วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปตท. แจงปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมัน

On November 14, 2016

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ เผยถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 7-11 พ.ย. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 14-18 พ.ย.59 ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันทุกชนิดราคาปรับตัวลดลง โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันสำเร็จรูปราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลลดลง 2.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่

ปัจจัยลบต่อราคาน้ำมัน
· International Energy Agency (IEA) คาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันดิบโลกอาจจะอยู่ในภาวะอุปทานล้นตลาดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในปี พ.ศ. 2560 หากกลุ่ม OPEC ไม่สามารถร่วมมือลดปริมาณการผลิต ล่าสุดการผลิตน้ำมันดิบของโลกในเดือน ต.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 800,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 97.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากแหล่งที่เริ่มดำเนินการในแคนาดา บราซิล รัสเซียและคาซัคสถาน
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น มาอยู่ที่ 452 แท่น
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 485 ล้านบาร์เรล
· กรมศุลกากรจีนเผยยอดนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน ต.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 1.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 6.80 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 59 อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์คาดว่าปริมาณการนำเข้าช่วงปลายปีจะปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ยในไตรมาสที่ 4/59 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 7.40 – 7.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากความต้องการช่วงเทศกาลและอัตราการกลั่นที่สูงขึ้น
· บริษัทท่อขนส่งน้ำมันดิบในสหรัฐฯ บริเวณแหล่งเก็บน้ำมันดิบใกล้เมือง Cushing, Oklahoma กลับมาเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 59 หลังจากเหตุแผ่นดินไหวความรุนแรง 5 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 59 โดยก่อนหน้า Oil Storage ปิดดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัย (Safety Shutdown) ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อนึ่ง Cushing มีคลังเก็บน้ำมันดิบปริมาณกว่า 60 ล้านบาร์เรลของสหรัฐฯ

ปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมัน
· เลขาธิการ OPEC นาย Mohammed Barkindo เผยกลุ่ม OPEC มีความตั้งใจที่จะลดปริมาณการผลิตตามข้อตกลงในการประชุมที่แอลจีเรีย อย่างไรก็ตาม OPEC จะมีการประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 30 พ.ย. 59 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
· กลุ่มก่อการร้าย The Niger Delta Avengers (NDA) ของไนจีเรียออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการโจมตีท่อขนส่งน้ำมันดิบ Trans-Forcados (400,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Shell เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการโจมตีครั้งที่ 3 ในรอบหนึ่งสัปดาห์
· EIA ปรับลดคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2559 ลง 110,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 8.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี พ.ศ. 2560 ปรับลด 30,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์เดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 8.73 ล้านบาร์เรลต่อวัน

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเนื่องจากความกังวลต่อปริมาณอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รายงาน OPEC ฉบับเดือน พ.ย. 59 เผยตัวเลขปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศ OPEC ในเดือน ต.ค. 59 เพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน 240,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 33.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากไนจีเรีย ลิเบียและอิรัก โดยอิรักผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 90,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 4.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ไนจีเรียและลิเบียผลิตอยู่ที่ 1.63 และ 0.53 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ทั้งนี้หลังจากที่นาย Donald Trump ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และมีนโยบายที่จะทบทวนมาตรการคว่ำบาตรของอิหร่าน ส่งผลให้อิหร่านมีแนวโน้มเร่งการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ล่าสุดในเดือน ต.ค. 59 อิหร่านผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 210,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 3.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับสูงสุดตั้งแต่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร อย่างไรก็ตาม ต้องจับตามองนโยบายพลังงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ว่าจะส่งผลต่อราคาน้ำมันอย่างไร เพราะรายละเอียดนโยบายยังคลุมเครือ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 44.5-47.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI เคลื่อนไหวที่ 43-46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ น้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 41.5-44.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงจากบริษัท Colonial Pipeline แถลงท่อขนส่งน้ำมันเส้นที่ 1 ขนาด 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มกลับมาขนส่งน้ำมันเบนซินจากเมือง Houston รัฐ Taxas ไปยังเมือง Linden รัฐ New Jersey เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 6 พ.ย. 59 ตั้งแต่ปิดดำเนินการเมื่อ 31 ต.ค. 59 จากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ และ Platts รายงานบริษัทผู้กลั่นน้ำมันอิสระในจีน (Independent Refiners) ส่งออกน้ำมันเบนซินปริมาณ 510,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 11 พ.ย. 59 นับเป็นเที่ยวที่ 2 ที่ใช้เรือขนส่งขนาด LR1 ปกติท่าดังกล่าวส่งมอบปริมาณต่ำกว่า 300,000 บาร์เรล ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์บริเวณ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 22.8% มาอยู่ที่ 6.91 ล้านบาร์เรล สูงที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 59 และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.0 % มาอยู่ที่ 9.92 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 70,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.32 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติของออสเตรเลีย (Australia Bureau of Statistics) เผยปริมาณการนำเข้าน้ำมันเบนซินของออสเตรเลียในเดือน ก.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.42 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 3.72 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ FGE รายงานปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. 59 ปรับตัวเพิ่มขึ้น แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยใน 5 เดือนแรกของปีทำสถิติสูงสุดถึง 3 รอบ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56-59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลงจาก Chinese Petroleum Corp. (CPC) ของไต้หวันออกประมูลขายน้ำมันดีเซล ชนิด 0.05 %S และ 0.25 %S แบบ Term ส่งมอบ ม.ค.-มิ.ย. 60 ปริมาณชนิดละ 240,000 บาร์เรลต่อไตรมาส และบริษัท Formosa Petrochemical Corp. (FPC) ของไต้หวันออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.001 %S และ Jet Fuel แบบ Term สำหรับส่งมอบในปี พ.ศ. 2560 ปริมาณชนิดละ 300,000 บาร์เรลต่อไตรมาส ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 570,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.31 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.9% มาอยู่ที่ 9.16 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามสำนักวิจัยด้านพลังงาน Energy Aspects คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลของจีนในช่วงปลายปีจะปรับตัวสูงขึ้น โดยในไตรมาส 4/59 จะอยู่ที่ 3.50- 3.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ Reuters รายงานตลาดน้ำมันดีเซลสำหรับการเดินเรือ Marine Gasoil (MGO) ในจีนคึกคักมากเนื่องจากจีนต้องการใช้เรือบรรทุกจำนวนมาก เพื่อการขนส่งถ่านหินและส่งออกสินค้า กอปรกับอุณหภูมิที่หนาวเย็นทางตอนเหนือของประเทศ นอกจากนั้นสำนักงานอุตุนิยมวิทยา (Weather Bureau) ของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) จะทำให้มีโอกาสที่อากาศจะหนาวเย็นกว่าปกติ ประมาณ 60 % ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 59-ก.พ. 60 อีกทั้ง PJK รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ บริเวณ ARA ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.7% มาอยู่ที่ 22.29 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


You must be logged in to post a comment Login