วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ถอดความหมายพระราชปณิธาน Challenge & Respond ของ‘Toynbee’ / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On November 14, 2016

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

เราต้องยอมรับว่า Arnold Toynbee เป็นนักคิดทางด้านปรัชญาและประวัติศาสตร์มือหนึ่งของโลก ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันเขามีผลงานที่หลากหลายทั้งหนังสือเล่มและบทความสั้น ตลอดจนคำบรรยายต่างๆ เคยมีคนกล่าวว่า งานเขียนชุด a study of history เป็นงานเขียนที่ทรงคุณค่ามากที่สุด ได้รับการตีพิมพ์เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ระดับคลาสสิกเทียบเท่ากับงานของเพลโต โสเครติส ซึ่งผลงานเหล่านี้ยังสามารถอ้างอิงและอ่านไปได้อีกนับร้อยปีในอนาคต

โดยเฉพาะทฤษฎี challenge and respond ที่อธิบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงชีวิตและวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งศึกษาและสรุปจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของโลกที่เกิดและล่มสลายถึง 23 อารยธรรม ทฤษฎีดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า สังคมและวัฒนธรรมจะต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น บรรดาผู้นำทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่เป็นกระแสครอบงำสังคมจึงจำเป็นต้องสร้างสรรค์ความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาให้สังคมนั้นๆอยู่รอดให้ได้

ถ้าเราหันมาศึกษาประวัติศาสตร์โบราณของไทยก็มีสิ่งที่ใกล้เคียงกันคือ พระคาถาบทเยธัมมา ซึ่งเป็นพระคาถาโบราณที่ปรากฏอยู่บนศิลาจารึกต่างๆ เข้าใจว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัยและรัฐไทยโบราณก่อนหน้านั้น มีความเต็มว่า “เยธัมมาเหตุปัปภวา เตสังโหตุงตถาคโต (อาหะ) เตสัญจโยนิโรโธ เอวังวาทีมหาสมโณ” แปลว่า “ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตได้ตรัสถึงเหตุของธรรมเหล่านั้น เมื่อสิ้นเหตุของธรรมเหล่านั้นจึงดับทุกข์ได้” พระมหาสมณะมีวาทะตรัสสอนเช่นนี้

นี่เป็นการชี้ถึงความไม่เที่ยงและการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งไปสู่เหตุในการแก้ไขปัญหา นั่นคือชีวิตและวัฒนธรรมความเชื่อ เป็นอนิจจังที่ต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

จากทฤษฎี Arnold Toynbee จนถึงพระคาถาบทเยธัมมา ก็สอดคล้องกับภาษาอังกฤษ บางทีก็มีความละเอียดกว่าภาษาไทย เช่นคำว่า opposite และ reverse ที่แปลว่า ตรงกันข้าม แต่เป็นตรงกันข้ามแบบย้อนกลับ เช่น การกรอม้วนเทปกลับที่เดิม คำว่า contary เป็นการตรงกันข้ามที่ขัดแย้งกัน เช่น พระเจ้ากับมาร เป็นต้น อีกคำที่กล่าวถึงในที่นี้คือ converse ซึ่งแปลว่าการผกผันที่ผลอาจจะกลับมาเป็นเหตุได้

เรื่อง converse หรือการผกผันของเหตุและผล สืบเนื่องมาจากพระราชดำรัสคราวหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ว่า “ผลนั้นต้องมาจากเหตุ และเมื่อเหตุได้สร้างผลขึ้นมาแล้ว ผลดังกล่าวก็ย้อนกลับไปเป็นเหตุได้” จะเห็นได้ว่าสาระดังกล่าวนี้สอดคล้องกับแนวความคิด challenge and respond ซึ่งต้องถูก challenge และถูกนำเสนอ เป็นการท้าทายเพื่อให้ชีวิตและวัฒนธรรมดำเนินการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแปลหนังสือเรื่อง “ติโต” บุรุษเหล็กแห่งยูโกสลาเวีย ซึ่งทรงยกย่องว่าเป็นคนธรรมดา เป็นแค่นายทหารลูกทุ่ง แต่สามารถสร้างเอกภาพของบ้านเมืองให้เกิดขึ้นได้บนความแตกแยกเรื่องเชื้อชาติและวัฒนธรรม ถ้าเราย้อนไปในประวัติศาสตร์ ดินแดนบนคาบสมุทรบอลข่านนั้นเป็นที่ตั้งของประเทศหนึ่งก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คือออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งมีหลายสาธารณรัฐและมีความแตกแยกเป็นระยะๆ แต่สามารถนำมารวมกันได้ภายใต้การนำของคนธรรมดาอย่างติโตที่เป็นผู้นำคอมมิวนิสต์

นับว่าแปลกมากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงยกย่องผู้นำคอมมิวนิสต์อย่างติโต ซึ่งคนไทยทั่วไปเข้าใจว่าลัทธิคอมมิวนิสต์คือลัทธิที่ต้องการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ตรงนี้สามารถอธิบายได้ว่า แท้จริงแล้วติโตเป็นคอมมิวนิสต์เพราะชะตากรรมของเขา แต่โดยข้อเท็จจริงเขาเป็น Marxist บริสุทธิ์ กล่าวคือ ไม่ยอมรับการครอบงำของโซเวียต ปฏิเสธความคิดเรื่องระบบนารวมของโซเวียต และปฏิเสธการชี้นำของสตาลิน

ตรงนี้จึงอาจสรุปได้ว่า ติโตคือ Marxian ผู้ดำเนินลัทธิชาตินิยม ดังจะเห็นว่าประเทศยูโกสลาเวียมีความแตกแยกยิ่งกว่าประเทศไทยมากทั้งในแง่เชื้อชาติและวัฒนธรรม แม้กระทั่งปัจจุบันก็ประกอบด้วยหลายสาธารณรัฐคือ มอนเตเนโกร เฮอร์เซโกวีนา สโลวีเนีย เซอร์เบีย บอสเนีย และโคโซโว

ภายหลังโซเวียตล่มสลายและติโตเสียชีวิตก็ยังมีความขัดแย้งจนเกิดสงครามใหญ่กับชาวเซิร์บ ปัญหาโครเอเชีย นับย้อนไปก่อนหน้านั้นยังเกี่ยวข้องกับภูมิภาคมาซิโดเนีย ซึ่งปัจจุบันแตกออกมาเป็นประเทศมาซิโดเนีย โดยก่อนหน้านั้นภูมิภาคมาซิโดเนียมีปัญหาคาบเกี่ยวกับดินแดนของกรีซ และซ้อนทับอยู่กับประเทศบัลแกเรีย รวมถึงเซอร์เบีย

อาจด้วยเหตุผลดังนี้จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงนิยมยกย่องความสามารถของติโต แม้จะมีความคิดเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เป็นลัทธิชาตินิยม จึงอยากจะกล่าวถึงลัทธิชาตินิยม “nationalism” คือแนวคิดเกี่ยวกับตัวตนอัตลักษณ์ใหญ่ที่รวบรวมเอาทุกสถาบันของชาติเข้าด้วยกัน รวมทั้งประชาชน แตกต่างจากลัทธิที่เรียกว่า “ปิตุภูมินิยม” (partioism) ซึ่งเป็นลัทธิรักแผ่นดินบ้านเกิดแบบสุดจิตสุดใจ จนกลายเป็น “ลัทธิคลั่งชาติ” (chauvinism) เพราะเหตุผลตรงนี้ที่เป็นข้อแตกต่างของติโตกับพวกลัทธิคลั่งชาติทั้งหลาย

สำหรับลัทธิ partioism ที่เห็นชัดมากในอดีตคงเป็นสหรัฐอเมริกาช่วงที่ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ หรือชนชาติยิวที่ผูกพันกับแผ่นดินปาเลสไตน์ที่อ้างว่าพระเจ้าประทานให้กับพวกตน

สุดท้ายนี้ผมขอสรุปว่า แนวคิดในพระราชปณิธานนั้นน่าจะเป็นข้อสรุปว่าสังคมไทยต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นสัจธรรมเรื่องชีวิตและวัฒนธรรมความเชื่อ ซึ่งต้องดำเนินไปโดยสันติภายใต้แนวทางที่เรียกว่าสังคมชาตินิยมประชาธิปไตยบนพื้นฐานของสัจธรรมการเปลี่ยนแปลง หรือว่าเมืองไทยเราจะต้องเป็นไปเช่นนี้

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ติโตนายทหารคอมมิวนิสต์ลูกทุ่งผู้สร้างเอกภาพให้กับชาติตามกระบวนการ all harmony และ one unity อาจเป็นติโตอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้


You must be logged in to post a comment Login