- อย่าไปอินPosted 4 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 23 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 ถือเป็นวันมหามงคลและปลื้มปีติของปวงชนชาวไทยทั้งแผ่นดิน โดยเมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีและ คสช. เพื่อพิจารณาวาระพิเศษ สืบเนื่องจากนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งนัดประชุม สนช. วาระพิเศษ เพื่อพิจารณาระเบียบวาระการประชุมตามที่ได้รับแจ้งจากคณะรัฐมนตรีในเวลา 11.00 น.
“…คณะรัฐมนตรีจึงแจ้งมายังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานรัฐสภาเพื่อทราบว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระรัชทายาทที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งไว้แล้ว ตามความในมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 และทรงสถิตอยู่ในที่พระรัชทายาทสืบมาจนถึงปัจจุบัน…”
เวลา 11.20 น. นายพรเพชรได้แจ้งระเบียบวาระในที่ประชุมว่า การดำเนินการตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามที่ได้มีประกาศสำนักพระราชวังเรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต
บัดนี้นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร.0503/44549 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 แจ้งเรื่องการสถาปนาแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้วตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ความว่า บัดนี้ราชบัลลังก์ว่างลง และพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467
ที่ประชุม สนช. จึงกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนชาวไทยสืบไป ตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
นายพรเพชรกล่าวว่า “ในโอกาสอันเป็นมหามงคล ขอให้ท่านสมาชิก สนช. ยืนขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่ ขอได้โปรดกล่าวคำถวายพระพร”
หลังจากนั้นสมาชิก สนช. ได้ยืนขึ้นและกล่าวถวายพระพร “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ” กึกก้องทั่วที่ประชุม จากนั้นนายพรเพชรจึงสั่งปิดการประชุมเวลา 11.25 น.
บันทึกประวัติศาสตร์
หนังสือที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามถึงประธาน สนช. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 เพื่อแจ้งเรื่องการสถาปนาแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้วตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 มีใจความดังนี้….
ตามที่มีประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสวรรคต ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 นั้น ถือว่าเป็นกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และจำเป็นต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ในเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับขั้นตอนดังกล่าวในส่วนของรัฐบาลไว้ก่อน เพื่อสนองพระราชดำริในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ว่า ยังไม่สมควรดำเนินการใดที่แสดงถึงการมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ในระหว่างที่ประชาชนอยู่ในภาวะทุกข์โศกและยากจะทำใจ พระองค์เองก็ทรงขอเวลาร่วมทุกข์และทำใจเช่นเดียวกับประชาชนจนกว่าการพระราชพิธีพระบรมศพจะผ่านพ้นไประยะหนึ่ง ซึ่งมีพระราชดำริว่าเมื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานผ่านพ้นจนถึงปัญญาสมวาร (ครบ 50 วัน) คือวันที่ 1 ธันวาคม 2559 แล้ว จึงค่อยพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งในระหว่างเวลานั้นรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีข้อขัดข้องใดๆในราชการบ้านเมือง
บัดนี้ การพระราชพิธีพระบรมศพได้ล่วงเลยเวลาบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน จนเข้าเขตปัญญาสมวาร ทั้งประชาชนก็มีโอกาสเข้าถวายบังคมพระบรมศพแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2559 ถึงบัดนี้ ประมาณ 1 เดือน มีจำนวนประมาณ 1 ล้านคน รัฐบาลจึงนำความกราบบังคมทูลว่า นับเป็นกาลอันสมควรดำเนินการต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามราชประเพณีและรัฐธรรมนูญ อันจะยังความปลื้มปีติและสร้างขวัญกำลังใจแก่พสกนิกร ซึ่งทรงทราบฝ่าละอองพระบาทแล้ว
โดยที่การสืบราชสมบัติต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ซึ่งมาตรา 2 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้กำหนดให้นำบทบัญญัติในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาใช้บังคับ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 ดังนั้น การสืบราชสมบัติจึงต้องเป็นไปตามความในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวบัญญัติว่า
“ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ”
คณะรัฐมนตรีจึงขอแจ้งมาเพื่อทราบว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ท่ามกลางมหาสมาคม ประกอบด้วย พระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ข้าราชการ ทหาร พลเรือน และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อมาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ตรัสถวายสัตย์ปฏิญาณสาบานในการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้วยแล้ว
ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ วันที่ 28 ธันวาคม 2515 เล่ม 89 ตอนที่ 200 มีความตอนหนึ่งว่า
“ก็โดยราชนีติอันมีมาในแผ่นดินนั้น เมื่อสมเด็จพระบรมราชโอรสซึ่งจะทรงรับรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ทรงพระเจริญวัยสมควรแล้ว ย่อมโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระอิสริยยศ ตั้งแต่งไว้ในตำแหน่งสมเด็จพระยุพราชมกุฎราชกุมาร ในกาลปัจจุบันนี้ประชาชนทั้งหลายตลอดถึงชาวต่างประเทศทั่วไปในโลกย่อมพากันนิยมยกย่องว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ ทรงอยู่ในฐานะที่จะรับราชสมบัติปกครองราชอาณาจักรสืบสนองพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นเล่าก็ทรงพระเจริญพระชนมายุบรรลุนิติภาวะ ทรงพระวีรยภาพและพระสติปัญญาสามารถที่จะรับภาระของแผ่นดินตามพระอิสริยศักดิ์ได้ ถึงสมัยที่จะสถาปนาเป็นองค์รัชทายาท ควรทรงอนุวัตรให้เป็นไปตามธรรมนิยมและขัตติยราชประเพณี ตามความเห็นชอบเห็นดีของมหาชน และผู้บริหารประเทศทุกฝ่าย เฉลิมพระเกียรติยศขึ้นให้สมบูรณ์ตามตำแหน่งทุกประการ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร”
อนึ่ง ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า “พระรัชทายาท” คือ เจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์ พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสมมุติขึ้น เพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป และมาตรา 4 (2) บัญญัติว่า “สมเด็จพระยุพราช” คือ พระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยพระราชทานยุพราชาภิเษก หรือโดยพิธีอย่างอื่นสุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งในวันที่ 28 ธันวาคม 2515 นั้น เป็นตำแหน่งเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทย เมื่อ พ.ศ. 2429 และสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2437 ซึ่งต่อมาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงรับราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร จึงเป็นตำแหน่งพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลดังกล่าว และตามที่รัฐธรรมนูญระบุถึง
ดังนั้น เมื่อได้พิจารณาตามประวัติศาสตร์ ข้อกฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาและโบราณราชนิติประเพณีแล้ว โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญบรรดาที่มีมาทุกฉบับตั้งแต่ พ.ศ. 2534 จนกระทั่งถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ เห็นได้ว่าล้วนแต่วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ไว้เป็นแบบแผนเดียวกัน
คณะรัฐมนตรีจึงแจ้งมายังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานรัฐสภาเพื่อทราบว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระรัชทายาทที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งไว้แล้ว ตามความในมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และทรงสถิตอยู่ในที่พระรัชทายาทสืบมาจนถึงปัจจุบัน
พระราชประวัติ
สำหรับพระราชประวัติสังเขป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2495 เวลา 17 นาฬิกา 45 นาที ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง จัตวาศก อธิกวาร จุลศักราช 1314 นับเป็นปีที่ 7 แห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
เป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ 1 พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระนาม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งถวายตามดวงพระชะตาว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”
โดยทรงอธิบายว่าเป็นพระมงคลนามตามพระราชตระกูล คือได้อัญเชิญพระนามฉายาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระไปยิกาธิราช ซึ่งปรากฏในขณะทรงผนวชว่าวชิรญาณะ ผนวกกับอลงกรณ์ จากพระนามจุฬาลงกรณ์ของรัชกาลที่ 5
ด้านการศึกษา พุทธศักราช 2499 ทรงศึกษาขั้นต้นระดับอนุบาล รุ่นที่ 2 จากโรงเรียนจิตรลดา จากนั้นทรงศึกษาต่อระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และทรงศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์สกูล ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา และทรงศึกษาต่อระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (ด้านการทหาร) มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทยทรงรับราชการทหาร แล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อพุทธศักราช 2520 ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พุทธศักราช 2525 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) และพุทธศักราช 2533 ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯทรงผนวชเมื่อวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2521 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วเสด็จฯไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช
สำหรับพระราชกรณียกิจด้านการบิน เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2525-2526 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเปลี่ยนเป็นเครื่องบินขับไล่ แบบเอฟ-5 (พิเศษ) และหลักสูตรเครื่องบินขับไล่ชั้นสูง รุ่นที่ 83 เอวีดับบลิว ณ ฐานทัพอากาศวิลเลียมส์ รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา รวมชั่วโมงบิน 2,000 ชั่วโมง
พุทธศักราช 2532 ทรงผ่านการฝึกบินด้วยเครื่องบินใบพัด แบบมาร์คเคตตี้ของฝูงขั้นปลาย โรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ และการฝึกบินด้วยเครื่องบินไอพ่น แบบที 33 และหลักสูตรนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูงกับเครื่องบินขับไล่ แบบเอฟ 5 อี/เอฟ ของกองบิน 1 ฝูงบิน 102 โดยทรงทำชั่วโมงบิน 200 ชั่วโมงในเบื้องต้น และทรงทำชั่วโมงบินสูงสุด 1,000 ชั่วโมง
เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2547 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการบินในฐานะนักบินโบอิ้ง 737-400 จากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และทรงผ่านการตรวจสอบจากการขนส่งทางอากาศ กับทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก
เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2548 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรกัปตัน จากบริษัทการบินไทย ทรงรับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตำแหน่งนักบินที่ 1 ในพุทธศักราช 2549 ซึ่งทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 อย่างดีเยี่ยมสม่ำเสมอ รวมชั่วโมงบิน 3,000 ชั่วโมง
พระรัชทายาท
เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ ให้ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตามโบราณขัตติยราชประเพณี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 มีพระนามาภิไธยตามจารึกพระสุพรรณบัฏว่า
“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”
ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ดังประกาศระหว่างพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณในการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ความว่า
“ข้าพเจ้าผู้เป็นสยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่างโดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”
พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระรัชทายาทที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งไว้แล้ว ตามความในมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และขึ้นทรงราชย์เป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ของประชาชนชาวไทย เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลตั้งแต่คืนวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 11 พุทธศักราช 2559 ตรงกับปีวอก ที่จุลศักราช 1379 มหาศักราช 1938 ในรัชสมัยรัตนโกสินทร์ศก 235 เป็นวันที่ 1 ปีที่ 1 ของรัชกาลปัจจุบัน
ทั้งนี้ จะไม่ขานคำว่า “พระบาท” นำหน้าพระนาม “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระองค์ใหม่จนกว่าจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
You must be logged in to post a comment Login