วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ดับเครื่องชน

On December 20, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเคลื่อนไหวของกลุ่มไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. … ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 3 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมาถ้าเป็นไปตามข้อมูลที่ฝ่ายคัดค้านบอกกล่าวไว้จะถึงจุดพีคสุดในวันนี้ (20ธ.ค.)

ที่ผ่านในช่วงที่ สนช.กำลังพิจารณาร่างกฎหมายวาระที่สองและสาม มีการนัดรวมตัวกันของฝ่ายไม่เห็นด้วยเข้าไปยิงเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐบาลหลายเว็บจนล่มไม่สามารถใช้งานได้ และหลังจากที่สนช.ลงมติเห็นชอบในวาระสามฝ่ายคัดค้านยกระดับเป็นการแฮคข้อมูลในเว็บไซต์หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะในกระทรวงกลาโหมที่ระบุว่าได้เอกสารลับมาบางส่วนและกำลังพิจารณาว่าจะนำข้อมูลอะไรมาเปิดเผยกับสาธารณะชนบ้าง

กลุ่มคัดค้านต้องการให้รัฐบาลทบทวนหรือแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวเพราะมีหลายประเด็นเป็นข้อห่วงใยว่าจะละเมิดสิทธิประชาชนมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้อำนาจใช้ดุลยพินิจแก่เจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดี สั่งปิด หรือบล็อกเว็บไซต์

อย่างไรก็ตาม ท่าทีจากผู้เกี่ยวข้องดูเหมือนจะยืนกระต่ายขาเดียวว่าเมื่อร่างกฎหมายผ่านสนช.วาระที่สามไปแล้วไม่สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนอะไรได้นอกจากรอวันประกาศให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ยืนยันว่าสนช.ได้พิจารณาร่างกฎหมายอย่างดีแล้วก่อนให้ความเห็นชอบกฎหมายใหม่นี้ดีกว่าของเดิมที่ออกมาเมื่อปี 2550 เป็นอย่างมาก แม้จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมา แต่ก็ขออำนาจศาลในการปิดหรือระงับข้อมูลคอมพิวเตอร์

นอกจากคำยืนยันว่าไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว ยันมีคำข้อร้องประกอบคำเตือนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงานถึงคนคัดค้านให้เลิกใช้วิธียิงเว็บไซต์หน่วยงานราชการหรือเข้าไปแฮคเอาข้อมูลมาเปิดเผย โดยขณะนี้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และสำนักรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กำลังตรวจสอบหมายเลขไอพีฯของยูสเซอร์เหล่านั้น ซึ่งผู้ทำความผิดจะได้รับโทษตามมาตรา 10 พ.ร.บ.คอมฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

นอกจากนี้ยังมีการระบุด้วยว่าการโจมตีเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐบาลภาครัฐไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือประชาชนที่เข้ามาใช้บริการข้อมูลข่าวสารมากกว่า

ประหนึ่งว่าอย่าจับประชาชนมาเป็นตัวประกันเพื่อคัดค้าน และโยนให้เป็นเรื่องของกลุ่มคัดค้านกับประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม หากฟังจาก พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์ กองทัพบก (ศซบ.ทบ.) ทำให้มองเห็นความกังวลอยู่พอสมควรเพราะได้ออกมาเตือนหน่วยงานรัฐว่า ให้เพิ่มความระมัดระวังด้านมาตรการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ทั้งช่องทางการเข้า-ออกระบบต่างๆ หากไม่มีความจำเป็นให้ทำการปิดการใช้งานเป็นการชั่วคราว, กำหนดกฎ หรือมาตรการความปลอดภัยของไฟร์วอลล์ (Firewall) ให้เข้มงวดมากขึ้น พร้อมทั้งเฝ้าระวังตรวจสอบการโจมตี รวมถึงการบุกรุกตลอดเวลา

ส่งสัญญาณดับเครื่องชนเมื่อฝ่ายหนึ่งยืนยันว่าไม่แก้ไข ไม่ทบทวนพร้อมตั้งรับการโจมตี

ฝ่ายหนึ่งยืนยันว่าหากไม่แก้ไข ไม่ทบทวนจะยกระดับการโจมตีให้มากขึ้น พร้อมว่าขอโทษประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบโดยระบุว่า นี่เป็นสงครามเมื่อเป็นสงครามก็ต้องมีผลกระทบบ้าง

ต้องรอดูว่าตั้งแต่วันนี้ (20 ธ.ค.) จะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับเว็บไซต์และฐานข้อมูลที่เป็นชั้นความลับของหน่วยงานรัฐบาล


You must be logged in to post a comment Login