- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ธรรมาภิบาล / โดย ลอย ลมบน
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน
สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวหนึ่งที่น่าจะเป็นข่าวใหญ่ แต่กลับไม่เป็นข่าวใหญ่ในยุคนี้
ข่าวที่ว่าคือการแจ้งรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) นอกจากรายการทรัพย์สินที่ยื่นเป็นปรกติแล้ว พล.ต.ท.ศานิตย์ยังแจ้งด้วยว่ามีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาให้บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2558 โดยได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 50,000 บาท
การรับเป็นที่ปรึกษาแล้วได้ค่าตอบแทนเป็นเรื่องปรกติ แต่ที่ไม่ปรกติเพราะเป็นที่ปรึกษาและได้รับค่าตอบแทนขณะที่มียศ ตำแหน่ง ที่สามารถให้คุณให้โทษกับใครก็ได้ตามกฎหมาย
กรณีอย่างนี้หากเกิดขึ้นในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยหรือเกิดขึ้นกับข้าราชการตำรวจที่ถูกขนานนามว่าเป็นตำรวจมะเขือเทศน่าจะเป็นประเด็นใหญ่ น่าจะมีการเคลื่อนไหวร้องเรียน เรียกร้องมากกว่าที่เป็นอยู่
พล.ต.ท.ศานิตย์ดำรงตำแหน่ง ผบช.น. เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2559 และเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สนช. เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ถือเป็นทั้งข้าราชการตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542) ทั้งยังเกี่ยวข้องในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม. ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 18 และประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีข้อกำหนดให้มีความซื่อสัตย์สุจริตและยึดมั่นในศีลธรรม โดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตน
ขณะที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 มีบางข้อกำหนดเกี่ยวกับการรักษาประโยชน์ส่วนรวมและหลักธรรมาภิบาล หลักจรรยาบรรณการเป็นข้าราชการการเมืองที่ดี โดยต้องไม่ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นข้าราชการการเมืองไปแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินหรือไม่ก็ตาม รวมถึงไม่เรียกร้องของขวัญ ของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ต่างๆอันอาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ และต้องไม่ประพฤติตนอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของชาติ
ส่วน พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 100 และมาตรา 103 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินกิจการ เช่น เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน หรือลูกจ้าง ในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่ หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งโดยสภาพผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น
แม้แต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติก็ต้องมีราคาหรือมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท
อย่างที่นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) ให้ความเห็นเชิงตั้งคำถามว่า พล.ต.ท.ศานิตย์เป็นถึงข้าราชการระดับสูง เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้รักษากฎหมายในบ้านเมือง แต่ไปรับเงินจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ พฤติกรรมนี้เหมาะสมหรือไม่ และข้าราชการคนอื่นๆจะมีการเปิดเผยข้อมูลรายได้หรือรับเงินในลักษณะนี้หรือไม่ เพราะเชื่อว่ายังมีอีกจำนวนไม่น้อย
กรณีนี้เป็นหลักฐานได้หรือไม่ว่าธุรกิจน้ำเมาอุปถัมภ์ข้าราชการ ตลอดจนนักการเมืองทุกระดับ ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการเข้ามาแทรกแซงการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน ไร้ประสิทธิภาพ
“ที่สำคัญนี่เป็นการส่งสัญญาณที่ผิดๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างอาจนำมาอ้างเพื่อรับเงินจากธุรกิจร้านเหล้า ผับ บาร์ ในรูปแบบต่างๆได้เช่นกัน จึงไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้จะเห็นคนมีสีเข้าไปเกี่ยวข้องกับร้านเหล้า ผับ บาร์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายน้ำเมาอ่อนแอ”
ไม่ต่างจากว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความเห็นเอาไว้น่าสนใจว่า กรณีเช่นนี้ถือว่าสวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติเรื่องหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ต่อต้านการทุจริต จรรยาบรรณข้าราชการ รับของกำนัลจากบุคคลอื่นที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาทยังไม่ได้ แต่กลับรับจ้างเป็นที่ปรึกษารับเงินเดือนประจำทั้งที่ตนเองมีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย เมื่อข้าราชการระดับสูงทำได้ ถ้าข้าราชการระดับล่างไปเป็นที่ปรึกษา รับเงินกิจการสถานบันเทิงที่มีเกลื่อนเมือง จะเกิดอะไรขึ้น
“แม้ในทางกฎหมายอาจจะไม่ผิด แต่ก่อนจะรับตำแหน่งใดๆต้องมีดุลยพินิจในทางที่ถูกต้อง ต้องมีจริยธรรม มีจรรยาบรรณมากพอ ข้าราชการต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีไม่ให้ถูกครหาในลักษณะที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน”
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวกำลังจะถูกยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบว่าการรับค่าจ้างเป็นที่ปรึกษาเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อประมวลจริยธรรมของข้าราชการตำรวจและประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2550 หรือไม่ เพราะอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย และขัดต่อจริยธรรมและกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103 ด้วยหรือไม่
กรณีนี้น่าสนใจและควรตรวจสอบให้เป็นบรรทัดฐาน เพราะเชื่อว่ายังมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีกจำนวนมากในหลายหน่วยงานที่มีรายได้จากการรับเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทเอกชนทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย
ควรทำให้เกิดความชัดเจนว่าสามารถทำได้หรือไม่
หากทำไม่ได้ถือว่ามีความผิดที่มีอัตราโทษแค่ไหน อย่างไร
ไหนๆก็คุยว่าจะเข้ามาปฏิรูป เข้ามาสร้างระบบธรรมาภิบาล น่าจะให้คำตอบกับประชาชนให้ชัดเจนได้สักเรื่องก่อนลงจากอำนาจ
You must be logged in to post a comment Login