วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วัดใจแฮคเกอร์

On December 15, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

แม้จะมีข้อห่วงใยอยู่มาก มีเสียงคัดค้านดังอื้ออึง แต่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ก็น่าจะถูกเข็นผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 3 อันเป็นวาระสุดท้ายก่อนออกมามีผลบังคับใช้ภายในวันนี้ (15 ธ.ค.)

ข้อห่วงใยของกลุ่มไม่เห็นด้วยดูเหมือนมี 2 เรื่องใหญ่คือ ข้อความในมาตรา 20/1 ที่กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเนื้อหา โดยมีอำนาจให้ศาลปิดเว็บไซต์ตามที่เห็นว่าขัดต่อศีลธรรมอันดี แม้เนื้อหาในเว็บไซต์จะไม่ผิดกฎหมายใดเลยก็ตาม

อีกเรื่องเป็นข้อความใน มาตรา 14(2) ที่กำหนดเพิ่มความผิดจากการโพสต์ข้อมูลเท็จที่กระทบต่อการบริการสาธารณะ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความหมายกว้างมาก ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าการโพสต์ข้อความจะถูกดำเนินคดีเมื่อไหร่

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช. ที่เป็นผู้พิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ยืนยันว่ากฎหมายใหม่มีข้อดีในเรื่องจะทำให้เกิดความชัดเจนว่าไม่สามารถนำพ.ร.บ.คอมพ์ไปใช้สำหรับฟ้องหมิ่นประมาทได้ ให้เรื่องหมิ่นประมาทเป็นเรื่องคดีอาญาเท่านั้น

การกระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพ์จะมีเพียงเรื่องการนำเรื่องไม่จริงมาโพสต์ การโพสต์ข้อความที่ทำให้เกิดความแตกแยก ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง ซึ่งมีผลกระทบต่อสถาบันหลักของชาติ หรือที่เรียกกันว่าเฮทสปีช

ที่สำคัญคณะกรรมการธิการวิสามัญฯ ยังไม่พลาดที่จะบอกว่าร่างกฎหมายนี้ไม่มีผลกระทบคนดี ไม่ทำให้คนดีเดือดร้อน จะมีผลกระทบเฉพาะคนที่ทำความผิดเท่านั้น

เช่นเดียวกับผู้รับผิดชอบเรื่องนี้อย่าง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พูดในทำนองเดียวกันว่าร่างกฎหมายใหม่ปรับเพิ่มเนื้อหาเพื่อให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และมุ่งเรื่องไซเบอร์ซีเคียวลิตี้

“การที่เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ล้วนแต่เพื่อปกป้องประชาชนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจว่าการปรับปรุงแก้กฎหมาย จะช่วยปกป้องสิทธิให้กับประชาชน ไม่ได้ไปปิดกั้นหรือนำข้อมูลส่วนบุคคลมาเผยแพร่ในสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแน่นอน จึงอยากให้ประชาชนสบายใจ และไม่อยากให้ตีความกันแบบผิดๆ”

คนที่คัดค้านมองว่าประชาชนจะถูกละเมิดได้ง่าย ข้อมูลส่วนบุคคลถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าถึงได้ง่าย ให้อำนาจสั่งปิดเว็บไซต์หรือปิดกั้นข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น ขณะที่มุมมองของผู้มีอำนาจกลับมองอีกด้านว่าเป็นการให้ความคุ้มครองประชาชนโดยไม่ทำให้คนดีๆต้องเดือดร้อนจากการบังคับใช้กฎหมายใหม่นี้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มพลเมืองต่อต้าน Single Gateway ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าหากกฎหมายคอมพ์ฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาของ สนช.ออกมาบังคับใช้เว็บไซต์สำคัญของหน่วยงานรัฐอาจถูกแฮคจนกระทบต่อการทำงานได้ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มดังกล่าวได้โชว์การแฮคอีเมลของคนในรัฐบาลอย่างน้อย 2 คนเป็นน้ำจิ้ม เป็นตัวอย่างเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านพ.ร.บ.คอมพ์ฉบับใหม่แล้ว

ต้องดูว่าหากวันนี้ (15 ธ.ค.) ที่ประชุมสนช.ยกมือผ่านร่างพ.ร.บ.คอมพ์ใหม่วาระที่ 3 จะเกิดปรากฏการณ์แฮคเว็บไซต์สำคัญๆของหน่วยงานรัฐบาลจนเกิดความปั่นป่วน เกิดปัญหาในการทำงานอย่างที่มีการขู่เอาไว้จริงหรือไม่


You must be logged in to post a comment Login