วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปัญหาคนจน / โดย ลอย ลมบน

On December 12, 2016

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

การแจกเงินคนจนไปใช้ฟรีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือค่าครองชีพ หรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ มีอันต้องเลื่อนการแจกจ่ายออกไปจากกำหนดเดิม

เลื่อนจากวันที่ 1 ธันวาคม มาเป็นวันที่ 3 ธันวาคม แล้วก็เลื่อนออกไปอีกโดยไม่กำหนดเวลาที่ชัดเจน

คนที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 30,000 บาทที่จะได้รับเงินคนละ 3,000 บาท และรายได้เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ได้รับเงินคนละ 1,500 บาท ยังต้องร้องเพลงรอกันต่อไป ทั้งที่เรื่องนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ปัญหาติดขัดตรงไหน

ในทางเปิดเผยไม่ใช่เรื่องตัวเงินที่ต้องใช้สูงถึงหมื่นกว่าล้านบาท แต่ติดขัดเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า

แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลจะขึ้นทะเบียนคนจนเอาไว้เรียบร้อยแล้ว และการแจกเงินก็จะใช้ทะเบียนคนจนที่ว่านี้เป็นหลักในการพิจารณา

“โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำสวัสดิการช่วยเหลือผู้ยากไร้ หรือมาตรการช่วยเหลือคนจนที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 100,000 บาท โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการ

โดยผู้มีสิทธิลงทะเบียนต้องอยู่ในเงื่อนไข 3 ข้อคือ 1.สัญชาติไทย 2.อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป 3.ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทในปี 2558 หลักฐานที่ใช้ในการลงทะเบียนได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมใบสมัครลงทะเบียน และต้องไปด้วยตัวเอง ยกเว้น 1.คนพิการ 2.คนป่วย และ 3.ผู้มีอายุ 70 ปีขึ้นไป สามารถมอบอำนาจได้

หลังครบกำหนดเวลา 1 เดือน ปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 8.3 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 2.9 ล้านคน และไม่ใช่เกษตรกร 5.4 ล้านคน ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าแจกแจงจำนวนอาชีพผู้มาลงทะเบียนระบุว่า มีอาชีพเกษตรกรประมาณ 2.9 ล้านคน แบ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกพืช 2.78 ล้านคน (33.5%) เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ 39,007 คน (0.5%) เกษตรกรผู้ทำประมง 22,131 คน (0.3%)

กลุ่มที่ไม่ใช่เกษตรกร 5.4 ล้านคน กลุ่มที่มากที่สุดคือ รับจ้างทั่วไป 2.7 ล้านคน (32.5%) ว่างงาน 1.48 ล้านคน (17.8%) และพ่อบ้านแม่บ้าน 500,000 คน (6%)

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ผู้มาลงทะเบียนที่ระบุว่าเป็น “เจ้าของธุรกิจ” มีจำนวน 203,860 คน (3.1%) มากกว่าผู้มากรอกข้อมูลว่าเป็น “ลูกจ้างเอกชน” ที่มีเพียง 158,041 คน (1.9%) ขณะที่ “ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ” มีจำนวน 37,000 คน (0.4%)

เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดพบว่ามีประเภท “จนไม่จริง” ดอดมาขึ้นทะเบียนเป็นคนจน

ถามว่ารัฐบาลรู้ได้อย่างไรว่าใคร “จนจริง” ใคร “จนไม่จริง”

จากข้อมูลของผู้ที่ทำตัวเป็นแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังระบุว่า เมื่อตรวจสอบรายชื่อกับข้อมูลการเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารและภาษีเงินปันผล พบว่าผู้ลงทะเบียนบางรายมีรายได้จากส่วนนี้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี

คนที่เสียภาษีเงินปันผลและภาษีดอกเบี้ยเงินฝากระดับนี้ต้องมีเงินเก็บในบัญชีธนาคารไม่ต่ำกว่า 4-5 ล้านบาท

จึงมีคำถามว่าคนที่มีเงินเก็บมากขนาดนี้เป็น “คนจน” หรือไม่ สมควรได้รับเงินให้เปล่าจากรัฐหรือไม่

รัฐบาลขอเวลาตรวจสอบเพื่อให้การจ่ายเงินตรงเป้าประสงค์ที่ต้องการมากที่สุด

ปัญหาคือมีผู้มาลงทะเบียนคนจนมากถึง 8.3 ล้านคน ต้องใช้เวลาตรวจสอบนานเท่าไรจึงจะเริ่มแจกเงินตามนโยบายนี้ได้

นั่นคือปัญหาของการแจกเงินคนจนในทางเปิด

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากฝ่ายการเมืองที่ท้วงติงและอาจเป็นเหตุที่ทำให้การแจกเงินคนจนครั้งนี้ต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิม และยังไม่มีกำหนดที่แน่นอนว่าจะเริ่มแจกได้เมื่อไร

ข้อมูลด้านนี้ชี้ให้เห็นว่าเป็นความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ซ้ำรอยกับการประกาศปรับเงินเดือนข้าราชการที่ต้องเลื่อนจากกำหนดเดิม เนื่องจากปัญหาความไม่พร้อมด้านงบประมาณ

นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่านโยบายการแจกเงินคนจนอาจขัดต่อ พ.ร.บ.งบประมาณ เพราะใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ไม่ได้เขียนงบตัวนี้เอาไว้ และในงบประมาณกลางก็ไม่ปรากฏว่าจะใช้จ่ายงบเพื่อการแจกฟรีให้ประชาชนได้

ส่วนข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลจะใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารของรัฐ 3 แห่งจ่ายไปก่อนแล้วค่อยใช้คืน ก็มีคำถามเชิงท้วงติงว่า การกู้เงินได้ออกเป็นกฎหมายผ่านการพิจารณาเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วหรือยัง

ข้อมูลด้านนี้ชี้ให้เห็นปัญหา 2 อย่างคือ

ความไม่พร้อมด้านงบประมาณ กับการกระทำที่อาจไม่ถูกต้องตามระเบียบขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทั้ง 2 ด้านนี้ รัฐบาลสามารถแก้ไขได้หากจะเดินหน้าแจกเงินคนจนตามนโยบายต่อไป

นั่นคือการเลี่ยงไปใช้วิธีโยกงบประมาณจากส่วนต่างๆมาใช้จ่ายเพื่อการนี้

การขอเวลาตรวจสอบคุณสมบัติ “คนจน” ที่ขึ้นทะเบียนไว้ว่าใครสมควรได้รับเงินให้เปล่าแจกฟรีจากรัฐบาลหรือไม่อาจเป็นการขอเวลาเพื่อพิจารณาให้เกิดความรอบคอบอีกครั้งหนึ่งถึงแนวทางดำเนินการ

ถึงแม้จะมีอำนาจพิเศษคุ้มครอง แต่เพื่อไม่ให้ถูกตราหน้าว่าว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง ไม่มีวินัยทางการเงินการคลัง

ปัญหา “คนจน” จึงเป็นปัญหาของรัฐบาลทหาร คสช. ที่ต้องก้าวย่างอย่างสุขุมเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ย้อนกลับมาทำลายเครดิตของตัวเองให้ตกต่ำลงไปมากกว่านี้ เพราะลำพังแจกเงินแบบให้เปล่าให้ฟรีโดยบอกว่าไม่ใช่ “ประชานิยม” ก็ทำให้ตัวเองเสียเครดิตมากเกินพอแล้ว


You must be logged in to post a comment Login