วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

โศกนาฏกรรมชาวนาไทย / โดย ทีมข่าวการเมือง

On November 14, 2016

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

การผูกคอตายของชาวนาพิจิตรเพราะความเครียดเรื่องราคาข้าวตกต่ำและหนี้สินที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าเป็นช่างแอร์และมีหนี้สินส่วนตัว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับชาวนาเลย ยิ่งทำให้ปัญหาชาวนาและราคาข้าวตกต่ำร้อนระอุยิ่งขึ้น และ พล.ท.สรรเสริญยังวิจารณ์ภาพของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เดินทางไปพบปะชาวนาและซื้อข้าวที่อุบลราชธานีและสุรินทร์ว่า เพื่อโหนกระแสสร้างข่าว สร้างเรื่องราวดราม่า เพื่อหวังกลบหรือบิดเบือนความผิดในอดีตและคดีความที่เป็นอยู่

วาทกรรมของ พล.ท.สรรเสริญไม่ได้แค่ตอกย้ำความอคติและความเกลียดชังเท่านั้น แต่ยังถูกมองว่าเอาปัญหาชาวนาและราคาข้าวตกต่ำมาเป็นเรื่องการเมืองเสียเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ระบุว่า นักการเมืองในพื้นที่ร่วมกับโรงสีบางโรงกำหนดราคาข้าวให้ต่ำลง เพื่อให้เกิดการต่อต้านหรือขัดแย้งกับรัฐบาล

แม้ต่อมาความจริงจะปรากฏว่าคนที่ผูกคอตายเป็นชาวนาตัวจริงที่ผูกคอตายเพราะราคาข้าวที่ตกต่ำและปัญหาหนี้สิน แต่ก็ไม่เคยได้ยิน พล.ท.สรรเสริญกล่าวคำขอโทษต่อครอบครัวชาวนาเลย ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับ พล.ท.สรรเสริญที่มักจะออกมาพูดหรือตอบโต้ประเด็นทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้ อย่างกรณี “ผังล้มเจ้า” ที่กลายเป็น “ผังกำมะลอ” หรือกรณีระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ที่พยายามโยงไปถึงกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งวันนี้ก็ยังไม่สามารถจับผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีได้

ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล หรือ “เต่านา” ซึ่งรู้จักดีในสังคมออนไลน์ว่าพูดตรงและพูดแรง ได้โพสต์ความเห็นเตือนคำพูดของรัฐบาลทหารผ่านเฟซบุ๊ค Taona Sonakul (6 พฤศจิกายน) ว่า “ถ้าไม่ระวังให้ดี การพูดพล่อยๆของคนระดับนายพลคนไหนก็ตามสามารถนำไปสู่สถานการณ์แบบคุณนวมทอง ไพรวัลย์ ได้ไม่ยากนัก ทั้งนี้เพราะคนกำลังลำบากและซึมเศร้ามาก ขอย้ำ ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น ก็พูดดีๆ อย่าเหยียบย่ำน้ำใจเขาไปกว่านี้ เพราะร่างกายพวกเขาแทบจะไปต่อไม่ไหวแล้ว นี่คือความจริงของคนจนไทยในวันนี้

นี่ไม่ใช่วาทกรรมทางการเมือง ขอให้พวกท่านสบายใจได้ว่า ไม่มีใครคิดจะมาล้มหรือสามารถล้มรัฐบาลนี้ได้ แต่ความปากพล่อยของพวกท่านเองนี่แหละ พวกท่านที่มีจะกิน กินดีอยู่ดี วาจาและมุมมองของท่านสามารถฆ่าคนได้อย่างเลือดเย็น”

“ท่านผู้นำตู่” เร่งกู้ศรัทธา

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการช่วยเหลือชาวนาที่กลายเป็นกระแสสังคมขณะนี้จะเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ก็ถือเป็นการช่วยเหลือชาวนาซึ่งเป็นความทุกข์ที่แท้จริง ไม่มีใครปั้นแต่งได้ ปัญหาข้าวราคาตกต่ำโทษใครไม่ได้นอกจากรัฐบาลที่สะดุดกองฟางเอง เพราะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและบริหารประเทศกว่า 3 ปี แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ ไม่ใช่ราคาข้าวที่ตกต่ำเท่านั้น แต่ราคาพืชผลทางการเกษตรอีกหลายชนิดก็มีปัญหา ภาพรวมเศรษฐกิจจึงอยู่ในอาการโคม่า ไม่ว่ารัฐบาลจะออกมาอ้างตัวเลขสวยหรูอย่างไร แต่เศรษฐกิจที่แท้จริงนั้น ประชาชนเกือบทุกอาชีพพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ ไม่เจ๊งก็ล้มละลาย การทำมาหากินทุกอย่างฝืดเคืองไปหมด

พล.อ.ประยุทธ์รู้ดีว่าปัญหาราคาข้าวตกต่ำจะมีผลอย่างไรกับการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล จึงต้องเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ถึง 2 ครั้งติดต่อกันในรอบสัปดาห์ อย่างน้อยก็เห็นถึงความตั้งใจจะแก้ปัญหาของรัฐบาล ไม่ใช่แกว่งปากหาเสี้ยนอย่างลิ่วล้อใกล้ตัว โดย พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่า คิดแก้ปัญหาชาวนามาตลอดตั้งแต่วันแรก 22 พฤษภาคม 2557 ว่าทำอย่างไรชาวนาจะดีขึ้น ซึ่งต้องร่วมมือกัน เพราะการแก้สิ่งที่เกิดมา 20-30 ปีคงแก้ไม่ได้ภายในวันเดียว ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หนี้ชาวนาชาวไร่ ชาวสวน เกษตรกรทั้งหมด ครู ข้าราชการก็มีหนี้กันทั้งนั้น ทั้งหมดจะนำมาสู่การแก้ปัญหาที่ต้นทางคือประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หากจะขายข้าวกันแบบทุกวันนี้ก็ได้ไม่ถึง 5% เว้นแต่จะทำให้ชาวนาเข้มแข็งขึ้น ขณะนี้มีสหกรณ์กว่า 3,000 แห่ง ต้องทำให้เข้มแข็งมากกว่านี้ ต้องเข้าไปฟื้นฟูให้สามารถสีข้าวเอง โดยโรงสีของสหกรณ์การเกษตรร่วมกับโรงสีภาคเอกชนนำไปสู่การบริโภคในประเทศและส่งออก

“มาตรการช่วยเหลือชาวนาทั้งระบบ รัฐบาลได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ชาวนามีจำนวนมาก หากกลุ่มไหนที่รวมกลุ่มแล้วและกลุ่มไหนที่รัฐสามารถเข้าช่วยเหลือได้โดยทันทีก็จะทำให้การแก้ปัญหาเร็วขึ้น ความเดือดร้อนน้อยลง ซึ่งวันนี้ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังพิจารณาเรื่องหนี้สินชาวนาว่าจะทำอย่างไร ต้องมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงเสถียรภาพการเงินการคลังด้วย เพราะเราจะใช้เงินในลักษณะการแก้ปัญหาปลายเหตุ หรือบรรเทาหนี้สินที่มีจำนวนมากในคราวเดียวนั้นทำไม่ได้ จะทำให้อย่างอื่นวุ่นวายไปด้วย แต่ก็เห็นใจพี่น้องชาวนาทุกคน”

การเร่งออกมาตรการจำนำยุ้งฉางเพื่อให้ข้าวหอมมะลิมีราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 11,000 บาท ล่าสุดยังอัดฉีดเม็ดเงิน 18,000 ล้านบาท เพื่ออุ้มข้าวเปลือกเจ้าและข้าวปทุมธานี ถือว่ารัฐบาลตัดกระแสฝนตกไม่ทั่วฟ้าและกระแสการเมือง ซึ่งภาพอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ขายข้าวท่ามกลางประชาชนหลายพันคนนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดา รัฐบาลทหารก็รู้ดีว่ากระแสข้าววันนี้รุนแรงกว่ากระแสน้ำ ยิ่งมีข่าวชาวนาผูกคอตายก็ยิ่งสร้างความกดดันรัฐบาลให้ต้องลดกระแสราคาข้าวตกต่ำให้เร็วที่สุด ไม่ใช่ใช้วาทกรรมเสียดสีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ให้ซื้อข้าวจากชาวนาทั้งหมดมาขาย หรือบ้าจี้ตาม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม พรรคประชาธิปัตย์ ให้ตรวจสอบอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ว่าเป็นผู้นำขบวนการทุบราคาข้าว

คนโง่ไม่ควรเป็นผู้นำ

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค (7 พฤศจิกายน) โดยขึ้นหัวข้อว่า “พาโลอปริณายโก” ซึ่งมีความหมายว่า “คนโง่ไม่ควรเป็นผู้นำ” โดยย้อนคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ว่าราคาข้าวเปลือกตกต่ำเป็นเพราะฝีมือนักการเมืองร่วมกับโรงสีช่วยกันกดราคา และคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.วรงค์ว่า การขายข้าวสาร 10 ตันของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์คือการทุบราคาข้าวนั้น เป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาและระดับจิตใจของผู้พูด ทั้งที่ต้นเหตุที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำเป็นปัจจัยมาจากตลาดโลก ประกอบกับผลผลิตข้าวไทยมีมากเป็นพิเศษ โดยคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีข้าวเปลือกหอมมะลิประมาณ 9-10 ล้านตัน ข้าวเปลือกเจ้าอีกประมาณ 14-15 ล้านตัน นอกจากนี้หลายประเทศในทวีปแอฟริกาที่เคยนำเข้าข้าวจากไทย เช่น ไนจีเรีย ประสบปัญหาราคาน้ำมันดิบตกต่ำ จึงขาดกำลังซื้อ ดังนั้น การขายข้าวสารเพียง 10 ตันจึงไม่ได้มีผลต่อราคาข้าวอย่างที่พยายามบิดเบือน
เมื่อเกิดปัญหาข้าวเปลือกราคาตกต่ำ แทนที่รัฐบาลจะระดมสติปัญญาและสรรพกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาของชาวนา เรากลับเห็นบุคคลในรัฐบาลตั้งแต่ผู้นำจนถึงบรรดาบริวารต่างดาหน้ากันออกมาให้สัมภาษณ์แบบกระแหนะกระแหนอดีตนายกรัฐมนตรีที่ออกไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและช่วยเหลือชาวนา ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลนี้ยังปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน โดยอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยถูกทหารเชิญตัวไปเพื่อปรับทัศนคติกรณีโพสต์เฟซบุ๊คว่าราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ทั้งที่เป็นความจริง ขณะที่โทรทัศน์ช่อง TV24 ถูก กสท. พักการออกอากาศหลังนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว อันเป็นการปิดหูปิดตาประชาชน

การแสดงน้ำใจเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับเพื่อนร่วมโลกเป็นวิธีปฏิบัติของอารยชน การที่ราคาข้าวเปลือกตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี แต่รัฐบาลไม่ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือ จนกระทั่งข้าวออกสู่ตลาดแล้วจึงเพิ่งออกมาตรการแบบเสียไม่ได้และไม่ทั่วถึง ได้สร้างทุกข์อย่างใหญ่หลวงให้กับชาวนา ซึ่งเป็นคนยากจนและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ หลายฝ่ายรวมถึงกองทัพได้แสดงน้ำใจถึงขนาดใส่เครื่องแบบไปช่วยชาวนาเกี่ยวข้าวและช่วยซื้อตามกำลัง แต่ผมไม่ได้ยินคำพูดเชิงกระแหนะกระแหนจากอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ครั้นพอท่านแสดงน้ำใจออกไปเยี่ยมเยียนและช่วยเหลือชาวนาตามกำลังความสามารถกลับถูกตำหนิจากเผด็จการและบริวารว่าเป็นการสร้างภาพ พุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “พาโลอปริณายโก” ยังคงทันสมัยและใช้ได้เสมอ

ข้าว-ชาวนา-การเมือง

ชาวนากับการเมืองไม่ใช่ปัญหาที่ “เกิดง่ายจบเร็ว” เหมือนอย่างปัญหายางพาราซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมืองบางกลุ่มอย่างชัดเจน “ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน” จึงเป็นคำอมตะที่รัฐบาลยุคใดจะละเลยหรือไม่ใส่ใจไม่ได้ อย่างที่อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า

“ความเป็นชาวนานั้นมีลักษณะพิเศษบางอย่าง พวกเขาไม่ใช่แค่เป็น “ชนชั้นกลางแบบหนึ่ง” ที่จะมีจริตและรูปการณ์จิตสำนึกแบบชนชั้นกลางทั่วไป และจะมาจับยัดเอาง่ายๆว่าชาวนาต้องการการเมืองแบบประชาธิปไตยแบบเดียวกับคนชั้นกลาง โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมือง หรือชาวนาควรจะมีสิทธิเข้าถึงประชาธิปไตย เพราะเขาก็เป็นชนชั้นกลางเช่นกัน ในอีกด้านหนึ่งการศึกษาเรื่องชาวนานั้นก็ไม่ได้อธิบายทุกอย่างเป็นเพียงแค่ “คนจน” หรือ “กรรมาชีพ” ที่มีการเคลื่อนไหวและจัดตั้งองค์กรและความใฝ่ฝันทางการเมืองแบบ “กรรมกร” หรือผู้ใช้แรงงาน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรคคอมมิวนิสต์ในอดีตเข้าใจดีว่า ชาวนาเป็นทั้งปัจจัยแห่งความสำเร็จและปัจจัยแห่งความล้มเหลวของการปฏิวัติมวลชนและต่อต้านทุนนิยม ดังนั้น การจัดตั้งชาวนากับการจัดตั้งกรรมกรไม่ได้เป็นเรื่องที่ใช้ตำราเล่มเดียวกันได้ การเคลื่อนไหวของชาวนาที่เป็นแกนสำคัญในการปฏิวัติในจีนไม่ได้ประสบความสำเร็จในไทยก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญ”

คำทำนาย “ฤาษีลิงดำ”

ความอับจนข้นแค้นของชาวนาจึงซับซ้อนกว่าแค่ข้าวราคาตกจะทำอย่างไร ไม่ใช่แค่จะโทษใครและกล่าวหาว่าใครสร้างภาพ ซึ่งมีแต่ลดทอนความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล และอาจเกิดอะไรก็ได้ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านอย่างขณะนี้ อย่างที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เขียนในคอลัมน์ “ประสงค์พูด” โดยยกคำทำนายของ “หลวงพ่อฤาษีลิงดำ” ตอนหนึ่งที่ว่า “จะเข้าสู่ยุคมหาชนพาไป เปลี่ยนเมืองใหม่ศักราชแห่งประชา” คือประชาชนจะออกมาเป็นคนจัดการกับคนชั่วคนไม่ดีออกไปด้วยน้ำมือของประชาชน แม้จะเป็นคำทำนาย แต่ถ้าวิเคราะห์บนพื้นฐานของเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมาตามลำดับ ในอนาคตข้างหน้าก็มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะออกมาเป็นคนจัดการกับปัญหาต่างๆด้วยน้ำมือของประชาชนเองอย่างเต็มรูปแบบ อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่สมัยนี้เป็นประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆของบ้านเมืองดีขึ้น รู้ว่าอำนาจของตนที่มอบให้คนอื่นไปใช้ทำงานแทนตนนั้นได้ถูกใช้ไปอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง หรือเพื่อประโยชน์ใคร

ประชาชนเจ็บปวดมามากกับเรื่องที่ให้อำนาจของตนไปใช้แทนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่กลับไปใช้เพื่อประโยชน์ตนและพรรคพวกมาโดยตลอด แม้กระทั่งการเอาอำนาจของประชาชนไปใช้โดยวิธีการได้มาที่ไม่ถูกต้องก็ตาม ทำไปทำมาก็ยังคงเกิดปัญหายุ่งยากวุ่นวายไม่รู้จักจบจักสิ้นเหมือนเดิมอย่างที่กำลังเห็นกันอยู่ในขณะนี้

ความอยากได้อำนาจ โดยเฉพาะการได้มาที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องตามระบบ หรือแม้จะได้มาอย่างถูกต้องตามระบบก็ตาม ความอยากดังกล่าวนี้สามารถทำให้กลายเป็นคนไม่ดีไปได้ง่ายๆด้วยการดำเนินการต่างๆอันเป็นช่องทางแห่งการได้มาซึ่งอำนาจ หรือการรักษาอำนาจที่ได้มาให้คงอยู่ไม่หายไปไหน เช่น ยอมเป็นหุ่นเชิดให้กับคนชั่วคนเลวในการทำสิ่งต่างๆ หรือคิดอ่านเสนอนั่นเสนอนี่ในการได้อำนาจหรืออยู่ในอำนาจได้ยาวนาน เป็นต้น

ใครก็ตามที่มีคนอย่างนี้ร่วมงานหรือใช้งาน แม้กระทั่งอาสาเข้ามาช่วยโน่นช่วยนี่ก็ตาม ถ้าเออออห่อหมกตามไปด้วยโดยไม่คิดให้ดีแล้ว เจ๊งทุกราย จะต้องเสื่อมลงและหมดค่าลงไปเรื่อยๆ ชีวิตบั้นปลายที่เหลืออยู่จะมีแต่ความสูญเปล่า จะกลายเป็นชีวิตที่ไม่ผิดอะไรกับวิญญาณพเนจร อดีตที่เคยรุ่งโรจน์ก็จะต้องดับวูบ ต้องมัวหมอง และต้องกลายเป็นคนไม่ดี ถูกด่าถูกว่าจากทุกสารทิศตามไปด้วย จะโทษใครไม่ได้ นอกจากโทษตัวเอง และรีบแก้ไขทั้งสายตาและหูของตนที่ต้องเปิดกว้างให้มากขึ้น เพราะตาที่เปิดกว้างจะทำให้เห็นถึงทิศทางของคนประจบสอพลอ หรือจากผู้ท้วงติงอย่างมีเหตุผล

ขณะที่หูที่เปิดกว้างนั้นจะรับเสียงได้ทุกทิศทุกทาง จะลงจากอำนาจในครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัยก็เพราะรู้จักใช้หูและตาของตนให้ถูกต้องเท่านั้น ไม่เชื่อก็ขอให้อ่านคำทำนายของหลวงพ่อฤาษีลิงดำข้างต้นนี้อีกครั้งก็แล้วกันว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น

“…เมื่อถึงปลายรัชกาลผ่านเข้ามา…แผ่นดินแตกแยกเป็นสองปกครองยาก เกิดวิบากทุกข์เข็ญระส่ำระสาย เกิดการปราบจลาจลชนล้มตาย เลือดเป็นสายน้ำตานองสองแผ่นดิน…”

โศกนาฏกรรมชาวนาไทย

การปรับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์กับราคาข้าวที่ตกต่ำโดยไม่แสดงอาการฉุนเฉียวตอบโต้ทันทีทันใดเหมือนที่ผ่านมาและยังยินดีที่ทุกฝ่ายตื่นตัวร่วมกันช่วยชาวนา สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าปัญหาชาวนานั้นละเอียดอ่อนอย่างไร ยิ่งช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลและผ่านพ้นช่วงการเปลี่ยนผ่านสำคัญมาแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็รู้ดีว่าปัญหาต่างๆที่เรื้อรังและหมักหมมจะประดังเข้าใส่รัฐบาลและ คสช. แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ซึ่งทุกปัญหาล้วนเกี่ยวข้องกับอนาคตทางการเมืองของ คสช. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับปัญหาชาวนาที่อาจจะปะทุเป็น “ม็อบชาวนา” ได้ตลอดเวลา หากการแก้ปัญหาไม่ต่อเนื่อง หรือลักปิดลักเปิด หรือยังมองการเมืองแบบเดิมๆ ปล่อยให้ลิ่วล้อออกมาสร้างความขัดแย้ง หรือบิดเบือนความจริง อย่างเรื่องชาวนาผูกคอตาย ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง

รัฐบาลและ คสช. ตระหนักดีว่า สถานการณ์วันนี้แตกต่างจากอดีตอย่างมาก แม้ยังมีกองทัพสนับสนุนเต็มที่ก็ตาม แต่ปัญหาต่างๆที่สะสมและกดดันประชาชนก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆหากรัฐบาลใช้อำนาจแก้ปัญหาแค่ให้ผ่านไปวันๆ แทนที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งประชาชนทั้งคนชั้นกลาง เกษตรกร และกรรมกร วันนี้กำลังเดือดร้อนอย่างมาก เมื่อคนตกงานและไม่มีจะกิน อะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะปัญหาชาวไร่ชาวนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์รู้ดีว่าต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและเกษตรกร ไม่ใช่สร้างศัตรู หรือเดินตามเกมนักการเมืองบางคนที่พยายามเสี้ยมเพื่อใช้รัฐบาลและ คสช. กำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้เกิดความปรองดองและตอกย้ำความยุติธรรมสองมาตรฐานแล้ว ยังเป็นการทำร้ายชาวนาอย่างเลือดเย็นอีกด้วย

ศักดิ์ศรีความเป็นคน

คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ว่าจะแก้ปัญหาชาวนาให้ได้ภายใน 5 ปี ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ถ้าทำได้จริงอย่างที่พูดย่อมมีแต่คนสนับสนุนให้อยู่ในอำนาจ แต่วันนี้มีคำถามว่า กว่า 3 ปีที่ผ่านมานั้นรัฐบาลทำอะไรสำเร็จตามที่ประกาศบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความปรองดองหรือปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้บ้านเมืองสงบเงียบก็เป็นความกลัว ไม่ใช่ประชาชนพอใจการแก้ปัญหาของรัฐบาล

ปัญหาของชาวนาเป็นหนึ่งในปัญหาที่ปะทุขึ้นและไม่จบง่ายๆ เพราะชาวนาเป็นกลุ่มคนใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำงานหนักที่สุดและจนที่สุด แม้จะยกย่องเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” แต่กลับมีคนจำนวนไม่น้อยมองชาวนาอย่างดูถูกว่า “โง่-จน-เจ็บ” ชาวนาจึงไม่ควรมีสิทธิทางการเมืองเท่ากับคนที่มีการศึกษาอย่างคนชั้นกลางและชั้นสูงในกรุงเทพฯ ทั้งที่ชาวนาก็คือคนเหมือนกัน และมีสิทธิความเป็นคนเหมือนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตจริงหรือตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

วันนี้แม้โลกจะก้าวไปไกลแค่ไหนแล้วก็ตาม แต่ระบบเจ้าขุนมูลนาย ระบบศักดินาแบบไทยๆ ก็ยังฝังลึกในสังคมไทย โดยเฉพาะในระบบราชการและวัฒนธรรมประเพณีต่างๆที่อุปโลกน์ให้ผิดเพี้ยนไปจากหลักศาสนาพุทธ จึงไม่แปลกที่เห็นรัฐมนตรี นายตำรวจ นายทหาร และบรรดาข้าราชการระดับสูง กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องมีบริวารล้อมหน้าล้อมหลัง จะเดินทางไปไหนก็ต้องมีการเกณฑ์ผู้คนมาต้อนรับ ยกย่องสรรเสริญและสร้างภาพต่างๆนานา เมื่อเกิดปัญหาชาวนาก็ดราม่ากันสร้างภาพเพื่อให้เป็นข่าว แต่งเครื่องแบบเต็มยศเกี่ยวข้าวกลางทุ่งนาที่ร้อนระอุ ถ่ายภาพพร้อมแผ่นป้ายอวดอ้างสรรพคุณความดี เพื่อเอาไปโพสต์ตามสื่อสังคมออนไลน์หรือออกข่าวตามสื่อต่างๆ

ขณะที่ชาวนาและเกษตรกรที่ยากจนยังคงต้อง “กราบ” อ้อนวอนท่านผู้นำดั่งการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ข้าราชการที่มีหน้าที่รับใช้ประชาชนก็ผันตัวไปรับใช้เจ้านายเพื่อความก้าวหน้ามั่นคงของตนมากกว่าคนยากไร้ ระบอบประชาธิปไตยที่สร้างให้ประชาชนเป็นใหญ่ ให้ชาวนาปลดหนี้สิน ได้ลืมตาอ้าปาก ได้ส่งลูกหลานเรียนต่อชั้นสูงๆเพื่อกลับมาเป็นชาวนาที่ยกระดับชนชั้นทางเศรษฐกิจได้ จึงถูกตัดตอนทำลายจนไม่อาจยั่งยืนเท่าระบอบคนดีที่ฟ้าประทานมาให้ “กราบ” ในทุกฤดูกาลเก็บเกี่ยว

ชาวนาจึงเป็นแค่สัญลักษณ์ให้ชาวเมืองไว้ไปเซลฟี่วิถีชีวิต “โง่-จน-เจ็บ” เหมือนไปพักผ่อนดูละคร ดราม่าสัมผัส “โศกนาฏกรรมชาวนา” ที่ถูกระบอบศักดินาอนุรักษ์ไว้เพื่อตอกย้ำความแตกต่างทางชนชั้น ทั้งที่แท้จริงชาวนาก็คือคนที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนทุกคน

เมื่อคนเห็นคนไม่ใช่คน นึกอยากจะกระชากคอเสื้อใครให้มา “กราบ” อย่างลืมตน.. วันนั้นคงมีผลไม่ต่างอะไรกับปฏิกิริยาสะท้อนกลับ.. #กราบรถกู!!??


You must be logged in to post a comment Login