- ปีดับคนดังPosted 5 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ภัยไซเบอร์คุกคามโลก! / โดย ณ สันมหาพล
คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล
กองทัพบกไทยเปิดศูนย์ไซเบอร์เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันเดียวกับเครื่องบินรบ Chengdu J-20 แบบล่องหนของจีนเริ่มผลิต ซึ่งถูกจับตามองตั้งแต่จีนประกาศว่าจะสร้าง เนื่องจากมีการกล่าวหาว่าจีนเจาะฐานข้อมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐเมื่อปี 2552 คือเครื่องบิน Lockheed Martin F-35 Lightning II
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สเตือนให้โลกระวังภัยความมั่นคงในการล้วงความลับและการทำลายระบบคอมพิวเตอร์จากประเทศคู่อริ ขณะที่ Philip Hammond รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ กล่าวปราศรัยเตือนประชาชนให้ระวังการโจมตีทางไซเบอร์จากต่างชาติ โดยเฉพาะการคุกคามท่าอากาศยานและโรงไฟฟ้า ทั้งระบุว่า National Cyber Security Strategy หรือยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงทางไซเบอร์มีความสำคัญอย่างมากในขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษต้องเตรียมพร้อมที่จะตอบโต้ได้ทันทีหากถูกโจมตี
การกล่าวเตือนของ Hammond ถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลอังกฤษต้องนำงบประมาณ 1,900 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 81,000 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ อีกทั้งยังกล่าวในงาน Microsoft Future Decoded ว่าจะทำอะไรในอนาคต
ก่อนหน้านี้ Andrew Parker อธิบดีข่าวกรองของอังกฤษ (Military Intelligence, Section 5-MI5) ให้สัมภาษณ์เดอะ การ์เดียน ถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์จากรัสเซียว่า ขณะนี้รัสเซียกำลังพัฒนาการใช้อาวุธทางไซเบอร์เพื่อเจาะความมั่นคงประเทศที่ไม่เป็นมิตรทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ การจารกรรม การบ่อนทำลาย จนถึงการโจมตี
การกล่าวหาของ MI5 ทำให้ Dmitry Peskov โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ต้องออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง และเรียกร้องให้นำหลักฐานที่ชัดเจนมาแสดง
เช่นเดียวกับการเฝ้าระวังก็ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ซึ่งยุทธศาสตร์ของอังกฤษแตกต่างจากหลายประเทศคือ ดึงกองบัญชาการตำรวจตามเมืองและนครต่างๆให้ทำงานร่วมกับสำนักงานการสื่อสารของรัฐบาล (GCHQ) ที่รับผิดชอบข่าวกรองทางไซเบอร์ทั้งการป้องกันและตอบโต้ได้ในทันที
งบประมาณก้อนใหญ่ถูกใช้เพื่อป้องกันภัยทางไซเบอร์จนถึงปี 2563 โดยร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาระบบอัตโนมัติในการตรวจจับโปรแกรมที่รบกวนคอมพิวเตอร์ และที่กำลังพัฒนาอยู่คือ ระบบอัตโนมัติที่สามารถระบุที่มาของอีเมล์ที่ส่งกันไปมา อีกทั้งยังตรวจจับการใช้อีเมล์รณรงค์ให้คนอังกฤษโกงภาษีที่กำลังระบาดอยู่ขณะนี้
สำหรับการพัฒนาขั้นต่อไปคือ ว่าจ้างผู้ชำนาญการประจำหน่วยอาชญากรรมไซเบอร์ของสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติประมาณ 50 คน เน้นการต่อสู้กับกลุ่มนักเจาะฐานข้อมูลสมัครเล่นที่ต้องใช้ทั้งเงินและเวลามากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและกลุ่มที่ต้องการอวดฝีมือ
รัฐบาลอังกฤษยังเตรียมก่อตั้ง Cyber Security Research Institute สถาบันวิจัยทางไซเบอร์ที่เป็นเครือข่ายออนไลน์ของมหาวิทยาลัยในอังกฤษร่วมทำงานแบบเสมือนจริง โดยต้องการยกระดับการป้องกันภัยเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ทั้งสมาร์ตโฟน แล็ปท็อป และแทบเล็ต
การตื่นตัวเรื่องภัยทางไซเบอร์อาจทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ของไทยร่วมกันตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่อยากพัฒนาความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อป้องกันการคุกคามทางไซเบอร์
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาความมั่นคงทางไซเบอร์มักมีปัญหาในการดำเนินการ หรือล้มลุกคลุกคลานจนไปไม่รอดหากยังไม่สามารถแก้ปัญหาการย้ายหรือเปลี่ยนงานของผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ได้ ซึ่งมีการเปลี่ยนงานบ่อยจนเป็นเรื่องปรกติ
ดังนั้น การใช้งบประมาณเพื่อรักษาผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ไม่ให้ย้ายงานบ่อยๆ
รวมถึงสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความชำนาญงาน จึงถือเป็นเรื่องสำคัญของทุกประเทศในขณะนี้
อังกฤษถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการระมัดระวังภัยทางไซเบอร์ เพราะเป็นประเทศศูนย์กลางการเงินที่สำคัญของโลก แม้จะเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ และเป็นหนึ่งในโลกที่มีนวัตกรรมใหม่ๆเกือบทุกด้าน แต่ก็มีความวิตกกังวลอย่างมากกับภัยทางไซเบอร์
ประเทศไทยต้องตระหนักถึงความปลอดภัยและการป้องกันสงครามทางไซเบอร์ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ไม่ใช่เฉพาะการทหารเท่านั้น
You must be logged in to post a comment Login