- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
อนาคตที่มีแต่ความมืดมน! / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข
คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข
นายรังสิมันต์ให้ความเห็นถึงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ว่า เราแตกแยกกันมากและไม่ธรรมดา ถ้าพูดอย่างถึงที่สุดคือ เรายังอยู่ในสงครามกลางเมือง เพียงแต่ไม่ได้รบกัน ยากเหลือเกินที่จะทำให้ความรู้สึกกลับมาได้เหมือนเดิม รัฐประหารครั้งล่าสุดยิ่งทำให้ความแตกแยกเลวร้าย รัฐประหารอาศัยช่องความแตกแยกของประชาชน ถ้าเมื่อไรประชาชนไม่รู้สึกว่าต้องเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่ง สามารถรับฟังความเห็นต่างได้ ก็ไม่มีเหตุผลที่ฝ่ายรัฐประหารต้องอยู่ต่อไป
ขณะนี้กำลังเข้าปีที่ 3 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ไม่เคยเลยที่จะพยายามให้อีกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม ประชาชนอีกกลุ่มยังรู้สึกแย่และไม่สามารถหันหน้ามาพูดคุยกันได้ แต่เมื่อคณะรัฐประหารอยู่ไปเรื่อยๆ แล้วประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งเริ่มตั้งคำถามว่าที่อยู่มามันเวิร์คมั้ย แก้ปัญหาประเทศได้หรือไม่ เมื่อคนตั้งคำถามสิ่งที่คณะรัฐประหารทำก็คือการฉายภาพให้เห็น “ปิศาจร้าย” ที่น่ากลัว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเวลานี้
การต่อสู้ของนักศึกษา
ความจริงขบวนการนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว เป็นการต่อสู้ระหว่างเจเนอเรชั่นด้วย ถ้าดูสังคมไทยวันนี้ต้องยอมรับว่าเราอยู่บนการชี้นำของคนรุ่นเก่า คนที่อีกไม่นานก็จะต้องลาจากโลกนี้ไปแล้ว ในขณะที่มรดกที่เขาทำเอาไว้นั้น คนที่ต้องอยู่และต้องแบกรับกับมันคือคนรุ่นเรา ผมคิดว่าทิศทางแบบนี้ไม่ใช่ทิศทางที่คนรุ่นใหม่ต้องการแน่ๆ เพียงแต่คนรุ่นใหม่ไม่มีพื้นที่ ไม่มีกำลังมากพอที่จะเรียกร้องสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ ยิ่งเราพูดว่าไม่มีประชาธิปไตย พื้นที่ตรงนี้ก็แทบจะหายไปเลย
มุมหนึ่งของการเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ระบอบการปกครองที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม แต่ สังคมไทยทุกคนทุกกลุ่มควรมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไปข้างหน้า เราไม่รู้เลยว่าเมื่อไรจะทำให้สังคมไทยเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ตอนนี้มีแค่คนรุ่นหนึ่งชี้นำหรือขับเคลื่อนไปเท่านั้น คือก้าวไปข้างหน้าบนอุดมคติของคนรุ่นที่อาจเรียกว่าตกยุคตกสมัยไปแล้วก็ได้
ผมคิดว่าวันนี้ไม่ใช่การต่อสู้เพียงแค่ประชาธิปไตย หรือถามว่าเราจะทำสำเร็จหรือไม่ ต้องใช้เวลาอีกมาก ที่ผ่านมาแม้กระทั่งคนรุ่นใหม่เองก็ถูกปลูกฝัง ถูกบ่มเพาะจากคนที่อาจไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงไม่ได้ตื่นตัวพอที่จะเรียกร้อง แต่ผมคิดว่าวันหนึ่งเขาจะเข้าใจและเริ่มตระหนักว่าถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง สังคมที่เขาอยู่ก็นึกไม่ออกเลยว่าจะเป็นยังไง ซึ่งอันตรายกับอนาคตของเขาเอง
คนรุ่นใหม่ควรเคลื่อนไหวอย่างไร
รูปแบบการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษามีความหลากหลาย อาจไม่เป็นในลักษณะของขบวนการที่มีการจัดทำกันอย่างเป็นระบบที่น่าจะเกิดขึ้นพร้อมๆกันโดยไม่ได้นัดหมาย วันนี้แค่มีความรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ความรู้สึกว่ามีส่วนร่วมบางอย่างแค่นั้นเอง ไม่มีการจัดทำอะไรเป็นระบบ ดูอย่างอินเทอร์เน็ตวันนี้จะเห็นว่าคนที่เป็นแอดมินเปิดเพจต่างๆเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น พูดง่ายๆว่าพื้นที่อินเทอร์เน็ตยึดครองโดยคนรุ่นใหม่ อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องของปัจจุบัน แต่ก็เป็นเรื่องของอนาคตด้วย พื้นที่ตรงนี้คนรุ่นใหม่ยึดครองไว้เรียบร้อยแล้ว
คนรุ่นเก่าๆ คนเดือนตุลา ไม่ได้ยึดครองพื้นที่นี้จนประสบความสำเร็จ มีไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จในการใช้อินเทอร์เน็ตในระดับสูง ผมจึงคิดว่าในอนาคตอย่างน้อยๆอินเทอร์เน็ตจะเป็นหัวใจสำคัญให้คนรุ่นใหม่สามารถใช้เพื่อชี้นำความคิดและทำงานทางความคิดให้กับคนรุ่นต่อๆไปและคนรุ่นเดียวกัน เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆทำให้คนรุ่นใหม่มีเครื่องมือที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานทางความคิดเพื่อทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลง แม้ตอนนี้จะยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างระดับคนเดือนตุลาก็ตาม แต่จริงๆแล้วคนรุ่นนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ
ส่วนการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ตรงนี้จะทำให้สังคมหลุดพ้นไปจากวงจรอุบาทว์ได้หรือไม่นั้น ผมว่าเป็นคำถามที่ตอบได้ยากเหมือนกัน อย่างที่บอกว่าเรายังอยู่ในสงครามกลางเมือง ถามว่าจะจบยังไง คือมันต้องชนะอย่างเด็ดขาด ผมเองก็ยอมรับว่าไม่มั่นใจ ความหวังเดียวของผมคือ คนรุ่นหนึ่งต้องเข้ามาแทนที่คนอีกรุ่นหนึ่งให้ได้ ผมเชื่อมั่นในคนรุ่นผมว่าดีกว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้แน่ เพราะฉะนั้นผมจึงยังมีความหวัง แต่ต้องดูกันยาวๆว่าจะเป็นอย่างไร
อุปสรรคในการเรียกร้องประชาธิปไตย
มันมี 2 อย่าง ปัญหาแรกคือ คนรุ่นเก่าที่ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย แล้วชี้นำในลักษณะที่เป็นเผด็จการและอำนาจนิยม อันที่ 2 คือ คนรุ่นๆที่อาจไม่มีประสบการณ์เรื่องประชาธิปไตยมากและไม่เคยเห็นความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตยในบ้านเมืองมาก่อน การทำอะไรใหม่ๆทำให้ดูเหมือนต้องใช้ความกล้าหาญค่อนข้างเยอะกว่าจะทำให้สำเร็จขึ้นมาได้ อุปสรรคจึงมีเยอะมากที่จะทำให้สังคมเป็นแบบที่เราอยากให้เป็น เพราะอาจเจอแรงเสียดทานมาก และเราก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราทำลงไปจะประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือจะกลายเป็นการสร้างหายนะให้กับสังคมหรือเปล่า
หายนะหมายถึงอาจทำให้การต่อสู้ทางความคิดแตกร้าวหนักมากขึ้น ที่นักวิชาการบางคนระบุว่าสังคมไทยตอนนี้เหมือนสังคมที่มืดบอดทางปัญญา ผมคิดว่าไม่ถึงขนาดนั้น ผมยังเชื่อลึกๆว่าหลายคนเขารู้ดีว่าอันไหนเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพียงแต่บางครั้งอาจไม่สามารถพูดในสิ่งที่ถูกต้องได้ เพราะคนที่กุมอำนาจ กุมการชี้นำไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของสังคมไทย
ผมคิดว่าสังคมไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เขาตระหนักดีว่าอะไรเป็นเรื่องถูก ผิด เราจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้อยู่ในความเกลียดชังตั้งแต่แรก เขาแทบไม่รู้จักทักษิณ ไม่รู้จักการเมืองเลย เขาเกิดมาก็เห็นอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ถูกปลูกฝังให้เกลียดชัง ไม่ได้เกลียดชังด้วยตัวเองตั้งแต่แรก เขาไม่มีประสบการณ์อะไรกับคุณทักษิณ กับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่แรก จากประสบการณ์ของผมคิดว่าคนรุ่นใหม่เขาก็รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เพียงแต่เขาพูดไม่ได้แค่นั้นเอง หรือไม่กล้าพูด เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไร
ผมคิดว่าสังคมไทยไม่มืดบอดเสียทีเดียว เพียงแต่เหมือนแสงเทียนที่มีอะไรมาครอบเอาไว้มากกว่า หน้าที่ของเราคือ ต้องเอาสิ่งที่ครอบแสงเทียนไว้ออกเสียจะได้เห็นว่ามีความสว่างอยู่ในความมืด
อยากฝากอะไรกับคนรุ่นใหม่
ในวันนี้เราอาจจะบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวคนรุ่นเก่าก็ตาย เราก็ไปแทนที่เขา ผมอยากฝากคือ เราต้องยอมรับว่าวันนี้เรายังอยู่ในสังคมที่คนนำพาประเทศไทย คนที่กำลังพายเรือ คนที่กำลังถือหางเสือของประเทศไม่ใช่ประชาชนอย่างพวกเราและไม่มีพวกเราอยู่ในนั้นเลย แต่เป็นคนรุ่นเก่าที่เกิดขึ้นมาในช่วงสงครามเวียดนามที่กำลังนำพาประเทศไทยไปในแบบที่เขาคิดว่าคือสิ่งที่ดีที่สุด เขาคิดว่านั่นคือความฝันของประเทศไทย แต่คำถามคือ ความฝันหรือทิศทางแบบนั้นเป็นทิศทางที่คนรุ่นพวกเราต้องการหรือเปล่า
เราต้องไม่ลืมว่า ถ้าสมมุติว่ามันเป็นแบบนี้เรื่อยๆ ไกลไปเรื่อยๆ ประเทศไทยก็ยิ่งถลำไปเรื่อยๆ มันยากที่จะกลับมาสู่จุดที่คนรุ่นพวกอยากให้เป็น เราต้องไม่ลืมว่าสุดท้ายคนที่จะต้องแบกรับผลที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั้งมวลของความเละเทะของอนาคตที่แสนจะมืดมนคือพวกเรา พวกเรายังต้องอยู่กับมันไปอีกหลายสิบปี ขณะที่คนรุ่นนั้นอีกไม่นานก็ต้องลาจากโลกนี้ไปแล้ว เขาไม่ได้เห็นความเลวร้ายที่พวกเขาทำขึ้น แต่พวกเราจะได้เห็นแน่นอน จึงต้องถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า ตกลงพวกเราอยากให้เป็นแบบนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่อยากให้เป็น อยากเห็นสังคมที่ดีกว่านี้ ก็ต้องถามตัวเราง่ายๆว่ากำลังทำอะไรในเวลานี้
มองสังคมช่วง 2 ปีกว่าอย่างไร
ผมขออธิบายในแง่ที่ดีก่อนว่า หลายคนเริ่มตาสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ เราเคยพูดเรื่องตาสว่างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากันมาก แต่ช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมาก็มีเยอะเหมือนกัน อะไรก็ตามที่สังคมไทยเคยเชื่อถือ เราเคยเชื่อถือว่าทหารจะเป็นคนที่มาปลดปล่อยให้สังคมไทยมีความปรองดองได้ คนไทยหลายคนก็โหยหาเรื่องนี้ แม้จะเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม แต่ทหารก็ทำไม่สำเร็จ และไม่ได้ดีกว่านักการเมือง แม้แต่ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชัน
พูดง่ายๆว่าสถาบันการเมืองของไทยอยู่ในความขัดแย้ง สถาบันทหารก็แปดเปื้อนไม่ได้แตกต่างกับคนอื่นๆเลย ทำให้เห็นว่าสุดท้ายคุณก็ไม่สามารถพึ่งพากลุ่มใดที่จะทำให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าได้ ทำให้ตื่นจากฝันหวานเสียที แล้วอยู่กับความจริงว่าในแง่นี้ทำให้คนไทยเติบโตขึ้น แม้ไม่ทุกคนก็ตาม
ส่วนแง่ที่ไม่ดีคือ เหมือนเราตื่นจากตรงนั้นไม่มากพอ ทำให้ภาพรวมของสังคมยังย่ำอยู่กับที่ บทเรียนครั้งนี้เป็นบทเรียนที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกแล้ว ผมว่าเราเจ็บปวดมาเยอะ บทเรียนคราวนี้เป็นบทเรียนราคาแพงมหาศาล อย่างน้อยในทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก เราสูญเสียโอกาสอย่างมาก ระหว่างที่ไอโฟนออกรุ่นใหม่ หรือลาวสามารถส่งดาวเทียมได้แล้ว โลกรอบๆตัวเราเคลื่อนไปข้างหน้า ประเทศไทยอยู่จุดไหนตรงไหน มีแต่ได้รับผลกระทบแรงขึ้นเรื่อยๆ
ภาพรวมของสังคมไทยทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เรียกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเลวร้ายลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่า แต่อันนี้ไม่ใช่บทเรียนครั้งแรก ความน่ากลัวคือ มันจะไม่ใช่บทเรียนครั้งสุดท้าย
คำถามคือ เราจะย่ำอยู่แบบนี้อีกนานแค่ไหน ถามว่าสถานการณ์ขณะนี้มีอะไรที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ผมแค่พยายามมองถึงอนาคตของสังคม พูดตรงๆว่า ผมหลับตาและพยายามจินตนาการ เมื่อก่อนผมพูดว่าจินตนาการสัก 5 ปี ผมว่ามืดมน ตอนนี้ผมพูดตรงๆว่าแค่ 2-3 ปี ผมก็มืดมนแล้ว คือมันมองไม่เห็นอนาคตจริงๆ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่น่ากลัวและไม่รู้ว่าจะจบยังไง จะเป็นยังไง จะเดินต่อไปอย่างไร ผมขอย้ำว่ามันมืดมนจริงๆ
จะแก้ไขอย่างไร
ตอนนี้คงยากถ้าเราจะอยู่กันแบบนี้ คือก่อนหน้านี้ยังมีพอมีแนวทาง เช่นเรื่องรัฐธรรมนูญ ถ้าโหวตโนชนะ ผมคิดว่าประชาชนชาวไทยจะได้มานั่งคุยกันเสียทีว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะเป็นไปตามที่ คสช. ต้องการ ถ้าถามว่าจะแก้ไขปัญหายังไง ผมคิดว่าอย่างแรกเลยคือ เราต้องทำให้รัฐบาลและ คสช. ออกไปจากการบริหารตรงนี้ก่อน จะเริ่มกระบวนการอย่างไรก็มานั่งคุยกัน สิ่งต่อไปคือ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้รัฐประหารเกิดขึ้นอีก ให้ทหารออกจากการเมืองกลับเข้ากรมกอง ทำอย่างไรให้ศาลถูกตรวจสอบได้ ไม่ใช่ต้องเชื่ออย่างเดียว ไม่สามารถตรวจสอบหรือตั้งคำถามได้เลย
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องถูกทำลายลง ไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ เพราะขาดการยึดโยงจากประชาชน คือทำอย่างไรก็ตามให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดให้ได้ เราต้องเริ่มจากประชาชน ถ้าไม่เริ่มจากประชาชนก็ไม่ต้องพูดกันต่อว่าการเมืองประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร
You must be logged in to post a comment Login