วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ความคุ้มค่าในการลงทุน? / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On December 8, 2016

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นั้นเราต้องทำให้คุ้มค่า หาไม่ก็ไม่ควรลงทุน เราจะมีวิธีคิดอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่า การคิดถึงความคุ้มค่าไม่ใช่การมักมากหรือตะกละตะกลามมุ่งหวังผลประโยชน์ใส่ตน ไม่ใช่การไปปล้นชิงทรัพย์จากผู้ใด และที่สำคัญไม่ใช่เรื่องการทำบาปกรรมใดๆทั้งสิ้น

การลงทุนใดที่ไม่คุ้มค่า ขาดทุน ย่อมสร้างความเดือดร้อนแก่ตนเอง ครอบครัวและบริวารพลอยไม่เจริญก้าวหน้าไปด้วย สังคมไม่ควรสับสนกับการทำดี ทำการกุศลที่มุ่งจะให้ และไม่ได้ทำการค้า ในทางโลกเราควรทำการค้าที่เป็นธรรม แต่ให้ได้กำไรที่สมควร และหาทางคืนกำไรเพื่อสังคมตามจิตอาสาจึงจะถูก

ขอยกตัวอย่างที่กำลังกล่าวขวัญกัน นั่นคือการเชิญคุณเบส-อรพิมพ์ รักษาผล ไปบรรยายเทิดพระเกียรติ 4 เมืองในสหรัฐอเมริกา เป็นการใช้เงินที่คุ้มค่าหรือไม่เพียงใด แต่ไม่ได้มีอคติใดๆกับเธอ เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมเขียนใน facebook ของผม (https://goo.gl/RuQbl3) ว่า

ถามราชการที่จ้างคุณเบสไปพูดที่อเมริกา 1.คุณจ้างเขาราคาเท่าไร เลี้ยงดูอีกเท่าไร 2.ในคณะมีเจ้าหน้าที่ติดตามไปกี่คน 3.นั่งเครื่องบินชั้นอะไร นอนโรงแรมสุดหรูไหม 4.รวมค่าใช้จ่ายเป็นเงินเท่าไร และ 5.มีคนฟังกี่คน

เอาเงินมหาศาลนี้ไปทำดีช่วยคนจนจะเป็นการเทิดพระเกียรติที่ดีกว่าใช้เงินเช่นนี้ไหม สมมุติงานนี้เสียเงินไป 20 ล้านบาท มีคนฟังรวม 2,000 คน เท่ากับต้นทุนคนละ 10,000 บาท ราชการใช้เงินคุ้มค่าหรือไม่

รัฐใช้งบเทิดพระเกียรติปีละ 17,200 ล้านบาท (http://bit.ly/2edAiGQ) สูงกว่างบหลายกระทรวง ทั้งที่คนไทยล้วนรักสถาบัน ทำไมใช้มากเช่นนี้ ผิดหลักพอเพียงไหม ฟุ่มเฟือยไปไหม ใช้ไปทางไหนบ้าง ตรวจสอบได้ไหม

ป.ล. เป็นการเหมาะสมหรือที่เอา “นักพูดร้อยศพ” (ที่พูดหน้างานศพให้คนร้องไห้กับคนตายได้ แม้คนพูดจะไม่รู้จักคนตายสักแอะ โดยการดราม่าต่อเติมเสริมแต่งเข้าไป) มาพูดเทิดพระเกียรติ (https://goo.gl/b2XGQB)

กรณีนี้ผมมุ่งชี้ให้เห็นความคุ้มค่าโดยสมมุติว่า ถ้างานนี้เสียเงินไป 20 ล้านบาท มีคนฟังรวม 2,000 คน เท่ากับต้นทุนคนละ 10,000 บาท จากภาพที่เห็นในข่าวของหนังสือพิมพ์มติชนเชื่อว่าคงไม่ถึง 500 คนที่มานั่งฟังการบรรยายในเมืองแรก หากรวม 4 เมืองที่เธอไปบรรยายก็น่าจะไม่ถึง 2,000 คนตามที่คาดการณ์ไว้ กรณีนี้ชี้ให้เห็นได้พอสมควรว่าการลงทุนให้เธอไปบรรยายที่สหรัฐอเมริกาในครั้งนี้อาจไม่คุ้มค่า

สมมุติถ้าหากคิดในเชิงธุรกิจ ก็คงไม่มีใครตีตั๋วคนละ 10,000 บาท มาฟังเธอพูดเรื่องนี้อย่างแน่นอน อย่าว่าแต่ 10,000 บาทเลย 1,000 บาท ก็คงจะเป็นไปได้ยาก ข้อนี้อย่าคิดในเชิงอคติหรืออกุศลนะครับ เรื่องเทิดพระเกียรติเป็นของสูงส่งยิ่ง แต่การลงทุนเชิญเธอไปพูดเรื่องนี้เป็นเงินมหาศาล เป็นสิ่งที่พึงทบทวนในแง่มุมของการลงทุน

ถ้าเรามีเงินคนละ 1,000 บาท หรือ 10,000 บาท แล้วตั้งใจจะทำดีเพื่อพ่อ เราจะเอาเงินนี้ไปซื้อบัตรฟังเธอพูดทำไม เรานำเงินจำนวนนี้ไปทำกิจกรรมเทิดพระเกียรติด้วยการไปช่วยคนยากไร้ ช่วยพัฒนาสังคม จะทำให้ประชาชนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นมากกว่าที่ทำกันอยู่แบบนี้

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เรายังเห็นเธอออกไปตระเวนพูด แต่การใช้เงินงบประมาณจำนวน 17,200 ล้านบาทนั้น สูงกว่างบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งกระทรวงอื่นๆอีก 6-7 กระทรวง จึงเป็นประเด็นที่พึงพิจารณาเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและสถาบันที่พวกเราเคารพ

อย่างที่ทางราชการบอกไว้ว่า คนดีย่อมไม่กลัวกฎหมาย ย่อมไม่กลัวการตรวจสอบ ผมก็พูดในฐานะพลเมืองดีเท่านั้นเองครับ

โดยนัยนี้ความคุ้มค่าในการลงทุนใดๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ จึงพิจารณาได้ง่ายๆโดยไม่ต้องคำนวณอะไรให้ยุ่งยากในเบื้องต้นดังนี้

1.จะมีคนซื้อ คนใช้บริการตามที่เรามีค่าใช้จ่ายต้นทุนหรือตามมูลค่างานหรือไม่ เช่น เราสร้างตึกแถวขึ้นมาชุดหนึ่ง ต้นทุน 5 ล้านบาท บวกกำไรสุทธิที่สมควรเข้าไปอีก 500,000 บาท ขาย 5.5 ล้านบาท จะมีคนซื้อหรือไม่ เราตั้งราคาสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง

2. ถ้าเราไม่ลงทุนทำตึกแถว เอาเงินไปสร้างไปทำอย่างอื่น เช่น ทาวน์เฮาส์ หรือบ้านเดี่ยว จะเหมาะสมกับตลาดยิ่งกว่า จะมีผู้ซื้อมากกว่า จะได้กำไรมากกว่าหรือไม่

3. สิ่งที่เราสร้าง เราทำอยู่นั้น จะสามารถต่อยอดทางธุรกิจยิ่งขึ้นหรือไม่ หรือทำแล้วทุนหายกำไรหด ไม่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับเราเท่าที่ควร แทนที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของก้าวถัดไปในอนาคตกลับทำให้เราถดถอยหรือไม่ เป็นต้น

ผู้คิดลงทุนใดๆจึงพึงคิดให้รอบคอบ ยิ่งการใช้เงินที่ไม่ใช่ของเราแต่มาจากภาษีอากรของประชาชนยิ่งต้องคิดให้ดี หาไม่สิ่งที่คิดว่าเป็นการทำดีอาจจะเป็นการทำบาป ขอทุกท่านโปรดไตร่ตรอง


You must be logged in to post a comment Login