- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแม็พ!? / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันยังไม่ถึงเวลา “ปลดล็อก” พรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมตามเสียงเรียกร้องของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์
แม้ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองประกาศใช้ก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองจะสามารถทำกิจกรรมได้ทันที ตราบใดที่ยังมีประกาศและคำสั่ง คสช. ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมใดๆทางการเมือง แต่ฝ่ายการเมืองก็เห็นว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ (กฎหมายลูก)
เสียงเรียกร้องของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญ เพราะเหมือนการหยั่งเสียงว่าจะมีการเลือกตั้งปลายปี 2560 ตามที่ คสช. ประกาศหรือไม่ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะย้ำมาตลอดว่าทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็พ แต่ระยะหลังกลับหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามนี้
ที่น่าสนใจคือ แม้ พล.อ.ประวิตรจะยืนยันเรื่องโรดแม็พ แต่ก็ทิ้งท้ายว่า “เปลี่ยนแปลงได้หากเกิดสถานการณ์จำเป็น” ซึ่งก็คือต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ทำให้รัฐบาลทหารและ คสช. จำเป็นต้องดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองต่อไป รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งก็อาจเป็นกลางปีหรือปลายปี 2561
สถานการณ์ทางการเมืองจึงยิ่งต้องจับตาว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมอย่างไร เพราะไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่เป็นปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุกกระหน่ำรัฐบาล โดยเฉพาะนายวัฒนา เมืองสุข และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย วิจารณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินคนจนหรือช็อปช่วยชาติ ยิ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลขาดสติปัญญาจนทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทุกตัวดับสนิท
ขณะที่มาตรการต่างๆของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ก็เพ้อฝันที่จะสร้าง “เศรษฐกิจ 4.0” จะทำให้ประเทศไทยแซงหน้าสิงคโปร์ ซึ่งไม่มีทางเป็นความจริงได้เลย
เช่นเดียวกับ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่สุมหัวคนไม่กี่คนแต่จะบังคับให้รัฐบาลในอนาคตต้องทำตามก็ยิ่งกว่าขายฝัน ทั้งที่ผ่านมากว่า 2 ปี รัฐบาลทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยังไม่สามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่กลับยัดเยียด “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” โดยอ้างว่าจะทำให้ประเทศมั่นคงและมั่งคั่ง ซึ่งยิ่งกว่าการเพ้อฝัน
ที่สำคัญประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศไม่มีส่วนร่วมเลย เช่นเดียวกับคำถามว่าโรดแม็พและแผนยุทธศาสตร์ชาตินั้นทำเพื่อใคร เพื่อ คสช. และพวกพ้อง หรือเพื่อประชาชน
เดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้
นายคณิน บุญสุวรรณ ประธานคณะทำงานติดตามการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ที่เตือนรัฐบาลหน้าว่า ถ้าไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความจริง เพราะมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุว่า ก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งยังมีเรื่องการปฏิรูปประเทศให้บรรลุเป้าหมาย ตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศอีก ซึ่งทั้ง 2 เรื่อง ส.ว. 250 คนจากการแต่งตั้งของ คสช. ทำหน้าที่ติดตามและเร่งรัดชนิดเกาะติด โดยคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต้องแจ้งความคืบหน้าต่อที่ประชุมร่วมของรัฐสภาให้ทราบทุก 3 เดือน
สิ่งที่ได้สรุปเรียบเรียงอย่างย่นย่อที่สุดข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่นายมีชัยพูดแกมขู่ว่ารัฐบาลหน้าถ้าไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติถือว่าขัดรัฐธรรมนูญนั้นเป็นความจริง ทั้งนี้ โดยไม่ต้องขยายความต่อไปว่าถ้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทำขัดรัฐธรรมนูญแล้วจะประสบชะตากรรมอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะรัฐมนตรีที่มี ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรี
“สรุปว่ายุทธศาสตร์ชาตินี้มุ่งใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง แน่นอนว่าถ้าคณะรัฐมนตรีไม่ทำตามหรือทำตามไม่ได้ จะด้วยเหตุผลอะไรก็สุดแล้วแต่ คณะรัฐมนตรีก็จะตายหยังเขียด ในทางกลับกัน ถ้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่สามารถทำตามทุกอย่างได้เป๊ะ แบบว่าเป็นเด็กดีของ ส.ว. องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผู้นำเหล่าทัพ 6 คนที่นั่งอยู่ในวุฒิสภา โดยต้องรายงานความคืบหน้าต่อรัฐสภาทุก 3 เดือนแล้วละก็ กว่าจะถึง 20 ปีประเทศก็แย่กันพอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของประเทศ และคนยากจน คนมีรายได้น้อยทั้งหลายนั่นแหละจะตายก่อนเพื่อน”
นายคณินชี้ว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่อ้างอิงจากข้อมูลเก่าๆและสมมุติฐานความเชื่อเก่าๆที่เกิดก่อนปี 2559 เมื่อแปลงเป็นแผนปฏิบัติการจริงจะกลายเป็นกับดักใหญ่ที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้ แล้วยังถอยหลังกลับไปที่เก่าไม่ได้อีกด้วย เพราะทำลายไปหมดแล้วนั่นเอง
กิ้งกือตกท่อ
นายคณินยังระบุถึงร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองว่า แม้ไม่มีการรีเซตพรรคการเมือง แต่บทเฉพาะกาลที่ กรธ. กำลังจะเผยแพร่ก็เหมือนเตะสกัดพรรคใหญ่ เพราะ 1.มาตรา 114 ให้พรรคการเมืองดำเนินการให้มีสมาชิกพรรคและสาขาพรรคตามกฎหมายใหม่ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ มิฉะนั้นจะต้องสิ้นสภาพพรรคการเมือง 2.มาตรา 116 ให้พรรคปรับปรุงข้อบังคับพรรคให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ภายใน 60 วัน มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิส่งสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก และ 3.มาตรา 117 ให้พรรคจัดทำและส่งทะเบียนสมาชิกพรรคพร้อมบัญชีการเงินของพรรคและสาขาพรรคแก่นายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 90 วัน มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิส่งสมัครรับเลือกตั้ง
การจัดทำทะเบียนสมาชิกพรรคและส่งให้นายทะเบียนภายใน 90 วัน จะเป็นปัญหาสาหัสของพรรคการเมืองเก่าที่มีสมาชิกเป็นเรือนแสนเรือนล้าน เพราะกฎหมายใหม่บังคับไว้เลยว่า หัวหน้าพรรคต้องจัดทำทะเบียนสมาชิกให้ตรงตามความเป็นจริง แล้วจะติดต่อสอบถามหรือตรวจสอบให้ละเอียดเป็นรายคนได้อย่างไรเมื่อ คสช. ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสมาชิกพรรคเลย ชุมนุมเกิน 5 คนยังไม่ได้ เวลา 90 วันตามบทเฉพาะกาล จึงเป็นเสมือนกับดักอันเบ้อเร่อที่จะทำให้พรรคเก่าที่มีสมาชิกเป็นแสนเป็นล้านคนต้องกลายเป็นกิ้งกือตกท่อได้ง่ายๆ ครั้นจะตัดสมาชิกไปเฉยๆเพื่อให้เหลือจำนวนน้อยๆก็ทำไม่ได้ ต้องให้เขาลาออกเอง ซึ่งต้องจี้กันเป็นรายตัว เดี๋ยวก็จะไปร้อง กกต. ว่าถูกบีบบังคับให้ต้องลาออก หรือภายหลังเมื่อส่งให้นายทะเบียนไปแล้วมีชื่อคนที่ตายไปแล้ว ไปบวช หรือขาดคุณสมบัติอื่นๆ หรือเป็นสมาชิกพรรคซ้ำกับพรรคอื่นแต่ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่จะทำอย่างไร หรือเกิดมีใครไปร้องต่อ กกต. ว่าไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค แต่มีชื่อเป็นสมาชิกอยู่ ทั้งหมดนี้จะส่งผลร้ายต่อพรรคการเมืองเก่าทั้งสิ้น
“กรธ. เขียนบทเฉพาะกาลไว้เช่นนี้ ไม่ว่าจะมีเจตนาอย่างไร แต่ผลเหมือนเป็นการสกัดพรรคการเมืองใหญ่ก่อนที่จะถึงวันสมัครรับเลือกตั้งด้วยซ้ำ และดูเหมือนจะเปิดทางโล่งสำหรับพรรคการเมืองตั้งใหม่ ถือว่าเป็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันมากเกินไป ดังนั้น ถ้าไม่เซตซีโร่จะด้วยเหตุผลอะไรก็สุดแล้วแต่ ก็ควรเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในบทเฉพาะกาลเสียใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและเป็นไปได้มากกว่านี้” นายคณินกล่าว
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อการเดินหน้าประเทศไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างรอบด้านไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับนี้ ล้วนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอำนาจ เริ่มตั้งแต่การได้มาซึ่งอำนาจ การกลั่นกรองการเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจ เมื่อเป็นเรื่องการใช้อำนาจแทนประชาชนผ่านกระบวนการทางการเมืองต่างๆจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อให้การได้มาซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ เป็นกฎหมายที่สามารถใช้ได้จริง และได้รับการยอมรับจากประชาชน
นายองอาจเรียกร้องให้ กรธ. เปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ผ่านกระบวนการต่างๆอย่างรอบด้าน และเปิดใจกว้างรับฟังข้อเสนอที่เป็นประโยชน์จากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ไม่ใช่แค่มีส่วนร่วมที่เป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อให้ได้ชื่อว่าได้ทำแล้ว
กรธ. ให้แค่รับฟัง
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า จะพยายามดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 120 มาตรา และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 70 มาตรา ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจาก กรธ. ได้พิจารณาร่วมกันมาหลายรอบแล้ว ที่ผ่านมาที่ยังไม่เรียบร้อยเพราะเนื้อหาของกฎหมายมีรายละเอียดมาก หลายเรื่องเป็นการเขียนขึ้นใหม่ จึงจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบว่าเมื่อเขียนแล้วในทางปฏิบัติสามารถทำได้จริงหรือไม่ เรื่องที่ กรธ. คิดนั้น พยายามเขียนไม่ให้มากไปหรือน้อยไป พยายามคิดทั้งในเชิงบวกและลบ
ส่วนรูปแบบการเปิดเผยรายละเอียดของกฎหมายลูกนั้น เบื้องต้นอาจมีการเปิดเวที โดยเชิญทุกฝ่ายมาร่วมรับฟัง เนื่องจาก กรธ. ต้องการเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้รับทราบเนื้อหาและร่วมแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์หรือสามารถซักถามในประเด็นที่สงสัยได้ ซึ่งขั้นตอนการจัดทำกฎหมายลูกไม่ได้จบที่ กรธ. แต่จบที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ยิ่งปิดกั้นยิ่งเสื่อม
ประเด็นทางการเมืองและการร่างกฎหมายลูกสะท้อนได้จากการเคลื่อนไหวของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่ให้ปลดล็อกพรรคการเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพและความเป็นจริงของบรรยากาศการเลือกตั้ง แต่ท่าทีของรัฐบาลและ คสช. กลับถูกตั้งคำถามว่าต้องการให้ประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยจริงหรือไม่ เพราะสัญญาณต่างๆปรากฏเหมือนขั้นบันไดให้ คสช. และพวกพ้อง “สืบทอดอำนาจ” ต่อไป
ไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสร้างเงื่อนไขต่างๆเพื่อพรรคการเมืองใหม่และนายกรัฐมนตรีคนนอก แต่กฎหมายลูกหากเป็นไปตามที่เปิดเผยออกมาก็เท่ากับการทำลายหรือบอนไซพรรคการเมืองใหญ่ไปโดยปริยายโดยไม่ต้องรีเซตพรรคการเมืองเลย
โรดแม็พของ คสช. จึงไม่ต่างกับการมัดมือชกให้เกิดการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง โดยตัดแขนขาของพรรคการเมืองทิ้ง แล้วสถาปนากลุ่มการเมืองใหม่ขึ้นมา จะเป็น “นอมินี” เพื่อ “สืบทอดอำนาจ” คสช. หรือกลุ่มอำนาจใดก็ตาม แต่ไม่ใช่การคืนอำนาจให้กับประชาชนแน่นอน
เพราะไม่เช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์คงประกาศชัดเจนว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนนอกในรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ว่าอำนาจทั้งหมดยังอยู่ภายใต้ คสช.
แต่ก็มีเสียงเตือนที่ดังมากขึ้นเรื่อยๆว่า การมีอำนาจทางการเมืองและกองทัพที่แข็งแกร่งมั่นคงนั้นไม่ได้หมายความว่า คสช. จะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ
ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชน “เซ็นเช็คเปล่า” ให้ คสช. หรือพวกพ้องทำอะไรก็ได้ เขียนอะไรก็ได้ แต่ คสช. และพวกที่สนับสนุนก็ถือเป็นความชอบธรรม
เช่นเดียวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มัดมือชกให้รัฐบาลใหม่ต้องทำตาม โดยชีวิตของประชาชนเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้ายที่ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม อย่างเศรษฐกิจ 4.0 ที่รัฐบาลสร้างฝันแบบลมๆแล้งๆว่าประเทศไทยจะยิ่งใหญ่แซงหน้าสิงคโปร์ ทั้งที่วันนี้ยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เหมือนอยู่ในห้องไอซียูอย่างไร ไม่ว่าฝ่ายการเมืองหรือนักวิชาการ รวมถึงสื่อต่างๆ ก็เห็นสอดคล้องกันว่ามาตรการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวของประเทศไทยขณะนี้เหมือนเครื่องยนต์ที่ดับสนิท
อย่างที่นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ วิจารณ์เศรษฐกิจ 4.0 ในบทความ “Thailand 4.0 และการประดิษฐ์ความหวัง” ว่าระยะหลังนี้ คสช. หมั่นสร้างความหวังใหม่ให้แก่สังคมบ่อย แต่ก็เป็นความหวังที่ไม่อิงกับความจริงสักเท่าไร เช่น หัวหน้า คสช. บอกว่าจะทำให้คนในชนบทมีรายได้เดือนละ 40,000 บาทภายใน 20 ปี ซึ่งก็คือรายได้เฉลี่ยของคนกรุงเทพฯปัจจุบันนั่นเอง คนกรุงเทพฯมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนชนบทประมาณ 3 เท่าในเวลานี้ แต่ คสช. ไม่ได้บอกเอาไว้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมาย มาตรการด้านการเกษตรที่ คสช. เสนอแนะหรือบังคับก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า เช่น ลดต้นทุนการผลิตข้าวด้วยนาแปลงใหญ่ สมมุติว่าทำสำเร็จจริงก็ไม่สามารถเพิ่มรายได้ชาวนาขึ้นถึง 3 เท่าได้
อีกทั้งไม่นานมานี้ยังได้ยินรองนายกฯด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. ออกมาพูดว่า ในอนาคตไทยจะเป็นเสือใหญ่ทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแทนสิงคโปร์ ก็ไม่ทราบว่าท่านมองเห็นสัญญาณอะไรตรงไหนที่จะทำให้พูดอย่างนั้นได้
“มนุษย์เรานั้นทนลำบากทางเศรษฐกิจได้สาหัสสากรรจ์กว่าที่เราคิดมากทีเดียว ตราบเท่าที่เขายังมีความหวังว่าพรุ่งนี้จะดีขึ้น รัฐบาลใดๆในโลกก็ต้องหล่อเลี้ยงความหวังของประชาชนไว้ทั้งนั้น ยิ่งประชาชนตกอยู่ในฐานะยากลำบากมากเท่าไรก็ยิ่งต้องหล่อเลี้ยงความหวังให้มากขึ้นเท่านั้น ความยากลำบากทางเศรษฐกิจของผู้คนในประเทศไทยเวลานี้มีแค่ไหน คงจะเห็นได้จากปริมาณของความหวังนานาชนิดที่ คสช. เฝ้าปั๊มออกมาในเวลานี้”
เส้นลวดแห่งอำนาจ
แม้วันนี้รัฐบาลและ คสช. จะอ้างว่าประชาชนมีความสุข เพราะประเทศสงบเรียบร้อย ไม่มีการชุมนุมหรือประท้วงใดๆ ทั้งที่รู้ดีว่าทั้งหมดมาจากการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจัดการกับฝ่ายที่เห็นต่าง แม้แต่การแสดงความเห็นทางการเมืองและวิชาการอย่างสงบก็ตาม
ความสงบเรียบร้อยของ คสช. จึงเป็นความเงียบอยู่ภายใต้ความกลัวมากกว่าความสามัคคีปรองดองหรือประชาชนอยู่ดีกินดี ซึ่งกว่า 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลและ คสช. ก็ไม่อาจปฏิเสธความล้มเหลวในการขับเคลื่อนตามโรดแม็พ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ
ดังนั้น ยิ่ง คสช. ใช้อำนาจมากเท่าไรก็ยิ่งสะท้อนถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการเมืองและความสามัคคีปรองดอง เช่นเดียวกับการสร้างจินตนาการต่างๆทางเศรษฐกิจก็ยิ่งสะท้อนถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งยังเพ้อเจ้อเพ้อฝันที่ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมอีกด้วย
เสถียรภาพที่แข็งแกร่งและมั่นคงของ คสช. จึงไม่มีความหมายเลยหากประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นและหมดความศรัทธา
คสช. วันนี้จึงเหมือน “คณะกายกรรมเดินไต่บนเส้นลวด” ที่นับวันผู้มีอำนาจแต่ละคนมักจะต้องออกมาส่งสัญญาณสารพัดเพื่อสร้างความหวังให้กับประชาชน แต่ก็เป็นแค่ความหวังที่แกว่งไปแกว่งมาและให้ประชาชนลุ้นว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแม็พ
ไม่ว่าโรดแม็พระยะยาวคือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือโรดแม็พระยะสั้นคือจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยต้องไม่ให้นักการเมืองจากพรรคการเมืองในอดีตกลับมามีอำนาจอีก
ก็เหมือนการเดิน “ไต่เส้นลวดแห่งอำนาจ” ซึ่งไม่รู้ว่าจะรอดหรือจะร่วง อีกไม่นานประชาชนคงได้เห็นกัน!!?
You must be logged in to post a comment Login