วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ทางออก‘ธัมมชโย’

On December 1, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

เรื่องใหญ่หนึ่งในสองเรื่องสัปดาห์นี้มีความชัดเจนไปแล้วเรื่องหนึ่ง ส่วนอีกเรื่องหนึ่งยังลูกผีลูกคนไม่รู้ว่าจะลุยไปข้างหน้า หรือว่าจะผ่อนคันเร่งทอดเวลาออกไปก่อน

เรื่องที่ว่าก็คือการจับตัว พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย มาส่งฟ้องศาลข้อหาฟอกเงินและรับของโจรตามที่อัยการมีคำสั่งฟ้องไปก่อนหน้านี้ และมีกำหนดต้องเข้ามอบตัวภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ถึงตอนนี้ไม่มีใครยืนยันได้ 100% ว่า พระธัมมชโย ยังรักษาอาการอาพาธอยู่ภายในวัดพระธรรมกายตามที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้หรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ผู้ใกล้ชิดและเกี่ยวข้องต่างยืนยันว่ายังอยู่ภายในวัด ไม่ได้หลบหนีอย่างที่มีข่าวลือ

แต่หลังจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ประกาศจะเอาผิดตามกฎหมายกับผู้ให้ที่พักพิง ข่าวที่ออกมาจากคนใกล้ชิดก็เปลี่ยนไปในทำนองไม่ยืนยันว่ายังอยู่ในวัดหรือไม่

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เจ้าของคดี เรียกร้องให้วัดพระธรรมกายประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า พระธัมมชโยยังอยู่ในวัดหรือไม่ หากยังอยู่แล้วไม่ส่งตัวให้เจ้าหน้าที่จะมีความผิดตามกฎหมาย

ส่วนการบุกเข้าจับกุมตัวนั้น อธิบดีดีเอสไอระบุว่ามีการประเมินและวางแผนอยู่ตลอดเวลา

ท่าทีของดีเอสไอไม่ต่างจากตำรวจที่ประกาศอย่างชัดเจนมาตลอดว่าหากไม่มอบตัวตามหมายจับจะต้องบุกเข้าจับกุม

ทั้งนี้ เนื่องจากดีเอสไอและตำรวจไม่เพียงถูกกดดันจากประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเห็นการดำเนินการกับพระธัมมชโย แต่ยังถูกกดดันในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่นำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีตามกฎหมาย ถ้าไม่ทำก็เข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ยิ่งเป็นคดีใหญ่ที่คนสนใจจำนวนมาก ก็ย่อมถูกกดดันมากเป็นธรรมดา

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางแรงกดดันที่โถมใส่ดีเอสไอ และ ตำรวจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาผ่อนคลายแรงกดดันที่ว่านี้โดยเรียกร้องให้สังคมผลักแรงกดดันไปที่พระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย

นายกฯเรียกร้องให้พระธัมมชโยออกมามอบตัวสู้คดีตามกระบวนการของกฎหมาย หรือให้วัดพระธรรมกายส่งตัวพระธัมมชโยให้เจ้าหน้าที่

ส่วนการบุกเข้าจับกุม แม้จะเป็นหน้าที่ของผู้รักษากฎหมายที่ต้องทำ แม้นายกรัฐมนตรีไม่ได้ห้าม แต่ก็ส่งสัญญาณให้รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำในตอนนี้

“มีการถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่ ไม่เข้าไปปฏิบัติการ ขอชี้แจงว่า เมื่อเข้าไปแล้วมีแนวโน้มว่าจะเกิดการบาดเจ็บกระทบกระทั่ง ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะเมื่อเกิดการสูญเสียมาแล้วใครจะรับผิดชอบ หากไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องนี้ไม่ใช่ว่ากลัวหรืออะไรทั้งสิ้น แต่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ”

เกิดการกระทบกระทั่งคุ้มค่าหรือไม่ เกิดความสูญเสียจากการเข้าจับกุม เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียนั้น นี่คือสัญญาณจากผู้นำสูงสุดในเวลานี้

สรุปคดีของพระธัมมชโย ต้องยืดเยื้อเรื้อรังต่อไป

ถ้าการบุกเข้าจับกุมจะทำให้เกิดการกระทบกระทั่ง จะเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย

บางทีการไม่ยืนยันว่า พระธัมมชโย อยู่ในวัดพระธรรมกายหรือไม่ ตามหาตัวไม่พบ หรือว่าหลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้

ต้องรอดูว่าบทสรุปของคดีพระธัมมชโยจะเป็นไปในทิศทางที่ว่านี้หรือไม่


You must be logged in to post a comment Login