- อย่าไปอินPosted 8 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ซีรี่ส์ยาว20ปี
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้โฟกัสไปอยู่ที่การจับตัวพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายมาดำเนินการคดีหลังอัยการมีคำสั่งฟ้องข้อหารับของโจรและฟอกเงิน เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้รับผิดชอบในการจับกุมตัวอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และตำรวจยังเงื้อง่าราคาแพง เลื่อนเส้นตายการเข้าจับกุมตัวไปเรื่อยๆ เพราะต้องการเจรจาให้เข้ามอบตัวมากกว่าใช้กำลังบุกจับเนื่องจากรู้ดีว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง ซึ่งเสี่ยงต่อการทำให้เรื่องบานปลาย
เรื่องจับตัวพระธัมมชโยจึงจะเป็นที่ประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไปยาวๆ
แต่เรื่องทำท่าว่าจะยาวกว่าการจับกุมตัวพระธัมมชโยคือเรื่องที่ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อย่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ออกมาขู่รัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งว่าหากไม่ทำตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่จะเขียนเอาไว้ให้เดินจะถือว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ
แม้กรณีไม่เดินตามยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดจะไม่มีบทลงโทษไว้โดยตรง แต่ก็มีบทลงโทษจากการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญไว้ทางอ้อม ซึ่งก็ถือว่ามีความผิดอยู่ดี
เรื่องยุทธศาสตร์ 20 ปี จึงเป็นสภาพบังคับที่รัฐบาลใหม่ต้องเดินตามอย่างไม่มีข้อแม้ เพราะจะออกเป็นกฎหมายไว้อย่างชัดเจน
หลายคนอาจสงสัยว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะมาจากไหน
คำตอบคือมาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ เท่ากับว่าให้ฝ่ายข้าราชการประจำเป็นผู้กำหนดนโยบายให้ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเดินตาม
ขณะนี้กฎหมายฉบับที่ว่ายังไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนว่าจะมีเนื้อหาหน้าตาเป็นอย่างไร จะกำหนดรายละเอียดในสิ่งที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องทำตามไว้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตามกำหนดแล้วกฎหมายฉบับนี้จะต้องออกมามีสภาพบังคับใช้ภายใน 120 หลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้
ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญได้ถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตามขั้นตอนมีระยะเวลาให้ทรงวินิจฉัย 90 วัน แล้วแต่ว่าจะทรงโปรดเกล้าฯลงมาเมื่อไหร่ เมื่อโปรดเกล้าฯลงมาแล้วคงจะได้เห็นความคืบหน้าในการทำยุทธศาสตร์ชาติมากขึ้น
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หนึ่งในแกนนำพรรคเพื่อไทย แสดงความเป็นห่วงต่อเรื่องนี้ โดยตั้งคำถามว่าหากยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ 20 ปีมีความผิดพลาด หรือไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในอนาคตจนทำให้ประเทศล้าหลังเกิดความเสียหายจะทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ
“หากวางแผนเอาไว้ผิด รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องเดินตามแผนที่ผิดพลาดนั้นหรือไม่ ยกตัวอย่างหลายเรื่องที่รัฐบาลนี้บริหารผิดพลาดจนเศรษฐกิจถดถอย ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ประชาชนตกงานมากขึ้น รัฐบาลชุดนี้ก็ทำเป็นแค่แจกเงินให้ประชาชนนำไปใช้สอยเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าจะให้เดินตามก้นจะไม่พากันลงเหวกันหมดทั้งประเทศหรืออย่างไร แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีที่รัฐบาลชุดนี้วางไว้และใช้มาร่วม 3 ปี ก็ยังไม่เอาไหน เหลือเวลาอีก 2 ปี จะครบ 5 ปี จะแก้เศรษฐกิจได้จริงหรือ ขอให้พวกท่านได้กลับไปคิดไตร่ตรอง”
แม้จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม เป็นคนละขั้วทางการเมือง แต่คำถามของอดีตรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยถือว่าน่าสนใจและนักการเมืองทุกฝ่าย ทุกพรรค นักวิชาการ ประชาชน จะต้องร่วมกันตั้งคำถามกับรัฐบาลทหาร คสช.เรื่องกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีให้มากขึ้น เพราะถือเป็นความเสี่ยงที่คนไทยทุกคนต้องเผชิญร่วมกันในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ฝ่ายถืออำนาจในปัจจุบันคงไม่เปลี่ยนใจเรื่องกำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปีเป็นมรดกเอาไว้ให้รัฐบาลใหม่เดินตามแน่นอนแล้ว แต่อยากให้การเขียนบทซีรี่ส์ยาว 20 ปีให้ฝ่ายการเมืองต้องเล่นตามนี้เปิดกว้างในการรับฟังความเห็นมากกว่าที่จะให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติเป็นผู้เขียนบทเพียงหน่วยงานเดียว
สำคัญที่สุดคืออย่าปิดประตูล็อกกุญแจบังคับว่าต้องเล่นตามบทที่เขียนเอาไว้เท่านั้น ต้องเจาะช่องทางออกฉุกเฉินเอาไว้ป้องกันความเสียหายจากความผิดพลาดของแผนงานที่กำหนดไว้ยาว 20 ปี เพราะคงไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนหยั่งรู้อนาคตว่าใน 20 ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน
คงไม่ต้องถึงขนาดให้ทำประชามติล้มแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี เพราะบทที่จะบังคับให้เล่นตาม 20 ปีก็ไม่ได้ผ่านการทำประชามติถามความเห็นชอบจากประชาชน แต่ใช้วิธีลักไก่มัดมือชกเหมารวมเอาว่าเป็นส่วนหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติเห็นชอบจากประชาชน
You must be logged in to post a comment Login