- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
จะแก้อย่างไร? / โดย ลอย ลมบน
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน
ความจริงเศรษฐกิจไทยนอกจากจะถูกตีแผ่จากนโยบายแจกเงินคนจน และจะตามมาด้วยการลดภาษีช็อปปิ้งช่วยชาติแล้ว ยังถูกตีแผ่จากตัวเลขการส่งสินค้าออกด้วย
เป็นที่ทราบกันว่าการส่งสินค้าออกนั้นเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งตัวเลขการส่งออกสินค้านั้นสามารถบ่งชี้สภาพของภาคอุตสาหกรรมแต่ละตัวได้เป็นอย่างดี
จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีมูลค่าอยู่ที่ 17,738 ล้านดอลลาร์ หรือติดลบ 4.2% โดยเป็นการลดลงของทั้งกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบ ทองคำ และเหล็ก รวมถึงสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ น้ำตาลทราย ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และยางพารา
ส่วนภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ พบว่ามีการส่งออกรวมมูลค่า 178,251 ล้านดอลลาร์ หรือมีอัตราติดลบอยู่ที่ 1%
แม้ตัวเลขนี้จะแสดงให้เห็นว่าภาวะการส่งออกของไทยดีกว่าภาพรวมของการส่งออกทั้งโลกที่ติดลบ 4.1% แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตัวนี้ยังไม่อาจเดินหน้าได้เต็มที่
เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของสินค้าแต่ละชนิดที่ไทยส่งออก พบว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ซึ่งลดลงถึง 2.7% จากมูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปติดลบ 27.6% คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบติดลบ 9.3% ทองคำติดลบ 40% และรถยนต์และส่วนประกอบติดลบ 5.8%
ไม่ต่างจากมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่กลับมาหดตัวอีกครั้งหลังจากขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยหดตัว 8.1% เป็นผลจากการลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ น้ำตาลทรายลดลง 52.6% ข้าวลดลง 24.4% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลง 22.9% และยางพาราลดลง 5.0%
แม้จะมีคำปลอบใจว่าสถานการณ์การส่งออกของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนแบ่งตลาดของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นในเกือบทุกตลาด และการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น จีน เอเชียใต้ และ CLMV ยังคงขยายตัว ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์การส่งออกปี 2559 ไว้ที่ -1.0-0% แต่ตัวเลขการส่งออกสินค้าแต่ละชนิดก็บ่งชี้ทิศทางของเศรษฐกิจภายในประเทศที่จะเป็นไปนับจากนี้ได้ดีพอสมควร
หากดูตามตัวเลขการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนมากอย่างสินค้าทางการเกษตรจะพบว่าการส่งออกลดลงทุกชนิด โดยน้ำตาลทรายลดลง 52.6% ข้าวลดลง 24.4% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลง 22.9% และยางพาราลดลง 5.0%
หมายความว่าราคาอ้อยจะไม่ดีขึ้นไปกว่านี้ ราคาข้าวจะไม่ดีขึ้นไปกว่านี้ ราคามันสำปะหลังจะไม่ดีขึ้นไปกว่านี้ และราคายางพาราจะไม่ดีขึ้นไปกว่านี้
เกษตรกรที่ปลูกข้าว ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกยางพารา ยังมองไม่เห็นอนาคตของตัวเองว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบันได้อย่างไร ครั้นจะหันไปขายแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็เป็นเรื่องยากเมื่อสภาพการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมนั้นอยู่ในภาวะที่ตกต่ำไม่ต่างกัน
ภาพการขายสินค้าเกษตรไม่ได้ราคา ภาพการเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรมต่างๆจึงจะยังมีอยู่ต่อไป ถือเป็นการท้าทายทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นอย่างมากว่าจะแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างไร
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้หลายมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในทุกภาคส่วน ทำมาทุกวิธีแล้วแต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น การอธิบายว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดีเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดีก็เป็นเหตุผลที่พอรับฟังได้
การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศตอนนี้ดูเหมือนว่าเหลือเครื่องจักรสำคัญเครื่องเดียวที่ต้องทำงานหนัก นั่นคือการลงทุนภาครัฐ แต่โครงการใหญ่ๆหลายโครงการที่วางไว้ก็ยังเดินหน้าได้ไม่เต็มที่
การแจกเงินผู้มีรายได้น้อยแม้จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย แต่ยังมีคำถามว่าคุ้มค่ากับงบประมาณที่จ่ายไปหรือไม่ เพราะเป็นการให้เปล่า หากคนที่ได้รับเอาไปใช้หนี้หรือเก็บสะสมไว้เพื่อเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตัวเองจะได้ผลอย่างที่ต้องการหรือไม่
เมื่อดูทิศทางของตลาดโลก ทิศทางการส่งออกสินค้าของไทยแล้ว ต้องยอมรับความจริงว่าสภาพเศรษฐกิจของไทยจะซึมเป็นไก่ป่วยไปอีกนาน และจะมีผลกระทบต่อประชาชนขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ
ถือเป็นวิกฤตใหญ่กระทบต่อคนทั้งชาติที่ท้าทายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทหาร คสช. เป็นอย่างยิ่ง
You must be logged in to post a comment Login