วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รถไฟความเร็วสูงอาเซียน

On November 17, 2016

ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมแผนก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง มีเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ เดินแผนล้ำหน้าไปอีกก้าว

อินโดนีเซียได้ข้อสรุปโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางแรกของประเทศ ระหว่างกรุงจาการ์ตา-เมืองบันดุง ในจังหวัดชะวาตะวันตก ระยะทาง 142.3 กิโลเมตร

กำหนดก่อสร้างปลายปีหน้า และแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ ปลายปี 2019 หรืออีก 3 ปี

ข้างหน้า ใช้งบก่อสร้าง 5,290 ล้านเหรียญสหรัฐ (185,150 ล้านบาท) โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีนปล่อยกู้ให้เป็นทุนดำเนินการ 3,940 ล้านเหรียญสหรัฐ (137,900 ล้านบาท) คิดเป็น 75% ของงบก่อสร้างทั้งหมด

รถไฟสายนี้ สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากสถานีต้นทางถึงปลายทาง 37 นาที ขณะการเดินทางในปัจจุบัน ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

มาเลเซียและสิงคโปร์ รุดหน้าเช่นกันในการเตรียมแผนก่อสร้างเส้นทางระหว่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย-เขตจูร่งตะวันออกของสิงคโปร์ ระยะทาง 350 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบก่อสร้างประมาณ 13,600-14,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (476,000-514,500 ล้านบาท)

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซะก์ แห่งมาเลเซีย ได้เสนอนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น มาร่วมลงทุน ระหว่างเดินทางเยือนญี่ปุ่น 15-17 พ.ย.ที่ผ่านมา  

นอกจากเชิญชวนญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนแล้ว ผู้นำมาเลเซียยังมีแผนนำรถไฟหัวกระสุนของญี่ปุ่นมาวิ่งในเส้นทางนี้ด้วย ขณะผู้นำญี่ปุ่นก็แสดงความสนใจข้อเสนอเช่นกัน

ผู้นำมาเลเซียและนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์ กำหนดลงนามข้อตกลงการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ วันที่ 5 ธ.ค.นี้ จากนั้น จะเปิดประมูลสัญญาการก่อสร้าง ภายในไตรมาสสุดท้ายปีหน้า และกำหนดให้ผู้ชนะประมูล ดำเนินการก่อสร้างในปี 2018

การดำเนินงานคาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ในปี 2026 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า

รถไฟความเร็วสูงเส้นทางประวัติศาสตร์สายนี้ สามารถทำความเร็วได้สูงสุดประมาณ 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง ช่วยให้เดินทางจากสถานีต้นทางถึงปลายทางด้วยเวลารวดเร็วเพียง 90 นาที ขณะการเดินทางด้วยรถยนต์ในปัจจุบัน ใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมง

รถไฟความเร็วสูง มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นระบบขนส่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง หากต้องการยกระดับประเทศสู่มิติใหม่ด้านเศรษฐกิจ การเดินทาง และขนส่ง


You must be logged in to post a comment Login