วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ไทยเป็นประเทศรายได้สูง?/ โดย กองบรรณาธิการ

On November 30, 2016

คอลัมน์ : รายงาน
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ

กรณีญี่ปุ่นเตรียมถอดประเทศไทยออกจากระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences : GSP) เป็นความเคลื่อนไหวที่ทำให้หลายฝ่ายรู้สึกงง

ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ชาติ ร่วมกับจีน มาเลเซีย เม็กซิโก และบราซิล ที่ญี่ปุ่นขึ้นป้ายเตรียมยกเลิกจีเอสพีในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือในปีงบประมาณ 2019 ของญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มจาก 1 เมษายน ในปีดังกล่าว ถึง 31 มีนาคมในปีถัดไป

ญี่ปุ่นให้เหตุผลการยกเลิก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบภาษีว่า เพราะประเทศไทยเป็นชาติที่มีรายได้สูงแล้ว โดยใช้ข้อมูลของธนาคารโลกเป็นเกณฑ์ตัดสิน

ญี่ปุ่นระบุว่า ธนาคารโลกจัดประเทศไทยไว้ในกลุ่มประเทศมีรายได้สูงติดต่อกัน 3 ปี ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่ญี่ปุ่นกำหนดไว้ ทำให้ฝ่ายเกี่ยวข้องเรื่องนี้ของไทยหลายส่วนรู้สึกงง โดยงงว่าไทยเป็นประเทศมีรายได้สูงจริงหรือ?

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นคนหนึ่งที่ “งง” ยืนยันว่า ไทยยังไม่ “รวย” เพราะประชากรไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีเพียง 4,600 เหรียญสหรัฐ ขณะเกณฑ์ประเทศที่มีรายได้สูงของธนาคารโลกอยู่ที่ 12,475 เหรียญสหรัฐ

ตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อปีของประชากรไทย ที่รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศระบุ แตกต่างจากตัวเลขปีล่าสุด 2015 ที่ธนาคารโลกระบุไว้ในเว็บไซต์คือ 5,620 เหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวก็ยังห่างไกลจากกลุ่มประเทศมีรายได้สูงอยู่ดี

ด้านผลกระทบการส่งออกสินค้าของไทย กรณีญี่ปุ่น “เอาจริง” เรื่องนี้ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศระบุว่า “ไม่เท่าไร” เพราะไทยส่งออกสินค้าภายใต้สิทธิ์จีเอสพีเพียง 86 รายการ

โดยยอดส่งออกภายใต้สิทธิ์จีเอสพีช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-กันยายน) มีมูลค่าเพียง 12.79 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 0.08% ของมูลค่าส่งออกไปญี่ปุ่นทั้งหมด 15,115 ล้านเหรียญสหรัฐ

ช่องทางหลักที่ประเทศไทยใช้ส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่น คือความตกลงเขตการค้าเสรีซึ่งมี 2 กรอบ ประกอบด้วยความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP)

นายเฉิน เฟิ่งอี้ นักวิชาการแห่งสถาบันความสัมพันธ์นานาชาติของจีน (China Institutes of Contemporary International Relations) มองกรณีนี้ว่า เป็นวิธีหนึ่งที่ญี่ปุ่นจะใช้เพิ่มรายได้ในอนาคต เพราะภาษีจากประเทศที่เตรียมยกเลิกจีเอสพี เป็นจำนวนเงินไม่ใช่น้อย

แต่เฟิ่งอี้เห็นว่า ไทยกับมาเลเซียยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา หากญี่ปุ่นยกเลิกจีเอสพี ก็ถือเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีเหตุผลใดๆรองรับ


You must be logged in to post a comment Login