- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ปัญหารอบตัว‘ทรัมป์’? / โดย ณ สันมหาพล
คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล
โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ เริ่มทำงานแล้ว ท่ามกลางการจับตาของประเทศทั่วโลกว่าจะทำตามนโยบายที่หาเสียงหรือไม่ อย่างไร หรือจะมีอะไรพิสดาร เพราะคณะทำงานของทรัมป์หลายคนมีความคิดขวาสุดกู่
อย่างเช่นสตีเฟ่น แบนนอน ว่าที่หัวหน้านักยุทธศาสตร์และที่ปรึกษาอาวุโสทำเนียบขาว ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าคณะทำงานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของทรัมป์ เป็นเจ้าของเว็บไซต์ที่เป็นคัมภีร์คนอเมริกันขวาจัดคือ นอกจากรักชาติ ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี และมีนโยบายการพึ่งพาตัวเอง ยังมีนัยที่ต้องการให้คนอเมริกันผิวขาวรักความยุติธรรมและพร้อมที่จะแข่งขันทางการค้า
ทั่วโลกจึงจับตาการกำหนดนโยบายของทรัมป์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รวมทั้งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ โดยที่ผ่านมาไม่ยุ่งยาก เพราะทราบกันตั้งแต่หลังรู้ผลการเลือกตั้ง แต่ทรัมป์กลับยากที่จะหาคนที่เหมาะสมในตำแหน่งต่างๆ
ขณะที่ทรัมป์เองก็วางตัวไม่เหมือนว่าที่ประธานาธิบดีคนอื่นๆที่จะออกมาเปิดตัวกับประชาชนตามชุมชนสำคัญๆ รวมทั้งการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นระยะๆในฐานะผู้นำประเทศคนใหม่ แต่ทรัมป์กลับเก็บตัวเงียบภายในอาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ โดยใช้การติดต่อผ่านโทรศัพท์เพื่อปรึกษาการวางแผนการทำงานและการหาผู้ที่จะร่วมคณะรัฐมนตรี
ที่ถูกตำหนิมากคือ ทรัมป์ไม่เปิดให้สื่อมวลชนทำข่าวการพบกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ไปพบถึงห้องพัก และที่ถูกตำหนิหนักกว่านั้นคือ การอนุญาตให้อิวานก้า ทรัมป์ ลูกสาวคนโตร่วมพูดคุยด้วย และยังมีจาเร็ด คุชเนอร์ สามีอิวานก้า ร่วมในวงสนทนาด้วย
อิวานก้าเป็นผู้บริหารสูงสุดด้านอสังหาริมทรัพย์ของอาณาจักรทรัมป์ ส่วนลูกเขยเป็นที่ปรึกษาที่เชื่อว่ามีอิทธิพลกับทรัมป์มาก
ประเด็นคือ ทรัมป์กำลังก่อสร้างอาคารสูงในต่างประเทศ จึงถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะที่จะเอาธุรกิจของตนไปปนกับการเมือง และมีคำถามว่าเขารู้มารยาททางการเมืองนี้หรือไม่ คำตอบคือรู้ แต่ยังทำ แสดงว่าผิดปรกติ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆ เพราะชื่อที่ปรากฏออกมาล้วนเป็นบุคคลที่มีปัญหา อย่างเจฟฟ์ เซสซันส์ วุฒิสมาชิกจากรัฐแอละแบมา ที่จะได้เป็นรัฐมนตรียุติธรรม ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก แต่เซสซันส์ที่เป็นวุฒิสมาชิก 4 สมัย ถูกวิจารณ์อย่างมากเรื่องการเหยียดผิว และเมื่อ 30 ปีก่อนไม่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางอีกด้วย
ผู้ที่เคยร่วมงานกับเซสซันส์บอกว่า เซสซันส์ยอมรับกับที่ประชุมวุฒิสภาว่าเขาเคยพูดเหยียดคนผิวดำ ซึ่งก่อนที่ชื่อของเซสซันส์จะถูกประกาศให้เป็นรัฐมนตรียุติธรรม คณะทำงานเปลี่ยนผ่านของทรัมป์ได้พิจารณาผู้ที่สมควรได้รับตำแหน่งนี้หลายคน แต่ก็มีประวัติที่มีปํญหา
อย่างแพม บานดี้ รัฐมนตรียุติธรรมรัฐฟลอริดา เมื่อ 3 ปีที่แล้วเคยได้รับของขวัญมูลค่า 25,000 เหรียญจากมูลนิธิการกุศลทรัมป์ หลังจากมีข่าวว่าเธอกำลังพิจารณาจะฟ้องทรัมป์ในข้อหาเปิดมหาวิทยาลัยหลอกเงินนักศึกษา ซึ่งทรัมป์เพิ่งจ่ายค่าปรับ 2,500 เหรียญให้สรรพากร
สรุปว่าตำแหน่งรัฐมนตรีของทรัมป์ล้วนมีประวัติที่อื้อฉาวหลายคน การแต่งตั้งผู้ที่จะร่วมทำงานในทำเนียบขาวของทรัมป์จึงอาจไม่ราบรื่น แม้แต่ไรนซ์ พรีบัส ที่จะเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ก็มีประวัติการทำงานทางการเมืองที่มีบุคลิกประนีประนอมและยอมอ่อนข้อกับการต่อรอง จึงมีโอกาสที่จะถูกครอบงำ
คำถามคือ เป็นความปรารถนาของทรัมป์หรือไม่เพื่อให้นโยบายขวาจัดของเขาได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่ ซึ่งยังมีพลโทไมเคิล ฟลินน์ ที่จะเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งที่มีประวัติในเชิงไม่ดีต่อศาสนาอิสลามหลายกรณี
จึงไม่แปลกที่ทรัมป์ประกาศจะให้สหรัฐถอนตัวออกจากการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ทันทีหลังเป็นประธานาธิบดี ซึ่งจะส่งผลกระทบมากมายต่อสหรัฐและประเทศคู่เจรจา โดยนโยบายของทรัมป์ต้องการให้สหรัฐอยู่แบบยืนบนลำแข้งของตนเอง ไม่มีการแบ่งปันความเจริญระหว่างกัน
จึงต้องจับตาว่าทรัมป์จะประกาศเรื่องอะไรที่แปลกพิสดารออกมาอีก!
You must be logged in to post a comment Login