วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ภาวะผู้นำ เราจะทรัมป์ตามสัญญา? / โดย ทีมข่าวการเมือง

On November 21, 2016

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

ชัยชนะอย่างพลิกความคาดหมายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นประชาคมโลกหรือในสหรัฐ เพราะเชื่อว่าหากทรัมป์เดินหน้านโยบายสุดโต่งตามที่หาเสียงจริง ทั้งสหรัฐและโลกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายๆด้าน

สิ่งที่ประชาคมโลกกลัวคือสงครามนิวเคลียร์และสงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะทรัมป์ประกาศจะดึงทหารอเมริกันกลับประเทศทั้งหมด สหรัฐจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาของโลกหากไม่มีผลประโยชน์กับสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อดุลอำนาจในโลก โดยเฉพาะดุลอำนาจใหม่ระหว่างรัสเซียกับจีน ขณะที่ความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ๆก็จะเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะทุกประเทศต้องคำนึงถึงผลประโยชน์และความมั่นคงของตัวเอง

ทรัมป์ประกาศนโยบาย “Make America Great Again” ด้วยการชูนโยบายสุดโต่งแต่โดนใจคนอเมริกัน และเป็นความหวังของคนอเมริกันที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คนอเมริกันอยู่ดีกินดีและมีชีวิตที่มั่นคง โดยเชื่อว่าทรัมป์กล้าที่จะทำตามที่หาเสียง แม้จะทำให้สหรัฐตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มนายทุนและกลุ่มผลประโยชน์เดิมๆ ซึ่งครอบงำทั้งพรรคการเมืองและนักการเมืองให้บริหารประเทศตามทิศทางที่ต้องการ

ส่วนคนอเมริกันที่ออกมาประท้วงต่อต้านทรัมป์ในหลายรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวและคนผิวสี (ไม่ใช่คนผิวขาว) เพราะเชื่อว่าทรัมป์คือหายนะของคนอเมริกันและหายนะของโลก การประท้วงไม่ใช่การไม่ยอมรับคะแนนการเลือกตั้งหรือล้มการเลือกตั้งอย่างที่บรรดา “คนดี” ในประเทศไทยมโนและแชร์กันในโซเชียลมีเดีย แต่ประท้วงนโยบายสุดโต่งของทรัมป์ โดยเฉพาะการเหยียดผิว เหยียดศาสนา ดูถูกผู้หญิง และรังเกียจผู้อพยพ

คนอเมริกันจำนวนมากวิตกกังวลความขัดแย้งและความเกลียดชังในสังคมอเมริกัน ขณะที่ประชาคมโลกก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์ทั่วโลกจะเป็นอย่างไร เมื่อดุลอำนาจเปลี่ยน ผลประโยชน์ต่างๆก็จะต้องเปลี่ยนไปพร้อมความขัดแย้งต่างๆ ซึ่งทั้งหมดก็อยู่ที่ท่าทีของทรัมป์เมื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าชะตากรรมของสหรัฐและโลกอยู่ในกำมือของทรัมป์ อยู่ที่ทรัมป์จะเปลี่ยนความคิดของตัวเองมากน้อยแค่ไหน

เสรีภาพภายใต้กฎหมาย

นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองการเลือกตั้งสหรัฐผ่านมิติทางภูมิศาสตร์การเมืองและการเมืองวัฒนธรรมใน “มติชน” ว่า อเมริกาเป็นหนึ่งในต้นแบบของประชาธิปไตยในโลก ชัยชนะของทรัมป์จึงค้านสายตาคนจำนวนไม่น้อย แม้จะมีการชุมนุมประท้วงของผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตที่ไม่ต้องการให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี แต่คงไม่ลุกลามถึงขนาดปิดประเทศและทำลายรากฐานประชาธิปไตยของอเมริกาได้ เพราะคนอเมริกันไม่ได้สมาทานหลักการประชาธิปไตยจนไม่ลืมหูลืมตา

ประเด็นการหาเสียงอย่างสุดโต่งของทรัมป์ โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศ เศรษฐกิจ การเหยียดผิว เหยียดศาสนา และต่อต้านการเปิดประเทศให้ผู้อพยพ ทำไมคนอเมริกันถึงยอมรับได้ ขณะที่ในบ้านเรากองเชียร์การเมืองอเมริกันที่ “ไม่เอาทรัมป์” อาจรู้สึกว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามประชาธิปไตยแบบสุดขั้วของอเมริกาที่ได้คนอย่างทรัมป์ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปกังวล เพราะทรัมป์คงทำไม่ได้ เนื่องจากโครงสร้างการเมืองอเมริกันคงไม่ปล่อยให้ทรัมป์ทำอะไรตามอำเภอใจได้ง่ายนัก

นายพิชญ์ยังมองว่า ไม่ว่าทรัมป์ รีพับลิกัน หรือเดโมแครต ก็จะยังยืนบนรากฐานประชาธิปไตย แม้จะพูดถึงความเป็นฝ่ายขวาหรืออนุรักษ์นิยม แต่ในอเมริกาส่วนสำคัญที่สุดของประชาธิปไตยก็คือเรื่องของเสรีภาพภายใต้การปกครองด้วยกฎหมาย อเมริกันชนไม่ว่าจะอยู่ฟากสีไหนทางการเมือง เขามีรากฐานบางอย่างที่ไม่ถอยออกจากประชาธิปไตยในระดับรากฐาน และมีมากกว่าเรื่องการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

“มาถามตัวเราดีกว่าว่า มีความเป็นทรัมป์ในตัวเราแค่ไหน ยิ่งถ้าเป็นทรัมป์แต่ไม่เอาทรัมป์ แถมไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นทรัมป์ แล้วยังไม่เอารากฐานประชาธิปไตยด้วย อันนี้น่าห่วงจริงๆ”

นายพิชญ์ตบท้ายในบทความว่า แตกต่างสิ้นเชิงกับการเมืองไทยที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้งแล้วยังตะแบงว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆดีที่สุดและเหมาะสมกับสังคมไทย แม้แต่การอยู่ภายใต้อำนาจรัฐประหารที่เป็นระบอบเผด็จการยังบอกว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่าบางประเทศ

กลัวอนาคต-เบื่อปัจจุบัน-ถวิลหาอดีต

นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ว่า คนไทยเองก็ไม่ต่างกับคนอเมริกันที่อยู่ภายใต้การครอบงำของโพล “ดูโพลมากกว่าดูดีเบต” ทำให้รู้สึกว่าครั้งนี้พลิกล็อกอย่างมาก ทั้งที่การหาเสียงของฮิลลารี คลินตัน ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เป็นการรับช่วงต่อมาจากบารัค โอบามา เป็นเสมือนตัวแทนของบรรดาอีลิตทั้งหลาย

ขณะที่การหาเสียงหรือดีเบตของทรัมป์ทำให้คนตกใจ เพราะแหวกประเพณีอเมริกาพอสมควร เป็นลักษณะนักชาตินิยม นักประชานิยม นิยมนโยบายโดดเดี่ยว เมื่อรวม 3 คุณสมบัติของทรัมป์ จึงทำให้การหาเสียงน่าสนใจ ซึ่งชัยชนะของทรัมป์สะท้อนบริบทในสังคมอเมริกาคือ 1.ความกลัวอนาคต 2.ความเบื่อปัจจุบัน และ 3.ความถวิลหาอดีต

กลัวอนาคต คือโลกาภิวัตน์ คนชั้นล่างรู้สึกถึงผลกระทบเยอะ รู้สึกว่าทำงานหนัก ค่าตอบแทนน้อย ทั้งงานยังหายไปเรื่อยๆ ประกอบกับเหตุการณ์ 9/11 และการก่อการร้ายในฟลอริดาและแคลิฟอร์เนียซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มไอซิส ทำให้คนอเมริกันรู้สึกไม่มั่นคง สาระการหาเสียงของทรัมป์จึงไม่ใช่ “ม้าตีนปลาย” แต่เป็น “ม้านอกสนาม” ที่โดนใจผู้คน

เบื่อปัจจุบัน คือขณะที่คนรุ่นใหม่เบื่อพวกผู้คุมอำนาจทั้งหลาย หรือพวก establishment จะเห็นว่ามีคำใหม่คือ ชนชั้นดาวอส (Davos) ซึ่งดาวอสคือเมืองในสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นที่ประชุมของชนชั้นนำระดับโลก พวกเขาเริ่มมีคำถามแล้วว่า พวกเขาอยู่ตรงไหน ฮิลลารีเป็นตัวแทนของชนชั้นนำเหล่านี้ อันที่จริง เบอร์นี แซนเดอร์ส ก็เป็นอาการของเดโมแครตที่ต่อต้านกลุ่มชนชั้นนำ เขาเป็น liberal socialist แนวคิดสังคมนิยมอาจเป็นของแสลงในอเมริกา แต่สำหรับชนชั้นแรงงานยังมีการพูดถึงและการเคลื่อนไหวเรื่องนี้อยู่ เป็นการสะท้อนอาการเบื่อปัจจุบัน

ถวิลหาอดีต การหาเสียงของทรัมป์เป็นการตีความให้อเมริกากลับไปสู่โลกอดีต อาการคล้ายกับ Brexit ที่คนอังกฤษอยากเห็น border หรือเส้นเขตแดนกลับมาอีกครั้ง ทรัมป์หาเสียงว่าอเมริกาควรถอยกลับมาอยู่ในบ้าน หลังจากที่คนเริ่มเห็นความปั่นป่วนในยุโรป

คนที่นำเสนอสาระอย่างทรัมป์ เมื่อเรามองจากแว่นเสรีนิยม เราย่อมไม่ตอบรับเลย เราเห็นว่าสิ่งที่ทรัมป์พูดเป็นเรื่องตลก เพราะเราถูกครอบงำด้วยแนวคิดเสรีนิยม แต่ในสังคมอเมริกา คนอาจตอบรับกับแนวคิดแบบนี้จำนวนมาก นี่เป็นข้อดีของประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้นักการเมืองมีสิทธินำเสนอได้และประชาชนมีสิทธิเลือกได้ การจะจัดระบบเลือกตั้งอย่างไร ยกเลิกคณะผู้เลือกตั้งหรือไม่ อาจไม่ใช่ประเด็น เราเก็งกันผิดเพราะเราดูสื่ออเมริกันที่เชียร์ฮิลลารีเป็นส่วนใหญ่ หากเราดูสื่อเยอรมันจะเห็นว่าเขาไปสัมภาษณ์คนในชนบทในเพนซิลเวเนีย ซึ่งพบว่าตอบรับทรัมป์หมด

โดยสรุปวันนี้สังคมอเมริกันเรียกร้องให้ประเทศตนเองเปลี่ยนบทบาทในเวทีโลก ถามว่าการเปลี่ยนนี้จะกระทบอะไรกับการเมืองโลกบ้าง

การเปลี่ยนของการเมืองภายในของมหาอำนาจนั้นมักมีผลกระทบมากกว่าที่เราคิด เช่น การขึ้นมาของฮิตเลอร์ในปี 1932 หรือการขึ้นมาของกอร์บาชอฟในรัสเซีย ก็มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ จนนำมาซึ่งการสิ้นสุดของสงครามเย็น

เรากำลังจะเห็นสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า Trumpism หรือ Trump Doctrine หากมันมาเป็นแกนกลางของนโยบายต่างประเทศของอเมริกาจะกระทบต่อระเบียบโลกหรือไม่ใน 3 เสาหลักคือ ความมั่นคง เศรษฐกิจ ข้อตกลงและพันธสัญญาต่างๆ เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนนักและไม่อาจสรุปทั้งหมดได้จากการหาเสียงที่ผ่านมา ต้องดูภายหลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า โดยจับตาให้ดีว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีกลาโหม และที่ปรึกษาความมั่นคงทำเนียบขาว ซึ่ง 3 ส่วนนี้จะมีบทบาทอย่างสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ

“ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมกำลังถูกท้าทาย ระเบียบโลกที่วางรากฐานโดยสหรัฐอเมริกาเอง ถ้าทรัมป์มีนโยบายฉีกออกไปอีกทาง กระแสประชานิยมขวากำลังมา… ตอนฮิตเลอร์มา ระเบียบโลกเปลี่ยน กอร์บาชอฟมาก็นำมาซึ่งการสิ้นสุดสงครามเย็น วันนี้ถามว่าระเบียบโลกจะเปลี่ยนไหม เป็นคำถามใหญ่หลังวันที่ 20 มกราคม”

ปีนี้บังสุกุล ปีหน้าเผาจริง

การที่คนบางกลุ่มพยายามเปรียบเทียบชัยชนะของทรัมป์และการประท้วงของคนอเมริกันว่าเป็นปัญหาประชาธิปไตยเช่นเดียวกับไทยนั้น เป็นคนละเรื่องและเปรียบเทียบไม่ได้กับการประท้วงในไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อเหลืองหรือสาวกนกหวีดไม่ได้สนใจเรื่องประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้ง แต่ต้องการเพียงกำจัดรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามที่เป็นเครือข่ายทักษิณและตระกูลชินวัตรให้สิ้นซาก ไม่สนใจว่าจะด้วยวิธีการใดๆ โดยปลุกระดมให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังด้วยวาทกรรม Hate Speech กล่าวหาและบิดเบือนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาบันหรือการทุจริตคอร์รัปชัน

จึงไม่แปลกที่ประเทศไทยจะมีการรัฐประหารถึง 2 ครั้งภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาใดๆ แล้วยังสร้างความขัดแย้งและความเกลียดชังให้ฝังลึก ทั้งที่รัฐบาลทหารและ คสช. ประกาศว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน จะคืนความสุขให้คนไทย คืนความสุขให้ประเทศ” แต่กว่า 2 ปีความปรองดองก็ยังไม่เกิด ความขัดแย้งก็ยังคงอยู่ ปัญหาเศรษฐกิจก็ไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น แล้วยังเชื่อว่าจะสาหัสยิ่งขึ้น

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าวและพืชผลการเกษตรต่างๆว่า “ปีนี้ทอดผ้า ปีหน้าเผาจริง” ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐจะทำให้การลงทุนชะลอตัว นโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่จะกระทบถึงจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของไทย ส่วนตลาดที่สำคัญอีกแห่งคือสหภาพยุโรปก็เกิดปัญหา แต่รัฐบาลกลับสนุกกับการทำลายฝ่ายตรงข้ามเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองที่ได้มาโดยไม่ชอบ ทั้งยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจไทยจึงไม่มีทางจะฟื้นตัว ปีนี้ที่ว่าแย่ยังแค่การทอดผ้าบังสุกุล ปีหน้าคือการเผาจริง เชื่อพุทธศาสนสุภาษิตหรือยังว่า “พาโล อปริณายโก”

นอกจากนี้ที่นายวัฒนาโพสต์ย้ำปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำว่าคือหายนะทางเศรษฐกิจและหายนะของเศรษฐกิจไทยจึงไม่ไกลเกินเอื้อม ทางออกเดียวคือ การเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนต้องออกไปเลือกคนมีสติปัญญา

ภาวะผู้นำ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงชัยชนะของทรัมป์ว่า ต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชน ใครที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ยอมรับทั้งนั้น เพราะทุกประเทศก็มีประชาธิปไตยที่มีพื้นฐานใกล้เคียงกัน แต่ความแตกต่างขึ้นอยู่กับประชาชนที่เป็นผู้ตัดสินใจเลือก ทุกอย่างมีการพลิกแพลงอยู่

ในกระแสโซเชียลนั้น บรรดาสลิ่มและเหล่าคนดีกลับเย้ยหยันการเลือกตั้งและชัยชนะของทรัมป์ที่เกิดการประท้วงของคนอเมริกันในทำนองว่าขนาดสหรัฐยังไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างที่ฝ่ายประชาธิปไตยไทยเรียกร้อง ทั้งที่เป็นการประท้วงของคนอเมริกันที่ไม่ยอมรับนโยบายสุดโต่งของทรัมป์ ไม่ใช่ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง หรือกวักมือเรียกเผด็จการอย่างบรรดาสลิ่มไทย

การประท้วงทรัมป์แทบไม่มีผลกระทบใดๆกับการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ซึ่งทรัมป์ก็ให้สัมภาษณ์หลังพบกับโอบามาว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น “โอบามาดีมาก เป็นคนฉลาด คนไนซ์ ตลก เรามีเคมีที่ดีต่อกัน ไม่มีความตะขิดตะขวงใดๆ”

ที่สำคัญบุคลิกของทรัมป์กลับไม่แข็งกร้าวเหมือนตอนหาเสียงชัดเจน แม้ยืนยันว่าจะยังเดินหน้าตามนโยบายที่หาเสียง แต่ก็จะเป็นประธานาธิบดีของคนอเมริกันทั้งที่เลือกและไม่เลือกเขา ซึ่งสะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนกับผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจชัดเจน เพราะผู้นำจากการยึดอำนาจไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นผู้นำของประชาชนทุกคน

อีกทั้งการใช้อำนาจก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านใดๆ แต่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งต้องใช้อำนาจภายใต้กฎหมายตามหลักการประชาธิปไตย ไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจเหมือนอำนาจเผด็จการที่จะออกกฎหมายหรือคำสั่งที่สามารถจับกุมคุมขัง ลงโทษ หรือโยกย้าย ไม่ว่าจะมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผล

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะให้สัมภาษณ์ (15 พฤศจิกายน) กรณีที่มีการวิจารณ์ว่าพฤติกรรมของนายกฯคล้ายกับทรัมป์ว่า “ไม่รู้เหมือนกัน แล้วดีหรือไม่ดี ซึ่งบางอย่างผมไม่ใช่นักการเมือง เวลาพูดอะไรก็จะพูดไปตามความเชื่อในหลักการและข้อเท็จจริงตามกฎหมาย บางครั้งสิ่งที่พูดคือความจริงใจมากเกินไป อาจจะไม่สุภาพบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องของผม แต่เจตนาของผมไม่ได้มีอะไรกับใครทั้งสิ้น และเมื่อพูดไปแล้วก็ไม่เคยโกรธใคร จบแค่นั้น แล้วก็ไปทำเรื่องอื่น วันหน้าก็อาจจะมีโมโหอีก เพราะมันเป็นบุคลิกส่วนตัวของผม อาจเป็นสิ่งไม่ดีของผม อย่าเอาไปเป็นตัวอย่าง แต่ดีๆก็มีอยู่เยอะพอสมควร”

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ก็แตกต่างจากทรัมป์โดยสิ้นเชิง ไม่ใช่เพราะสหรัฐเป็นมหาอำนาจของโลก หรือไทยเป็นประเทศเล็กๆ แต่ประเด็นอยู่ที่การได้มาซึ่งอำนาจที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำด้วยการยึดอำนาจ ขณะที่ทรัมป์มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ทรัมป์จึงประกาศได้เต็มปากว่าพร้อมจะเป็นประธานาธิบดีของคนอเมริกันทั้งที่เลือกและไม่เลือกเขา แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นผู้นำของประชาชนทุกคนไม่ว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน เพราะการยอมรับของประชาชนแตกต่างกัน

ดังนั้น เมื่อทรัมป์รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการ แม้นโยบายตามที่หาเสียงจะสุดโต่งอย่างไรก็ตาม แต่ในระบอบประชาธิปไตยประชาชนก็มีสิทธิจะวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบ ซึ่งทรัมป์อาจเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนแรกที่มีคดีพันพัวขณะกำลังจะเข้ารับตำแหน่งและถูกดำเนินคดีหลังรับตำแหน่ง โดยทรัมป์ถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอยู่ถึง 75 คดี เช่น กรณีไล่ลูกจ้างในสนามกอล์ฟที่ฟลอริดาออกเพราะโวยวายเรื่องถูกกดขี่ทางเพศ หรือข้อกล่าวหาว่ากองหาเสียงของทรัมป์ส่งข้อความลามกให้ผู้มีสิทธิลงคะแนน และคดีการหลอกลวงและตบทรัพย์นักศึกษาโดยมหาวิทยาลัยทรัมป์

แม้แต่ประเด็นที่ทรัมป์พูดย้ำบ่อยระหว่างหาเสียงว่าจะตั้งคณะอัยการพิเศษเพื่อสอบสวนและดำเนินคดีกับฮิลลารีในความผิดฐานใช้อีเมล์ส่วนตัวสั่งงานราชการระหว่างเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ทำให้ผู้สนับสนุนทรัมป์ไชโยโห่ร้องพร้อมกับตะโกนว่า “จับเธอขังคุก”

หลังจากได้รับชัยชนะท่าทีของทรัมป์ก็เปลี่ยนไป ไม่ได้แสดงความก้าวร้าว ดูถูก เหยียดหยามหรือทับถม อย่างนักการเมืองไทยหรือผู้มีอำนาจบางคน โดยทรัมป์บอกว่าไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้หนักหนานัก และยังกล่าวชมฮิลลารีว่า “เธอเป็นคนแกร่งและเก่ง”

แต่ผู้มีอำนาจภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่มาจากการยึดอำนาจอย่าง คสช. ประชาชนไม่สามารถแสดงออกใดๆได้เลยแม้จะทำความผิดร้ายแรงแค่ไหน หรือใช้อำนาจสั่งจับ คุมขัง ลงโทษ หรือประหารชีวิตใคร ก็ไม่มีความผิด ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะนิรโทษกรรมตัวเองและพวกพ้องทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะบอกว่าไม่กลัวที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะฟ้องกลับกรณีกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีโครงการรับจำนำข้าว 35,000 ล้านบาท แม้จะพูดว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ใช่กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

นี่คือความแตกต่างระหว่างผู้นำในระบอบประชาธิปไตยกับผู้นำในระบอบพิสดาร!?


You must be logged in to post a comment Login