- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
- บทเรียนพระสายมูPosted 2 weeks ago
ตามหาประชาธิปไตยยุคดึกดำบรรพ์ / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา กลุ่ม people go network จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ออกตามหาประชาธิปไตยในยุคดึกดำบรรพ์” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 84 ปีวันรัฐธรรมนูญไทย ในวันที่ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญปราศจากความหมายในสังคมไทย หลังจากที่ถอยหลังครั้งใหญ่เข้าสู่ยุคดึกดำบรรพ์ทางการเมืองในระยะ 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา
ที่อธิบายว่าเป็น “การเมืองยุคดึกดำบรรพ์” เพราะการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 สร้างระบอบเผด็จการทหารขึ้นมา ถือเป็นวิธีการอันล้าหลังในโลก เพราะนอกเหนือจากไทยแล้ว เหลือเพียงอียิปต์และเยเมนเท่านั้นที่ยังคงปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศอันแปลกประหลาดในสายตาของอารยประเทศ
ประเด็นปัญหาที่สำคัญคือ ยังไม่เห็นแนวโน้มเลยว่าสังคมไทยจะคลี่คลายไปสู่ประชาธิปไตยอันแท้จริงได้อย่างไร ทำให้แนวโน้มทางการเมืองแบบล้าหลังยังคงอยู่ และเมื่อพิจารณาควบคู่กับความล้าหลังทางวัฒนธรรมและความคิดในสังคมไทย ทำให้ประเมินได้ว่าประเทศไทยคงยังอยู่ในยุคยึดดำบรรพ์อีกยาวนาน
ภายใต้บรรยากาศแบบเผด็จการมักจะอ้างว่าประเทศไทยก็มีประชาธิปไตย แต่เป็นแบบ “ไทยไทย” ลักษณะที่น่าสังเกตกรณีนี้คือ สังคมไทยถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรม “พูดอย่างทำอย่าง” มีคำหรือความจำนวนมากที่ใช้พูดแล้วไม่ทำ หรือใช้ถ้อยคำอันสวยหรูปกปิดพฤติกรรมอันชั่วร้ายที่รุนแรง เช่น “ขอคืนพื้นที่” หมายถึงการใช้กำลังทหารกวาดล้างประชาชน หรือขนาดเบากว่า เช่น เรียกน้ำท่วมว่า “น้ำรอการระบาย” เป็นต้น
ในกรอบเช่นนี้ ประชาธิปไตยแบบ “ไทยไทย” จึงเป็นวาทกรรมอำพรางเพื่อจะปกปิดเนื้อหาความเป็นเผด็จการแบบไทยไว้ เพราะประชาธิปไตยเป็นหลักการสากลและมีความหมายแบบเดียวคือ อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชนส่วนข้างมาก อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองต้องอยู่ที่ประชาชน ซึ่งแสดงออกโดยผ่านการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องของการออกแบบว่าประชาชนจะใช้อำนาจอย่างไร ไม่ใช่เรื่องการเมืองที่กำหนดตามอำเภอใจจากชนชั้นนำ หรือไม่ใช่การเมืองที่ถูกกำหนดและครอบงำโดยกองทัพ
เผด็จการในสังคมไทยดำรงอยู่ได้ด้วยการสร้างวาทกรรมมาโจมตีระบอบประชาธิปไตยหลายลักษณะ ตั้งแต่กล่าวว่าประชาธิปไตยเป็นของฝรั่ง ไม่เหมาะกับสังคมไทย หรือยกเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง ความเลวร้ายของนักการเมือง ความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ฯลฯ มาเป็นข้อโจมตีระบอบประชาธิปไตย ความจริงเป็นที่ทราบกันทั่วโลกว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการเมืองที่ดีจนไม่มีข้อบกพร่อง แต่ประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกา ในโลกตะวันตกและเอเชีย ก็ยังมีปัญหาเฉพาะมากมายที่จะต้องแก้ไขหรือแก้ปัญหา เพียงแต่นักทฤษฎีการเมืองพิจารณาว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่เลวน้อยที่สุดหรือดีที่สุดในขณะนี้เมื่อเทียบกับระบอบอื่น เช่น สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เผด็จการทหาร หรือพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียว เพราะประชาธิปไตยเป็นระบอบเดียวที่ให้อำนาจกับประชาชน ชนชั้นล่างด้วยความเสมอภาค และมีหลักประกันมากกว่าในการเปลี่ยนผ่านอำนาจด้วยเสียงของประชาชน ขณะที่ระบอบอื่นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะมาจากการแย่งชิงหรือการตกลงในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้น
ในสังคมไทยที่ผ่านมายังมีการสร้างจินตภาพแบบผิดๆด้วยการบอกว่าสังคมที่ดีคือสังคมที่ทุกคนคิดเหมือนกัน ต้องสามัคคีกัน ไม่มีความขัดแย้ง ซึ่งไม่จริง ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่มีทางที่ทุกคนจะคิดเหมือนกันได้ นอกจากจะใช้อำนาจความคิดครอบงำหรือสร้างเผด็จการทหารมาบังคับใช้อำนาจกดความคิดต่างไม่ให้แสดงออก ให้ทุกคนคิดเหมือนกันตามอย่างที่รัฐกำหนด อันที่จริงสังคมที่บังคับให้คนคิดเหมือนกันเป็นสังคมที่มีปัญหา แต่ระบอบประชาธิปไตยถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานี้คือ การยินยอมให้คนคิดต่างกันได้ด้วยการเคารพซึ่งกันและกัน แล้วตัดสินกันด้วยเสียงข้างมากของประชาชน เมื่อมีการตัดสินแล้วเสียงข้างน้อยก็ต้องเคารพ
ถึงกระนั้นการครอบงำของเสียงข้างมากก็มิได้ดำรงตลอดกาล จะมีช่วงเวลาอันจำกัด เช่น 4 ปี หรือ 5 ปีก็ตาม แล้วตัดสินกันใหม่ด้วยการเลือกตั้งหรือลงประชามติ ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบที่จัดการความขัดแย้งให้มีกฎเกณฑ์ โดยไม่ต้องใช้อำนาจหรือกำลังบังคับเพื่อสร้างสามัคคีด้วยการสร้างวาทกรรมอันบิดเบือนและกล่อมเกลาทางความคิด ทำให้ชนชั้นนำและชนชั้นกลางจำนวนมากในสังคมไทยเห็นพ้องและสนับสนุนการรัฐประหารภายใต้ข้ออ้างของการ “ปฏิรูป” ด้วยข้อเสนอให้ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อย่างฝ่าย กปปส. ที่มุ่งจะทำลายระบอบประชาธิปไตยและเรียกร้องการรัฐประหาร
การรัฐประหารโดย คสช. จึงเป็นการสานต่อตามข้อเสนอนี้ ระบอบเผด็จการทหารไทยถูกพิจารณาว่าชอบธรรมภายใต้ข้ออ้างการปฏิรูป แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีนิยามชัดเจนว่า การปฏิรูปคืออะไร จะทำในปริมณฑลไหน และเมื่อไรจะปฏิรูปเสร็จ ทั้งยังมีข้อสังเกตจากกรณีนี้คือ ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นข้ออ้างของการรัฐประหารครั้งนี้เลย แต่ความหวาดระแวงในประชาธิปไตยต่างหากที่เป็นสาเหตุให้ชนชั้นนำไทยผลักดันการรัฐประหาร ประชาธิปไตยจะเกิดโดยการรัฐประหารจึงไม่มี
เห็นได้ชัดเจนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะเผด็จการทหารนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะบังคับใช้มาให้ประชาชนลงประชามติ แต่เป็นการลงประชามติภายใต้การกวาดล้างจับกุมผู้เห็นต่าง และแทบไม่มีกระบวนการให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญเลย ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญจะผ่านการลงประชามติ แต่ก็ไม่มีใครเห็นว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่นำมาซึ่งประชาธิปไตยในสังคมไทย และไม่เชื่อแม้กระทั่งว่าจะป้องกันการรัฐประหารได้ แต่ประเมินกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำมาซึ่งปัญหามากมายและจะนำมาซึ่งวิกฤตทางการเมือง ยิ่งทำให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้เงาแห่งเผด็จการทหารต่อไปตามโรดแม็พของ คสช. ที่กำหนดไว้ 20 ปี ถ้า คสช. สามารถอยู่ถึงวันนั้น
นี่คือลักษณะยุคดึกดำบรรพ์ของการเมืองไทยที่ยังมองไม่เห็นทางออก และต้องตามหาประชาธิปไตยกันต่อไปจนไม่รู้จบรู้สิ้น
You must be logged in to post a comment Login