วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

What I believe? ‘Toynbee’วิพากษ์ความเป็นปุถุชน / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On December 19, 2016

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

การที่จะเข้าใจปัญหาต่างๆในปัจจุบันนี้ บอกกันว่าต้องมองเห็นป่าทั้งป่าให้ได้ เรียกว่าต้องมองด้วยสายตาเหยี่ยวหรือนกอินทรี แต่บางคนบอกว่าไม่พอ โลกปัจจุบันอาจต้องมองด้วยสายตาดาวเทียม

บังเอิญผมได้อ่านบทความสั้นๆชิ้นหนึ่งของ Arnold Toynbee ชื่อว่า what I believe? นับเป็นบทความที่สั้นที่สุดของ Toynbee แต่ให้ข้อคิดและมุมมองที่ลึกซึ้ง โดยข้อเท็จจริงแล้วบทความดังกล่าวนี้มาจากเว็บไซต์สาธารณะที่ชื่อว่า what I believe ซึ่งเปิดโอกาสให้ใครต่อใครร่วมในการแสดงความเห็น โดย Toynbee เป็นหนึ่งในบุคคลที่แสดงความเห็น บทความนี้จึงน่าสนใจและขอนำมาขยายผลเสนอต่อ

Toynbee กล่าวไว้ว่า ในโลกนี้มีบุคคลที่รู้จริงและมีความชำนาญในศาสตร์สาขาต่างๆ ตัวอย่างเช่น มีคนรู้เรื่องตัวเลขคณิตศาสตร์ หรือมีวิศวกรที่รู้ทฤษฎีแนวแรงทางฟิสิกส์และนำทฤษฎีดังกล่าวไปปรับใช้ตามวัตถุประสงค์ได้ แต่เขาเห็นว่าความรู้และความชำนาญเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะช่วยในการดำรงอยู่ของมนุษย์ เพราะเราทุกคนยังมีสิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราจะอยู่ร่วมในสังคมกับคนอื่นได้อย่างไร?

ความรู้ที่สำคัญมากที่จะช่วยในการดำรงอยู่ของมนุษย์ก็คือ การรู้ว่าอะไรถูกและอะไรผิด ซึ่งจะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดเป็นเรื่องที่ยากมากเหลือเกินสำหรับการตัดสินความถูกผิด และถ้ายิ่งให้ถูกทั้งหมดยิ่งยาก ผู้คนส่วนมากมักคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล หรือเป็นเป้าหมายของจักรวาล

การคิดอย่างนี้ Toynbee บอกว่าเป็นการคิดที่ผิด ถ้าเราจะวินิจฉัยความถูกผิดในการใช้ชีวิตก็เปรียบเหมือนเราต้องคิดให้ถูกทั้งหมด แสดงว่าเราจะต้องเอาตัวเองไปต่อสู้กับสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสภาวะที่สูงกว่า อาจเรียกว่าเป็นความศรัทธาหรือสำนึกของศีลธรรม

ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตามก็เหมือนกับการคิดนอกรีต อาจคล้ายคนสมัยโบราณหรือพวกคนป่าในอารยธรรมดึกดำบรรพ์ที่สำนึกว่าพวกเขาอยู่ใต้การครอบงำของสภาวะหนึ่งที่สูงกว่าตัวเอง

ภายใต้แนวคิดอันนี้จึงกล่าวได้ว่า ความคิดนอกกรอบไม่ได้มีแค่เส้นทางเดียว แต่มีอยู่หลายวิถีทาง เป็นต้นว่า ในแง่ศาสนาคริสต์ที่ยึดถือการให้ความรักที่เป็นทั้งเป้าหมายและกระบวนการ

Toynbee จึงตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องที่ยากมากถ้าหากเราจะเชื่อมโยงหรือ communication ระหว่างสภาวะความเป็นมนุษย์ปุถุชนกับสภาวะที่สูงกว่าดังกล่าว

หากเชื่อมโยงได้ก็จะเกิด effective และผลลัพธ์ตรงนั้นระหว่างความเป็นปุถุชนกับคำตอบที่ออกมาระหว่างความเป็นคนกับสำนึกของคุณธรรม นั่นก็คือความจริงของโลกนี้ ซึ่งข้อสรุปก็คือสภาวะย้อนแย้ง คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในโลกและสังคม

ผมมีโอกาสหาคำตอบการ communication ที่ดีจากหนังสือชื่อ “Confronting Humanity” หรือแปลเป็นไทยง่ายๆว่า “วิกฤตการเผชิญหน้าของมนุษยชาติ” เป็นหนังสือที่ถอดเทปคำสนทนาของ Toynbee กับ ไดซากุ อิเคดะ ประธานองค์การ S.G.I. (SOKA GAKKAI International) เป็นองค์กรที่รณรงค์เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต

หนังสือดังกล่าวตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว 24 ภาษา โดยระบุว่า “สิ่งที่มนุษย์ต้องเรียนรู้มีอยู่ 2 ประการที่เป็นปัญหาของมนุษย์คือ ประการแรกเรื่องธรรมชาติ โดยมนุษย์เรียนรู้เรื่องธรรมชาติและสร้างวิทยาศาสตร์ขึ้นมา มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรม แต่ก็สร้างปัญหาติดตามมาเป็นมลภาวะในอากาศ ในน้ำ และในดิน”

ฉะนั้นประการที่สองที่มนุษย์จะต้องเรียนรู้คือ เรื่องของอารยธรรม ความคิด และสำนึกในมนุษยชาติ ซึ่งในปัจจุบันถือว่ายังล้มเหลวอยู่

เนื่องจากแก้ไขปัญหาที่สองไม่ได้ มนุษย์จึงไม่อาจแก้ไขประการแรกได้

ผมคิดว่าวิธีมองปัญหาเช่นนี้มีความน่าสนใจทั้งระดับโลกและระดับประเทศ สำหรับประเทศไทย แนวคิดดังกล่าวนี้ผมว่ายังมีพื้นที่ว่างอยู่คือ เราอาจสามารถทำให้เกิดพรรคการเมืองแบบมวลชนได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย หรือพรรคทหาร

บางทีแนวคิดนี้จะกลายเป็นความหวังมิใช่เพียงระดับประเทศ แต่สามารถเป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติได้อีกด้วย แน่นอนว่าย่อมจะดีกว่าปล่อยให้โลกจบลงด้วยวิธีการที่เรียกว่า collapse!


You must be logged in to post a comment Login