วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

TRT โกยยอด 9 เดือน 1,846 ล้านบาท

On December 14, 2016

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้นำตลาดหม้อแปลงไฟฟ้า และอุตสาหกรรมด้านเกี่ยวกับพลังงานรายใหญ่ของประเทศ เพื่อผลิตสินค้าตามคําสั่งซื้อของลูกค้า (made to order) เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลประกอบการรายได้รวมสำหรับงวด 9 เดือนปี 59 ว่า บริษัทมีรายได้เท่ากับ 1,846.18 ล้านบาท เพิ่มมขึ้น 337.17 ล้านบาท หรือ 22.34 % เนื่องจากบริษัทฯ และบริษัทย่อยสามารถส่งมอบสินค้าและบริการได้ตามกําหนด

และบริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นสำหรับงวด 9 เดือน เพิ่มขึ้นเท่ากับ 22.55 % จากปีก่อน 9.96 % เนื่องจากบริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้ตามประมาณการ และมีค่าใช้จ่ายในการขายเท่ากับ 113.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.97 ล้านบาท หรือ 35.84 % เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการส่งออกเพิ่มขึ้น และมีค่าใช้จ่ายในการบริหาร 312.95 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 44.88 ล้านบาท หรือ 16.74 % มาจากบริษัทย่อยรับรู้ค่าใช้จ่ายในการบริหารจากการให้บริการเต็มจํานวน

ทั้งนี้รายได้รวมที่ปรับตัวสูงขึ้น 22% เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศส่วนใหญ่เป็นของภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น 36% รวมถึง การรับรู้รายได้จากงาน O&M (Operation and Maintenance) และมีกำไรขั้นต้นใน 9 เดือนแรก ปี 59 ปรับตัวสูงขึ้นจาก 15% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 26% ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวของกำไรขั้นต้นใน 9 เดือน ปี 59 ของกลุ่ม Transformer และ Non-Transformer ซึ่งปรับตัวจาก 17% และ 8% ตามลำดับ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน มาเป็น 22% และ 37% ตามลำดับ

นายสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการบริหารจัดการควบคุมค่าใช้จ่ายขาย และบริหารให้อยู่ในงบประมาณ ทำให้มีกำไรสุทธิใน 9 เดือนแรก 59 ปรับตัวจากขาดทุนสุทธิ (115) ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน มามีกำไรสุทธิ 24 ล้านบาท

ปัจจุบัน กลุ่ม TRT มีมูลค่างานคงเหลือที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) ณ. 30/9/2559 จำนวน 2,221 ล้านบาท โดยแบ่งแบ่งเป็นการส่งมอบภายในปี 2559, 2560 และ 2561 จำนวน 829, 1,006 และ 386 ล้านบาท ตามลำดับ รวมถึง ยังมีงานรอประมูลและอยู่ระหว่างการเสนอราคา จำนวนทั้งสิ้น 8,592 ล้านบาท โดยกลุ่ม TRT มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 20-25%

สำหรับทิศทางของบริษัทฯ (Business Plan) นายสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ในกลุ่ม TRT มีแผนที่จะเพิ่มยอดขายให้ถึง 5,000 ล้านบาท ในปี 2561 ด้วยกลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพของ กลุ่มงาน Steel Fabrication และงาน EPC ด้วยการเตรียมแผนเพื่อเข้ารับการรับรองมาตรฐานขั้นสูงต่างๆ (ตัวอย่างเช่น UL Stamp) ทั้งด้านศักยภาพการผลิต และบุคลากร เพื่อเพิ่ม Value Added ที่จะสามารถทำให้ยอดขายของงานกลุ่มงานนีhสามารถเติบโตจาก 486 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 1,000 ล้านบาท ในปี 2561

นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์การขยายฐานตลาดส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งจะเน้นตลาดในกลุ่มประเทศทีมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ AEC ที่ต้องการวิศวกรรมการออกแบบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดส่งออกจาก 650 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 880 ล้านบาท ในปี 2561 หรือมีอัตราเติบโตคิดเป็น 35%

สำหรับกลยุทธ์การเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากแผน PDP 2015 ซึ่งประมาณการงบลงทุนในโครงการระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต สำหรับปี 2559-2563 ต้องการหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท ซี่ง TRT มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที 25%-30%

นายสัมพันธ์ กล่าวว่า TRT จะเริ่มเดินสายการผลิตของโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าใหม่ ในไตรมาส 4/59 นี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย และ ส่งเสริมกำลังการผลิตของหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย เพิ่มจาก 1,000 MAV เป็น 1,500 MVA และเพิ่มกำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง จาก 4,000 MVA เป็น 7,500 MVA รวมเป็น 9,000 MVA ซึ่งจะสามารถรองรับการเติบโตธุรกิจของ TRT ไปอีก 5-7 ปี อีกด้วย


You must be logged in to post a comment Login