วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อนาคตม็อบ?

On December 12, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หนึ่งในกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญ ซึ่งมีผลต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปีหน้าได้ถูกเผยโฉมออกมาแล้วคือร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ยกร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองมีทั้งหมด 10 หมวด 129 มาตรา

ข้อกำหนดที่น่าสนใจคือ การตั้งพรรคการเมืองจะต้องเริ่มต้นจากคนไม่น้อยกว่า 500 คน และต้องจ่ายเงินเป็นทุนในการตั้งพรรคไม่น้อยกว่าคนละ 2,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อตั้งพรรคมาแล้วปีแรกต้องหาสมาชิกให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน และภายใน 4 ปี ต้องหาสมาชิกให้ได้ไม่น้อยกว่า 20,000 คน นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ต้องมีที่ทำการสาขาพรรค ภาคละ 1 แห่ง ต้องมีตัวแทนพรรคประจำทุกจังหวัดไม่น้อยกว่าจังหวัดละ 100 คน

ข้อกำหนดนี้บังคับใช้ทั้งพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่และพรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่แล้ว

ส่วนหน้าที่ของพรรคการเมืองตามกฎหมายใหม่กำหนดไว้ว่า จะต้องเสริมสร้างให้สมาชิกพรรค และประชาชนเข้าใจระบอบประชาธิปไตย ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้อง เสนอแนวทางพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างมีเหตุผล ส่งเสริมให้ประชาชนสามัคคี ปรองดอง และแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศอย่างสันติวิธี

หากพรรคใดไม่ปฏิบัติตามมีโทษถึงขั้นยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค

นอกจากนี้ ยังกำหนดโทษการกระทำผิดนำไปสู่การยุบพรรค อาทิ กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปล่อยปละละเลยให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเข้ามาครอบงำการดำเนินกิจการภายในของพรรค ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคแล้ว ห้ามบุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ ตราสัญลักษณ์พรรคการเมืองนั้นซ้ำ หรือพ้องกับพรรคที่ถูกยุบ ห้ามกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ ไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นภายใน 10 ปี

จากข้อกำหนดนี้จะทำให้การจัดตั้งพรรคการเมืองทำได้ยากขึ้น เพราะต้องใช้คนที่มีอุดมการณ์ในทางเดียวกันรวมตัวกันเพื่อทำพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก และไม่เปิดทางให้คนร่ำรวยมาเป็นนายทุนตั้งพรรคการเมือง

หลังเปิดเผยรายละเอียดออกมามีนักการเมืองบางคนแสดงความดีใจออกนอกหน้าว่าหมดยุค “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” เพราะกฎหมายห้ามคนนอกมายุ่มย่ามกับกิจการของพรรค ซึ่งอาจทำให้การต่อสู้ในสนามเลือกตั้งสูสีกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกข้อห้ามที่น่าสนใจกว่าคือต่อไปนี้พรรคการเมืองจะใช้วาทกรรมยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนให้สิทธิเสรีภาพโดยไม่ถูกต้องไม่ได้แล้ว แถมยังต้องมีหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดความรักความสามัคคีปรองดองในหมู่ประชาชนและต้องเสนอแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เหมาะสม

หมายความว่าหากไม่พอใจอะไรหรือสู้ตามระบบในรัฐสภาไม่ได้ไม่มีสิทธิ์ที่จะออกมาตั้งเวทีข้างถนน นำมวลชนไปปิดล้อมที่นั่นที่นี่ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีทำให้บ้านเมืองสงบขึ้น

แม้จะมีนักการเมืองหลายคนออกมาคัดค้านว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินควร แต่การใช้สิทธิเสรีภาพก็ควรมีขอบเขตจำจัดภายใต้กรอบกฎหมายมิใช่หรือ และที่สำคัญกฎหมายห้ามเพียงไม่ให้พรรคการเมืองซึ่งมีศักยภาพในการปลุกม็อบ ออกมานำการชุมนุม ไม่ได้ห้ามประชาชนชุมนุมแสดงความคิดเห็น

ส่วนนักการเมืองหากอยากนำม็อบเคลื่อนไหวจริง ก็ใช้ข้ออ้างเดิมลาออกจากพรรคแล้วมาเป็นแกนนำชุมนุมเหมือนที่เคยทำกันมาก็สามารถทำได้

ถ้าอยากจะใช้การเมืองข้างถนนโค่นล้มกันจริงๆ ไม่ว่าจะเขียนกฎหมายไว้อย่างไรก็คงห้ามไม่ได้


You must be logged in to post a comment Login