วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปตท.-กรมป่าไม้-ม.เกษตร ร่วมพัฒนาคุ้งบางกะเจ้า

On November 16, 2016

นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้  นายจงรักษ์ วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือโครงการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ  ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานโครงการรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์คุ้งบางกะเจ้าของ ปตท. โดยมี นายลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้เกียรติเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนาม

นายเทวินทร์ เปิดเผยว่า นับเป็นความท้าทายภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่พื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปตท. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สีเขียวของคุ้งบางกะเจ้า ประกอบด้วย 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลบางกะเจ้า ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางกอบัว ตำบลบางกระสอบ ตำบลบางยอ และตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวผืนสุดท้ายของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งต้องการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์วิถีชุมชนดั้งเดิมตามแนวพระราชดำริ และเป็นต้นแบบการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้แนวยุทธศาสตร์การพัฒนาของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยกำหนดการดำเนินโครงการรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์คุ้งบางกะเจ้า ในระยะแรก 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2561

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ปตท.พร้อมสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ 38 ไร่  ซึ่งจะมีการปลูกต้นไม้เสริม และปลูกพืชผสมผสานแบบมิยาวากิ โดยร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คัดเลือกพันธุ์พืชในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่น   เช่น ตะเคียนทอง ยางนา ไข่เขียว มะกอกน้ำ กระเบาใบใหญ่ ไทร กร่าง กันเกรา มะพลับ อินทนิล เป็นต้น และจัดทำแปลงสร้างป่าสร้างรายได้  ปลูกไม้ผลและต้นไม้เศรษฐกิจ เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ ละมุด มังคุด ขิง ข่า สมุนไพร ที่สามารถใช้เป็นต้นแบบ การปลูกต้นไม้ให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของชุมชนในพื้นที่  คาดว่าภายหลังจากการพัฒนาพื้นที่แล้ว จะทำให้มีพื้นที่สีเขียวจะเพิ่มขึ้นประมาณ 14 % (5.24ไร่) และมีชนิดพันธุ์ไม้ดั้งเดิมเพิ่มขึ้น 170% (จากเดิม 85 ชนิด เพิ่มขึ้นเป็น 230 ชนิด) จำนวนไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้น 344% (จากเดิม 3618 ต้น เป็น 16068 ต้น)  นอกจากนี้ ปตท.ยังจะสนับสนุนการศึกษาและวางแผนปรับปรุงระบบการไหลเวียนของน้ำในพื้นที่ การศึกษาวิจัยป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโดยสร้างแนวไม้ไผ่ กันคลื่น เพื่อให้เกิดการสะสมของดินเลนงอกใหม่ ฟื้นฟูป่าชายเลน และบริหารจัดการพื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดงแห่งนี้ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านพันธุ์พืชในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

ทั้งนี้ กรมป่าไม้จะสนับสนุนพื้นที่เพื่อดำเนินงาน  ควบคุม และติดตามผลการปลูก การบำรุงรักษา จัดทำป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ  เชื่อมโยงกับการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน  และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะให้การสนับสนุนการศึกษารูปแบบ วิธีการปลูก  บำรุงรักษา ควบคุม และติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อดูการเจริญเติบโตของต้นไม้ การฟื้นคืนระบบนิเวศ และการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

การลงนามความร่วมมือระหว่าง ปตท.  กรมป่าไม้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจากมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นประธานพิธีในครั้งนี้ นับเป็นการเดินหน้าอย่างมุ่งมั่นเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการเจริญรอยตามพระยุคลบาท ทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อีกด้วย


You must be logged in to post a comment Login