยานิพนธ์ในประเด็นนี้ซึ่งเป็นข้อข้องใจมานานแล้ว

ข้อข้องใจนี้มีมาตั้งแต่เยาวชน

ถามว่าข้อข้องใจนี้มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เธอตอบว่า เริ่มมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนนานาชาติ NIST ที่กรุงเทพมหานคร…เพราะได้ยินข่าวเรื่องความไม่สงบบ่อยๆ แต่ก็ไม่ได้มีความรู้อะไรถึงรากของปัญหาเลย เพราะความสงสัยเลยเป็นแรงผลักดันในมาให้พื้นที่ในที่สุด

เธอเล่าต่อไปว่า เวลาน่านลงพื้นที่ปอเนาะก็คลุมหัว เวลาไปคุยกับบาบอ(โต๊ะครูเจ้าของปอเนาะ)ก็ต้องให้เกียรติสถานที่ ให้เกียรติคนที่เขาอยู่ตรงนั้น ทีมงานน่านมีทั้งผู้หญิงกับผู้ชายมลายู จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เวลาลงพื้นที่ก็ต้องแต่งตัวให้เหมาะสมต่อบริบทซึ่งก็เป็นเรื่องที่ปกติ

แต่ก็โดนเพจหนึ่งเอารูปน่านที่คลุมหัวตอนลงพื้นที่ปอเนาะมาตัดต่อกับภาพตอนอยู่บ้านเล่นกับหมาแล้วบอกว่าผู้หญิงคนนี้เป็นมุสลิมะห์เรียนสูงแต่โดนผู้ชายใน 3 จังหวัดกดขี่ให้คลุมหัว เราลงพื้นที่มาทำวิจัย ไม่รู้ว่าทำไมต้องทำอย่างนั้นด้วย… แต่ก็คิดว่าไม่เป็นไรเพราะเรารู้ว่าเรามาทำอะไรในพื้นที่แห่งนี้ ไม่ได้คิดมาเป็นศัตรูกับใคร…

จบแล้วอยากทำงานอะไร

แน่นอนเธอต้องตอบว่า “อยากกลับมาที่นี่ อยากมาทำงานองค์กรทำงานภาคประชาสังคม เพราะจากที่ได้สัมผัสในพื้นที่แล้ว เวลาลงพื้นที่ได้ไปมีส่วนร่วมในการช่วยคน มันเป็นความรู้สึกดีที่เกินคำบรรยาย..ในสอง-สามปีที่ผ่านมา ถ้าไม่ได้มีคนในพื้นที่เปิดรับน่านเข้ามา น่านก็ไม่มีวันทำงานได้อย่างที่ทำไป… บางคนก็ดูแลกันเชิงพี่น้อง คอยให้ความช่วยเหลือเสมอต้นเสมอปลาย งานชิ้นนี้ไม่มีทางเป็นได้ ถ้าไม่มีทุกคนที่ผ่านเส้นทางมาร่วมทางเดินด้วยกัน..”


You must be logged in to post a comment Login