- ปีดับคนดังPosted 16 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
สาวพ่นพิษ / โดย ศิลป์ อิศเรศ
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
พยาบาลตรงเข้ากลุ้มรุมผู้ป่วยสาวในห้องฉุกเฉิน สัญญาณชีพจรเธออ่อนมาก เครื่องช่วยหายใจถูกครอบบนใบหน้า ขณะที่พยาบาลอีกคนทำการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจ ทันใดนั้นเองก็มีกลิ่นฉุนโชยออกมาจากแผลเจาะเลือด พยาบาล 5 คนที่รายล้อมข้างเตียงผู้ป่วยล้มป่วยโดยทันที
เรื่องจริงที่เกิดขึ้นพิสดารพันลึกยิ่งกว่านิยายแฟนตาซี จนผู้สร้างทีวีซีรี่ส์เรื่อง The X-Files นำไปใช้เป็นพล็อตเรื่องตอนหนึ่งในซีซั่นแรก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลริเวอร์ไซด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย
คืนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1994 เวลาประมาณ 20.15 น. รถพยาบาลรับตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน กลอเรีย รามิเรซ วัย 31 ปี มาส่งยังห้องฉุกเฉิน เธอยังคงมีสติ แต่ตอบสนองช้า พูดตะกุกตะกักและแผ่วเบา
พยาบาลครอบเครื่องช่วยหายใจให้ แต่หัวใจของเธอเต้นเร็วมากจนพยาบาลปั๊มอากาศเข้าเครื่องช่วยหายใจไม่ทัน ความดันตกอย่างรวดเร็ว เป็นอาการที่พยาบาลเคยพบเห็นมาก่อน แต่พบในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ไม่ใช่กับคนอายุน้อยเช่นกลอเรีย
พยาบาลคนหนึ่งฉีกเสื้อยืดของผู้ป่วย วางแผ่นรองบนหน้าอกผู้ป่วย ขณะที่พยาบาลอีกคนเตรียมเครื่องปั๊มหัวใจ ในจังหวะนั้นเองผู้ที่อยู่ในห้องฉุกเฉินสังเกตเห็นว่าผิวของเธอเหมือนถูกชโลมด้วยน้ำมัน
กลิ่นฉุนคล้ายกระเทียมโชยออกมาจากลมหายใจผู้ป่วยขณะที่พยาบาลอีกคนกำลังเจาะแขนข้างขวาเพื่อนำเลือดไปตรวจ พลันกลิ่นฉุนก็รุนแรงมากยิ่งขึ้น พยาบาลซูซาน เคน กล่าวว่ากลิ่นฉุนเหมือนแอมโมเนีย
กลิ่นมรณะ
ซูซานส่งเข็มเจาะเลือดให้แพทย์หญิงจูเลีย กอร์ชินสกี้ เธอสังเกตเห็นอนุภาคสีเหลืองอ่อนปะปนอยู่ในเลือดผู้ป่วย ขณะที่ซูซานเกิดอาการวิงเวียนศีรษะผลักประตูห้องเดินโซเซก่อนจะล้มลงหมดสติหน้าห้องฉุกเฉิน
หลังเจาะเลือดเสร็จ จูเลียรู้สึกวิงเวียนศีรษะ เธอขอตัวออกจากห้องฉุกเฉินเดินมายังเคาน์เตอร์เจ้าหน้าที่ เพื่อนร่วมงานเข้ามาถามว่าเธอเป็นอะไรหรือเปล่า ไม่ทันที่จูเลียจะอ้าปากตอบก็ล้มหมดสติไปอีกคน
พยาบาลมัวรีน เวลช์ ได้ยินเสียงเอะอะโวยวายนอกห้องฉุกเฉินก่อนที่จะล้มลงหมดสติเป็นรายที่ 3 แพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน ฮัมเบอร์โต โอเชา สั่งอพยพทุกคนออกจากห้องฉุกเฉินและห้องโถงไปยังลานจอดรถหน้าโรงพยาบาลโดยทันที เหลือไว้แต่เพียงพยาบาล 2 คนที่กำลังช่วยยื้อชีวิตกลอเรีย
ความดันโลหิตของกลอเรียลดลงฮวบฮาบ สัญญาณชีพจรแทบไม่มี ฮัมเบอร์โตใช้เครื่องช็อกหัวใจเธอหลายครั้ง แต่มันไม่ตอบสนอง ในที่สุดเขาก็ประกาศการเสียชีวิตของกลอเรียเมื่อเวลา 20.50 น.
ไม่พบต้นตอ
พยาบาลนำร่างของกลอเรียไปยังห้องดับจิต หลังจากนั้นก็ออกมารวมกับคนอื่นที่ลานจอดรถ เนื่องจากเกรงว่าจะมีสารพิษปนเปื้อนอยู่ในห้องฉุกเฉิน ทุกคนจึงต้องถอดชุดชั้นในมาใส่ถุงรวมกัน
จูเลียมีอาการหยุดหายใจชั่วคราวเป็นระยะๆ ขณะที่ซูซานรู้สึกใบหน้าร้อนผ่าวและต้องบีบนวดแขนและขาตลอดเวลา พยาบาลแซลรี่ บัลเดราส์ ผู้นำร่างกลอเรียไปห้องดับจิตเกิดอาการคลื่นเหียนและแสบร้อนตามผิวหนัง
คืนนั้นมีเจ้าหน้าที่เข้าเวรทั้งสิ้น 37 คน มีคนป่วยจากเหตุการณ์นี้ 23 คน ในจำนวนนี้ 5 คนล้มป่วยรุนแรง ต้องรักษาตัวไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์
ราว 23.00 น. เจ้าหน้าที่หน่วยตรวจสารอันตรายเดินทางมาถึงโรงพยาบาล พวกเขาตรวจค้นอย่างละเอียดแต่ไม่พบวัตถุแพร่สารอันตรายใดๆ และไม่มีรอยรั่วจากท่อใดๆทั้งสิ้น
มืดแปดด้าน
หน่วยนิติเวชศาสตร์ไม่นิ่งนอนใจ พวกเขาสั่งปิดห้องฉุกเฉิน ห้ามใช้งานจนกว่าจะมีการตรวจค้นอย่างละเอียดอีกครั้ง แต่ผลลัพธ์ก็ไม่เปลี่ยนแปลง พวกเขาไม่พบวัตถุอันตรายหรือสิ่งที่จะก่อให้เกิดสารพิษภายในห้องฉุกเฉิน
การสืบสวนดำเนินอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนมีนาคม ในที่สุดก็ต้องกลับมาเริ่มต้นที่ร่างของกลอเรีย ตัวอย่างเนื้อเยื่อของเธอถูกส่งไปยังศูนย์วิจัยในเมืองแซคราเมนโต ซึ่งมีเครื่องมือทันสมัย
การสืบสวนดำเนินไปจนถึงปลายเดือนเมษายนโดยไม่พบสิ่งผิดปรกติใดๆทั้งสิ้น ในที่สุดวันที่ 25 เมษายน 1994 หน่วยนิติเวชศาสตร์แถลงข่าวสรุปว่ากลอเรียป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก ส่งผลให้เกิดอาการไตวาย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต
คำแถลงของหน่วยนิติเวชศาสตร์บอกแต่สาเหตุการเสียชีวิตของกลอเรีย แต่ไม่ได้บอกอะไรเลยเกี่ยวกับการแพร่กระจายสารพิษที่ทำให้มีคนล้มป่วยมากถึง 23 คน
อุปาทานหมู่
กระทรวงสาธารณสุขแถลงปิดคดีโดยบอกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอุปาทานหมู่ แต่จูเลียไม่เห็นด้วย เธอแต่งตั้งทนายดำเนินการฟ้องร้องโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนคดีกลอเรีย เรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 6 ล้านดอลลาร์
แม้ว่าศาลจะไม่รับฟ้องเพราะหน่วยงานเหล่านั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มป่วยของจูเลีย แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่ามีคนที่ไม่เห็นด้วยกับคำแถลงของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงพยาบาลมัวรีนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการสืบสวนที่ละเอียดกว่านี้
ไบรอัน แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย สั่งให้มีการรื้อแฟ้มคดีขึ้นมาตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง โดยให้แพท แกรนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีนิวเคลียร์รับหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล
แพทกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่กลอเรียจะใช้สารประเภท DMSO เพื่อระงับความเจ็บปวดจากโรคร้าย และมันก็ไปทำปฏิกิริยาเคมีกับครีมทาผิวหรือออกซิเจนที่หน่วยปฐมพยาบาลสวมให้กับเธอตอนที่อยู่บนรถพยาบาลและกลายเป็นสารพิษ
หากข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง แพทย์ก็ต้องตรวจพบสารพิษนี้ตอนที่ทำการชันสูตร ที่สำคัญคือมันเป็นเพียงแค่การตั้งข้อสันนิษฐานเท่านั้น ขณะที่นักเคมีหลายคนไม่เห็นด้วยและคิดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำไป
แม้ว่าการสืบสวนหาสาเหตุในครั้งนั้นจะใช้งบประมาณมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การสืบสวนทางการแพทย์ แต่ก็ยังไม่พบคำตอบ อะไรที่ทำให้นางพยาบาลหลายคนล้มป่วยพร้อมๆกันยังคงเป็นปริศนา
You must be logged in to post a comment Login