วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567

Mish-Mash Philosophy ของ‘Toynbee’ /โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On December 12, 2016

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

ครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสกับงานของ Arnold Toynbee เป็นการบังเอิญที่โชคดี เพราะได้ศึกษาผ่านปรมาจารย์สุภา สิริมานนท์ ซึ่งเป็นผู้แปล The Capital หรือผลงานเรื่องทุนของ Karl Marx

อาจารย์สุภาบอกผมว่า ในแง่เศรษฐศาสตร์การเมืองแล้ว ทฤษฎีของ Marxist ไม่ได้สมบูรณ์ไปทั้งหมด ยังมีข้อผิดพลาดอยู่มากมาย เพราะคาร์ล มาร์กซ์ เกิดและเติบโตในสังคมตะวันตก เขาจึงขาดความเข้าใจในรายละเอียดบางประการเกี่ยวกับสังคมตะวันออก

ดังจะเห็นว่าเขาเคยพยากรณ์ว่าหลังจากที่รัสเซียเปลี่ยนแปลงเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ประเทศต่อไปที่จะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ก็คืออินเดีย แต่ปรากฏว่าคำพยากรณ์นี้ผิดพลาด เพราะปัจจุบันอินเดียก็ยังปรกติอยู่

อาจารย์สุภาเคยบอกว่า สังคมตะวันตกมีปัญหาเรื่องชนชั้น (class) แต่สังคมตะวันออกอย่างอินเดียนอกจากจะมี class ก็ยังเป็นสังคม hierarchy หรือสังคมตามลำดับชั้น จึงยังมี caste (วรรณะ) นี่คือข้อแตกต่างที่เห็นชัดเจนระหว่างตะวันตกและตะวันออก

ดังนั้น ในแง่ทฤษฎี Marxist สำหรับสังคมตะวันออก เรื่องโครงสร้างชั้นบนที่เป็นความคิดและวัฒนธรรมซึ่งครอบงำสังคมอยู่จึงมีอิทธิพลค่อนข้างสูงมาก นี่เองอาจเป็นสิ่งที่นักสังคมนิยมจำนวนมากไม่เข้าใจ

นอกจากนี้อาจารย์สุภายังบอกว่า เรื่องคุณค่ามนุษย์ที่บอกว่าเท่ากัน แท้จริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะขณะที่พวกหนึ่งจะไปดาวอังคาร แต่อีกพวกยังอยู่ที่นิวกินี ยังจับกิ้งกือไส้เดือนกิน มันก็เห็นอยู่ว่ามนุษย์ไม่มีความเท่าเทียมกัน หรือถ้ากล่าวให้ดีที่สุดแล้ว ชีวิตของมนุษย์นั้นเท่ากัน แต่คุณค่าของมนุษย์ไม่เท่ากันทั้งต่อสังคมและต่อโลกก็ตาม นี่จึงเป็นเครื่องหมายคำถามที่ผมติดใจสงสัยเกี่ยวกับทฤษฎีมาร์กซิสต์มานานแล้ว

ขณะเดียวกันผมเคยแลกเปลี่ยนสนทนากับ ดร.นพพร สุวรรณพานิช ซึ่งเป็น Marxian ที่ฉกาจฉกรรจ์คนหนึ่งของเมืองไทย เขาเคยให้ข้อสังเกตว่า ทฤษฎี Marxist เกิดขึ้นในยุคของเครื่องจักรไอน้ำ ต่อมาโลกเปลี่ยนแปลงไปเป็น เครื่องยนต์สันดาปภายใน จนกระทั่งทุกวันนี้เริ่มจะเป็นยุคใหม่ของพลังงานที่มีแนวโน้มเป็นพลังงานทางเลือก เมื่อพลังการผลิตเปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ทางการผลิตเปลี่ยนแปลงไป คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทจนกล่าวได้ว่าวิธีการผลิตที่เป็น SME ได้รวมกลายเป็นหนึ่งกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในด้านการตลาด ซึ่งแน่นอนว่าการที่จะใช้ทฤษฎีมาร์กซิสต์มาอธิบายสังคมนั้นมีข้อจำกัดเสียแล้ว มีความจำเป็นต้องต่อยอดและทฤษฎีที่ต่อยอด Marxist ดีที่สุด

ดร.นพพรบอกกับผมว่า ทฤษฎีของ Toynbee ถูกต้องที่สุด ประการแรกที่ชัดเจน เพราะปรัชญาของเขาเกิดจากการศึกษาที่รอบด้านถึง 23 อารยธรรม จึงทำให้ปรัชญาของ Toynbee ถูกเรียกว่า mish-mash หมายถึงการบดย่อยและหลอมรวมทุกปรัชญาเข้าด้วยกัน

ฉะนั้นในการมองเงื่อนไขที่จะอธิบายการเปลี่ยนแปลงของสังคม Toynbee จึงมีเหตุผลมากมายหลายอย่างตามลักษณะปรัชญาที่เรียกว่า mish-mash ในข้อแรกต้องกล่าวถึงกระบวนทัศน์ ซึ่งในที่นี้คงต้องเอ่ยถึง Thomas Khun ที่เป็นทั้งนักประวัติศาสตร์ นักปรัชญา และนักฟิสิกส์ กระบวนทัศน์ของเขาหมายถึงกรอบวิธีคิดและผลงานที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรืออาจกล่าวอีกอย่างได้ว่า มันคือประวัติของวิทยาศาสตร์

นอกจาก Khun แล้ว ผู้ที่กล่าวถึง paradigm ได้ดีที่สุดเห็นจะได้แก่ Adam Smith ที่บอกว่า กระบวนทัศน์หรือ paradigm เปรียบเหมือนปลามองดูน้ำ ตรงนี้เราอาจอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า กระบวนทัศน์คือวิธีการมองโลกและเข้าใจโลก ซึ่งแต่ละคนก็มองโลกและเข้าใจโลกไม่เหมือนกัน

ข้อต่อมาที่เราจะเข้าใจปรัชญาของ Toynbee คือ การเข้าใจแนวความคิด Hegelian ซึ่งเป็นแนวความคิด dialectic ที่กล่าวถึง thesis และมีบทแย้งคือ anti thesis จากนั้นจึงกลายเป็นบทสรุปได้แก่ synthesis

ปรัชญาของ Toynbee ยังเกี่ยวข้องถึงลัทธิเต๋าที่เป็นปรัชญาของหยินและหยาง โดยถือว่าจักรวาลนี้มรรคาดำเนินไปเพราะอิทธิพลของหยินและหยาง บางสิ่งอาจจะเป็นหยิน แต่บางครั้งก็สามารถเปลี่ยนเป็นหยางได้ เช่น ไม้เป็นหยิน แต่เมื่อโยนเข้ากองไฟก็จะกลายเป็นหยาง แต่หยินกับหยางก็ใช่จะตรงข้ามกันเสมอไป บางครั้งก็มารวมกันได้ นี่จึงเป็นการอธิบายเรื่องเหตุและผลตามปรัชญาเต๋าที่เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาของ Toynbee

ปรัชญาต่อมาคือปรัชญาที่เรียกว่า life cyclical pattern เป็นทฤษฎีวัฏจักร เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ของศาสนาพุทธ

โดยสรุปไม่ว่าจะอ้างอิงปรัชญาใดก็ต้องบอกว่าทฤษฎีของ Toynbee ต้องใช้การ approach ซึ่งเป็นวิธีการวิเคราะห์และขั้นตอนทางรัฐศาสตร์ ย่อมหนีไม่พ้นการมีปฏิสัมพันธ์กันของความคิด 2 กระแส ทั้ง creative dominant minority ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับอีกชุดของกระแสโต้ คือต้องมีการสื่อสารและการเข้าหากัน ซึ่งก็คือการวิวัฒนาการของอารยธรรม

การ approach จึงนับเป็นสิ่งสำคัญที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์หรือ paradigm กล่าวคือ กระบวนทัศน์เดิมม้วนซ้อนเข้าไปรวมกับกระบวนทัศน์ที่จะเปลี่ยนผ่าน นี่เองจึงต้องมีการ interaction ของ 2 กระบวนทัศน์ paradigm shift ดังนี้เองจึงเท่ากับเป็นการ evolution ของ civilization นั่นเอง

โดยข้อสรุปแล้ว paradigm shift ของ Toynbee คือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามลำดับของ evolution นั่นเอง ดำเนินไปตาม life cyclical pattern ซึ่งเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังของสังคมในแบบพุทธะนั่นเอง!


You must be logged in to post a comment Login