วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ศาสนา อำนาจ ผลประโยชน์? / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On December 19, 2016

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

ศาสนาเป็นเรื่องความรู้สึกลึกซึ้งของมนุษย์ เมื่อพระเยซูกล่าวว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง” หรือศาสนาอิสลามสอนว่า “ฆ่ามนุษย์ผู้บริสุทธิ์ 1 คน เท่ากับฆ่ามนุษยชาติทั้งมวล” หรือเมื่อพุทธะกล่าวว่า “สรรพสัตว์ล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์” มีแต่คนที่มีความรู้สึกละเอียดอ่อนและลึกซึ้งที่สุดเท่านั้นจึงจะเข้าใจความหมายหรือ “อิน” กับข้อความดังกล่าว

ถ้าแก่นสาระของศาสนาเป็นเรื่องความรู้สึกลึกซึ้งของมนุษย์ ก็แปลว่าศาสนาเป็นเรื่องของ “หัวใจ” เมื่อเป็นเรื่องของหัวใจ ศาสนาย่อมเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเสรีภาพของปัจเจกบุคคล คือเป็นเรื่องที่แต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเลือกเชื่อหรือศรัทธาในศาสนาใดๆหรือไม่ก็ได้ และเมื่อเขาเลือกเชื่อหรือศรัทธาในศาสนาใดๆก็เป็นเรื่องที่เขาจะสามารถเข้าใจความหมายอันลึกซึ้งของศาสนานั้นๆด้วยหัวใจของตนเอง

เพราะมีแต่หัวใจของคนแต่ละคนเท่านั้นที่จะรู้สึกอย่างลึกซึ้งได้ว่า รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเองเป็นอย่างไร หรือรู้สึกได้ว่าการฆ่ามนุษย์ผู้บริสุทธิ์ 1 คน เท่ากับฆ่ามนุษยชาติทั้งมวลได้อย่างไร และความหมายที่ว่าสรรพสัตว์คือเพื่อนร่วมทุกข์ก็ย่อมเป็นความหมายที่แต่ละคนจะประจักษ์แจ้งแก่ใจตนเองเท่านั้น

พูดอีกอย่างว่า ถ้าหากศาสนาเป็นเรื่องของความรัก ความเมตตา ความเป็นมิตร ความสงบ สะอาด สว่าง หรือความหลุดพ้นทางจิตใจ กระทั่งเป็นความศรัทธาต่อพระเจ้า ความหวังที่จะมีชีวิตรอดบนสวรรค์ของพระเจ้าในชีวิตหลังความตายก็ย่อมเป็นเรื่องที่ปัจเจกแต่ละคนที่ศรัทธาในศาสนานั้นๆจะรับผิดชอบดูแลความรู้สึก หัวใจ หรือจิตวิญญาณของตนเอง ไม่ใช่เรื่องของอำนาจศาสนจักรและอำนาจรัฐจะสามารถสร้าง “ความรู้สึกลึกซึ้ง” ดังกล่าวขึ้นในหัวใจของคนแต่ละคนได้ ศาสนจักรและรัฐจึงไม่ควรมีอำนาจควบคุมความเชื่อหรือศรัทธาของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ความคิดที่ว่าศาสนจักรและรัฐไม่ควรมีอำนาจควบคุมความเชื่อหรือศรัทธาของประชาชนก็เป็นความคิดในยุคสว่างทางปัญญาและยุคสมัยใหม่ราวศตวรรษที่ 17-18 มานี้เอง เดิมทีในยุคพระศาสดา อย่างยุคสมัยของพุทธะ พระเยซู ศาสนายังเป็นเรื่องของหัวใจและจิตวิญญาณ พระศาสดาและสาวกคือกลุ่มคนที่สร้างชุมชนการเรียนรู้เล็กๆเพื่อยกระดับจิตใจให้มีความรักและอิสรภาพ ศาสนาจึงยังไม่ได้เข้ามาแชร์อำนาจและผลประโยชน์จากรัฐ ยังไม่มีความเป็นสถาบันที่มีอำนาจและผลประโยชน์

หลังยุคพระศาสดา เมื่อศาสนาเข้ามาแชร์อำนาจและผลประโยชน์จากรัฐ ศาสนาถึงถูกทำให้เป็น “สถาบัน” หนึ่งของรัฐ ทำให้เกิด “ศาสนจักร” ที่มีอำนาจและผลประโยชน์ นักบวชมียศศักดิ์ฐานันดร มีข้าทาส เบี้ยหวัด เงินเดือน ไม่ต่างจากพวกขุนศึกศักดินา พูดง่ายๆคือ บรรดาพระหรือนักบวชกลายเป็นเครือข่ายของชนชั้นนำ (elites) ในสังคมศักดินา ศาสนาจึงกลายเป็นสถาบันที่พัวพันกับเรื่องอำนาจ ผลประโยชน์ การบัญญัติกฎหมาย ตลอดถึงเป็นรากฐานอำนาจเชิงวัฒนธรรมประเพณีของสังคมต่างๆที่กินช่วงเวลายาวนานในประวัติศาสตร์

เมื่อศาสนากลายเป็นสถาบันมากขึ้น มิติของหัวใจ จิตวิญญาณที่ละเอียดอ่อน หรือการบ่มเพาะความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ หรือการเรียนรู้เพื่ออิสรภาพด้านในก็ค่อยๆเลือนหายไป สิ่งที่เข้ามาแทนที่ก็คือมิติของอำนาจและผลประโยชน์ เช่น ศาสนาได้กลายเป็นเครื่องมือสร้างอำนาจที่ชอบธรรม (legitimation) และอำนาจครอบงำ (domination) ของชนชั้นปกครองมายาวนาน เพื่อที่สถาบันหรือองค์กรศาสนจักรจะได้แชร์อำนาจรัฐ ได้รับการอุปถัมภ์ และผลประโยชน์อื่นๆ

มองในแง่นี้ศาสนาจึงเป็นกลุ่มอำนาจและผลประโยชน์แบบหนึ่งภายในระบบสังคมและการเมือง แต่เป็นกลุ่มอำนาจและผลประโยชน์ที่มีความซับซ้อนสูง เพราะอำนาจของศาสนานั้นคืออำนาจทางวัฒนธรรม และยังมีอำนาจทางการเมืองที่ซ่อนอยู่ในอำนาจทางวัฒนธรรมทั้งแบบเนียนๆและโฉ่งฉ่าง

ขณะเดียวกันศาสนาก็อ้างความเสียสละเพื่อสร้างสังคมให้มีศีลธรรม สร้างคนดีแก่สังคม แต่ในอีกด้านหนึ่งศีลธรรมความดีแบบศาสนาก็กลายเป็น “สินค้า” ในตลาดศรัทธาที่ทำรายได้มหาศาล จึงทำให้ศาสนจักรหรือวัดวาอารามในยุคปัจจุบันเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆทองๆ ผลประโยชน์เป็นหมื่นเป็นแสนล้าน

แต่เนื่องจากระบบหรือโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนจักรยังคงเป็นระบบที่อยู่บนแนวคิดหรืออุดมคติแบบยุคเก่า ไม่มีการแยกศาสนจักรกับรัฐให้เป็นอิสระจากกัน โดยให้องค์กรศาสนาเป็นเอกชนอยู่ภายใต้การตรวจสอบเรื่องการเงินในมาตรฐานเดียวกันตามหลักการของสังคมสมัยใหม่ที่เน้นความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ฉะนั้นเรื่องของศาสนาที่เกี่ยวพันกับอำนาจและผลประโยชน์จึงกลายเป็นปัญหาของสังคมปัจจุบันอย่างยากจะแก้ไข

ปรากฏการณ์ที่รัฐบาล คสช. ใช้กองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมหาศาลเพื่อล้อมจับ “พระรูปเดียว” คือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จึงเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษา ทั้งๆที่ในทางหลักการของศาสนา พระรูปหนึ่งไม่น่าจะมีอิทธิพลมหาศาล ทั้งๆที่ในแง่หลักการปฏิบัติของรัฐ การดำเนินคดีกับพระรูปเดียวที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเรื่อง “ทุจริต” ซึ่งไม่ใช่การซ่องสุมกำลังคนและอาวุธเพื่อก่อการร้าย ก็ไม่น่าจะบานปลายจนต้องใช้กองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมหาศาลในการเข้าจับกุม

อะไรคือ “มาตรฐานความยุติธรรม” ที่เสมอภาคกัน ในการดำเนินการทางกฎหมายและธรรมวินัยกับพระทุกรูป และกับประชาชนทุกฝ่าย ยังคงเป็นคำถามที่ไร้คำตอบสำหรับสังคมนี้


You must be logged in to post a comment Login