- อย่าไปอินPosted 4 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 23 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เปิดตัวกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เกิดขึ้นจากพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 ในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27มีนาคม 2558 ซึ่งตามบทเฉพาะกาลได้กำหนดให้การดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในวาระเริ่มแรกอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงวัฒนธรรม ให้ถือเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
โดยมีภารกิจหลักที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์สำคัญคือ รณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นอกจากนียังส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและครอบครัว มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ สามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคม รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย อบรม พัฒนาองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การส่งเสริมบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสื่อให้มีการผลิตและพัฒนาสื่ออย่างปลอดภัยสร้างสรรค์ รวมถึงดำเนินการและส่งเสริมให้มีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง
วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงความสำคัญของกองทุนฯว่า ภารกิจของกองทุนฯ คือการส่งเสริมให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้เท่าทันสื่อด้วย แม้ทุกวันนี้จะมีทั้งสื่อหลักและสื่อใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น แต่สื่อสิ่งพิมพ์ถือเป็นสื่อหลัก และเป็นสื่อที่เก่าแก่ท่ามกลางสถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์ในวันนี้ที่อยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งกองทุนฯตระหนักถึงความช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง ที่จะทำให้ธุรกิจของสื่อสิ่งพิมพ์เปลี่ยนจากวิกฤติเป็นโอกาส เพราะโจทย์ก็คือว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดสื่อที่ดี สื่อที่ปลอดภัย สำหรับสังคม สำหรับเด็ก-เยาวชน และประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งกองทุนฯไม่ได้คิดในแง่ว่าจะไปสนับสนุนในลักษณะที่เป็นปัจเจกหรือรายใดรายหนึ่ง แต่มองในภาพรวม ว่าทำอย่างไรกองทุนฯจะมีส่วนหรือทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ทำให้สื่อสามารถดำรงอยู่ได้ และสามารถทำหน้าที่สื่อที่ดี มีจรรยาบรรณ และมีจริยธรรม เพื่อทำให้เกิดสื่อดีในภาพรวมของสังคมได้ โดยเฉพาะการภาวะวิกฤติในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ณ ขณะนี้ กองทุนฯจะช่วยสนับสนุนให้ ‘วิกฤติ’กลายเป็น ‘โอกาส’ ได้อย่างไร ถือเป็นโจทย์ที่ยากพอสมควร
เพราะแม้แต่สื่อสิ่งพิมพ์เองก็พยายามช่วยกันหาทางออกว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้วิกฤติที่เกิดขึ้นกลายเป็นโอกาส หรือเป็นช่องทาง ซึ่งทุกวันนี้สื่อสิ่งพิมพ์หลายแห่ง เห็นชัดเจนขึ้นว่า เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป รวมทั้งสื่อใหม่ๆ ที่เข้ามา มีผลกระทบกับสื่อดั้งเดิม โฆษณาที่ลดลง ผลประกอบการที่ย่ำแย่ลง หลายที่ก็อาจจะดูในแง่ของการเปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มอื่น เช่น ออนไลน์ เว็บไซต์ หรือดูว่าจะใช้เนื้อหาที่มีอยู่ทำรายได้ด้านอื่นได้อย่างไร ถือเป็นโจทย์ของผู้ประกอบการโดยรวม ซึ่งการช่วยเหลือของกองทุนฯ คงไม่ได้ไปช่วยเป็นรายๆ แต่อาจจะช่วยโดยการมีเวทีให้พูดคุยกันเพื่อหาทางออก เพื่อที่จะให้ได้ข้อสรุป ในเชิงนโยบายควรจะเป็นอย่างไร ในเชิงผู้ประกอบการจะต้องทำอย่างไร อาจจะมีผู้ประกอบการบางรายที่เขาปรับตัวแล้วเขาประสบผลสำเร็จ มีบางรายที่อาจจะมีแง่คิด มีไอเดีย ที่เป็นทางออก เป็นโอกาส เราก็อาจจะมีการแลกเปลี่ยนในแง่ของความรู้ ในแง่ของบทเรียน ในแง่ของแนวทาง เพื่อให้การปรับตัวในครั้งนี้แต่ละคนไม่โดดเดี่ยวจนเกินไป เป็นการช่วยในภาพรวม
ส่วนแผนการหรือแนวทางในการขับเคลื่อนกองทุนฯให้บรรลุเป้าหมายตามภารกิจที่ตั้งไว้นั้น คุณวสันต์ กล่าวว่า ภารกิจของกองทุนฯ คือการส่งเสริมให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเราก็ต้องส่งเสริมให้เกิดการผลิต ส่งเสริมผู้ผลิต เพื่อให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้เท่าทันสื่อด้วย ทั้งนี้การทำให้ภารกิจเหล่านี้ประสบผลสำเร็จ สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วม เพราะการขับเคลื่อนเรื่องนี้คงไม่ใช่หน้าที่ของกองทุนฯ หรือหน้าที่ของภาครัฐหรือภาคเอกชนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นบทบาทร่วมกันของทุกภาคส่วน
ดังนั้นการที่จะทำให้สังคมมีสื่อดีๆ สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้นมามากๆ เป็นเรื่องที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ถ้ามองในแง่ของคนผลิต เราก็จะต้องมองในแง่ผู้รับสารด้วย ในแง่ของวิชาการ ในแง่ของผู้บริโภค เพราะทุกคนมีส่วนในการที่จะทำให้เกิดสื่อที่ดีในสังคม ยกตัวอย่างเช่น อาจจะมีคนบอกว่า ก็ที่เขาผลิตสื่อแบบนี้เพราะคนอยากดู หรือคนอ่านเขาอยากอ่าน ลองถ้าไม่มีคนดูหรือคนอยากอ่าน เขาก็จะไม่ผลิตสื่อแบบนี้ ในทางกลับกัน ผู้บริโภคก็บอกว่า ก็มันมีแต่สื่อแบบนี้ที่ผลิตออกมา หันไปช่องไหนก็เป็นเหมือนๆ กัน ดูไม่แตกต่างกัน ไม่มีทางเลือกเท่าที่ควร หรือไม่มีอะไรสร้างสรรค์พอ
ดังนั้นเรื่องสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องช่วยกัน ผู้ประกอบการหรือฝ่ายวิชาชีพก็สำคัญมาก โดยเฉพาะวันนี้สื่อใหม่ๆ เข้ามา ประชาชนเป็นผู้ผลิตสื่อเองได้ ผู้ประกอบวิชาชีพยิ่งจะต้องยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพให้สูงขึ้นไปอีกเพื่อที่จะได้แตกต่าง ไม่เช่นนั้นไม่มีอะไรแตกต่างกัน ถ้าสื่อมืออาชีพมีมาตรฐานที่ไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป ก็แสดงว่ามาตรฐานไม่ได้สูงกว่าคนทั่วไป ในขณะเดียวกัน ถ้าเราต้องการเห็นการผลิตสื่อที่มีมาตรฐานที่สูงขึ้น หรือการบริโภคสื่อที่มีคุณภาพขึ้น บางทีผู้ประกอบการที่มีมาตรฐานที่สูงก็จะเป็นแบบอย่างให้คนทั่วไปได้เห็นว่า นี่คือแบบอย่างในการทำสื่อที่ดี นี่คือแบบอย่างที่ควรจะเป็น เช่น การรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องละคร เรื่องฉากข่มขืน ที่หลายคนตั้งคำถามเสมอๆว่า ทำไมละครจะต้องมีฉากแบบนี้อยู่ค่อนข้างมาก ทั้งที่สังคมควรพัฒนาไปไกลแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงผู้ชาย แต่ในละครสิ่งที่สะท้อนกลับเป็นการกดขึ่ หรือเป็นความสัมพันธ์แบบบังคับขืนใจซึ่งสุดท้ายแล้วฝ่ายหญิงก็จะยินยอม เมื่อมีเสียงทักท้วงมากขึ้นจากผู้บริโภคและคนในสังคมก็ทำให้ผู้ผลิตตระหนักมากขึ้น ในขณะเดียวกันเรคกูเลเตอร์ก็จะต้องเข้ามามีบทบาท ดังนั้นเรื่องสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ต้องเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนกองทุนฯคงจะเป็นตัวหลักคือทำอย่างไรจึงจะทำให้มันเกิดขึ้น ซึ่งเราก็คงจะประสานความร่วมมือกับทุกๆฝ่ายในการขับเคลื่อน
วสันต์ กล่าวถึงความท้าทายในการบริหารจัดการกองทุนฯว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกองทุนฯนี้เป็นกองทุนฯที่เกิดใหม่ เริ่ม จากการที่ยังไม่มีอะไร เมื่อเข้ามาก็ต้องมาเริ่มต้น เหมือนกับมาก่อร่างสร้างตัวตั้งแต่แรก ต้องมาวางองค์กรตั้งแต่ยังไม่มีอะไร ซึ่งเข้ามาขับเคลื่อนองค์กรเป็นคนแรก ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ว่าองค์กรจะเดินไปอย่างไร องค์กรจะเข้มแข็งและทำประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหนบางทีขึ้นอยู่กับก้าวแรกที่เราเดิน ดังนั้นถือเป็นความท้าทายที่เริ่มต้นบุกเบิก โดยพร้อมรับภาคีเครือข่าย หุ้นส่วนที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน และพร้อมเปิดรับโครงการต่างๆที่น่าสนใจที่มีเจตนารมณ์ หรือวัตถุประสงค์แบบเดียวกับกองทุนฯ สำหรับเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมที่อยากเห็นคือการมีสื่อที่ดีที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์เกิดขึ้นมากๆ บทบาทของกองทุนฯไม่ใช่เรคกูเลเตอร์ ไม่ใช่หน่วยงานที่จะไปคอยกำกับ ถือไม้เรียว หรือไปคอยเฝ้าว่าใครทำอะไรผิด หรือไปจัดการ แต่บทบาทของเราเป็นการส่งเสริม เป็นการสนับสนุน แล้วสิ่งที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนก็คือสิ่งที่ดีๆ ก็คือการทำให้เกิดสื่อที่ดีๆ ขึ้นมา เพื่อให้เป็นทางเลือกของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกสื่อดีๆ รู้เท่าทัน มีวิจารณญาณในการใช้สื่อ รวมทั้งอยากเห็นการสื่อสารที่ช่วยให้คนได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาสังคม พัฒนาประเทศชาติ เพราะว่าคนถูกหล่อหลอมจากสิ่งแวดล้อม จากสังคมโดยรวม สื่อเป็นสิ่งแวดล้อม และเป็นสังคมที่จะหล่อหลอมคนที่สำคัญอันหนึ่ง
ส่วนแผนงานปี 59 และ 60 ที่กองทุนฯกำลังอยู่ในระหว่างการขับเคลื่อนนั้น คุณวสันต์ กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ที่จะทำงานในการขับเคลื่อนมีประเด็นหลักๆคือ ส่งเสริมให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้น ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และครอบครัวมีการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการเฝ้าระวัง นอกจากนั้นก็มีเรื่องของการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์เราก็จะผูกกับวัตถุประสงค์ของกองทุนเป็นหลัก ส่วนกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำนั้นจะร่วมกับภาคีเครือข่าย และทุกๆภาคส่วนที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ เช่น กลุ่มที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน กลุ่มทำงานทางด้านสื่อ หรือว่ากลุ่มที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค คือการประสานเพื่อความร่วมมือเหล่านี้เข้ามาด้วยกัน หรือการเข้าไปส่งเสริม สนับสนุนให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกองทุนฯ ซึ่งช่วงเวลานี้คนไทยยังคงโศกเศร้ากับการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และมีคนไทยจำนวนไม่น้อยต้องการทำอะไรเพื่อพระองค์ท่านเพื่อเป็นการแสดงความถวายอาลัย เป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน แล้วก็น้อมนำคำสอนของพระองค์ท่านมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ช่วยกันขับเคลื่อนสังคม คนที่อยากจะทำสื่อพวกนี้ก็คงมีอยู่เป็นจำนวนมาก กองทุนฯก็จะพิจารณาว่า จะมีส่วนในการที่จะสนับสนุนให้มีการสร้างสื่อดีๆ ในลักษณะนี้ได้อย่างไร โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่คิดจะทำสิ่งดีๆ ถวายพระองค์ท่าน ก็คิดว่าจะส่งเสริมให้เกิดสื่อดีๆ จากกรณีนี้ขึ้นมา ซึ่งก็มีทั้งในแง่ของการผลิตคลิป หรืออาจจะมีเรื่องของการผลิตวิดีโอ ผลิตหนังสั้น หรือในแง่ของดนตรี ซึ่งก็จะเป็นตัวอย่างหนึ่งของสื่อสร้างสรรค์
You must be logged in to post a comment Login