วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ภัยการตรวจสอบ

On November 22, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

รอยคล้ายรูกระสุนปืน ที่บริเวณกระจกหน้าต่างชั้น 2 ของบ้านพักส่วนตัว ย่านอินทามระ 1 ของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ที่เกิดขึ้นเมื่องกลางดึกคืนวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ถูกตำรวจสรุปว่าน่าจะเกิดจากกระสุนปืนอัดลมเพราะตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์แล้วไม่พบสารตะกั่ว รวมถึงภายในห้องที่เกิดเหตุก็ไม่พบหัวกระสุนปืนตกอยู่ จึงไม่น่าเป็นรอยที่เกิดจากกระสุนจริง

ส่วนคำถามที่ว่าแล้วทำไมไม่พบหัวกระสุนลูกเหล็กตามที่สันนิษฐานว่าเป็นการยิงปืมลมไล่นกของชาวบ้านระแวกนั้น ก็มีคำตอบว่ากระสุนไม่มีความแรงมากพอที่จะทะลุกระจกเข้ามาในตัวบ้าน อาจกระเด็นตกนอกบริเวณบ้าน

เรื่องนี้ทำท่าจะจบแบบผลสรุปที่กล่าวมาข้างต้น

หากเป็นจริงดังข้อสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ถือเป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อยกรณีนี้ก็จะไม่ทำให้ความขัดแย้งทางความคิดขยายกว้างออกไป

เป็นที่ทราบกันดีว่าก่อนที่จะเกิดรอยกระสุนที่บ้านนายเรืองไกรนั้น นายเรืองไกรได้กลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจอีกครั้งหลังจากที่เงียบไปพักใหญ่ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการเงียบหลังถูกนำตัวไปปรับทัศนคติ

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงนายเรืองไกร เท่านั้นที่ประสบกับสถานการณ์ที่อาจเป็นภัยคุกคามจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงตรวจสอบผู้มีอำนาจ

แต่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยและการถูกคุกคามจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงตรวจสอบผู้มีอำนาจรัฐ

ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณได้ยื่นคำร้องเรียนพร้อมพยานหลักฐานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้สั่งการคุ้มครองสวัสดิภาพ กรณีถูกคุกคาม-ปองร้าย โดยถูกชายนิรนามถ่ายรูป และติดตามหลังจากเข้ายื่นฟ้องหน่วยงานภาครัฐต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเพิกถอนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พาวเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ แพลน (พีดีพี) เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา

นายศรีสุวรรณ ระบุว่าสิ่งที่ถูกกระทำสะท้อนให้เห็นถึงพฤติการณ์ของการใช้อำนาจ ข่มขู่ คุกคามประชาชนอย่างชัดเจน

ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นกับนายเรืองไกรและนายศรีสุวรรณไม่ใช่กรณีแรกของผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และทุกครั้งที่เกิดเรื่องอย่างนี้จะมีคำถามออกมาจากสองกลุ่มการเมืองที่เห็นต่างว่า คุกคามข่มขู่เพื่อปิดปากปิดกั้นการตรวจสอบหรือไม่ หรือว่าสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่

ทั้งสองคำถามมักเป็นคำถามที่ไร้คำตอบที่แน่ชัด แม้ผู้ที่ถูกคุกคามจะมีหลักฐาน เช่น ทะเบียนรถหรือรูปคนที่ติดตามคุกคาม แต่ก็ไม่เคยมีคำตอบว่าคนที่กระทำพฤติกรรมอย่างว่านั้นเป็นใครมาจากไหนและมีจุดประสงค์อะไร

หรืออย่างมากหากมีหลักฐานมัดแน่นก็จะได้รับคำตอบว่าส่งคนไปดูแลความปลอดภัย เพราะเกรงว่าจะมีมือที่สามไปตีหัวสร้างสถานการณ์แล้วโยนความผิดมาให้คู่กรณีที่ถูกตรวจสอบ ซึ่งก็คือผู้ที่ถือครองอำนาจรัฐ

นี่คือปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่วนปฏิบัติการคุกคามจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ

จึงอยากยกคำพูดของผู้มีอำนาจบางคนที่ว่า “ถ้าไม่ผิดจะกลัวอะไร” ปล่อยให้ตรวจสอบอย่างเต็มที่ เพราะถ้าไม่ผิดผลของการตรวจสอบจะช่วยสร้างเกราะคุ้มกันไม่ให้ถูกกล่าวหา หรือถูกเข้าใจไปในทางผิดได้เป็นอย่างดี


You must be logged in to post a comment Login