- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
การเมืองเชิงตุลาการ / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอประเด็นที่ชัดเจนว่า ในสภาพการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา บทบาทขององค์กรตุลาการเป็นอีกประเด็นที่มีปัญหา ซึ่งเป็นกระบวนการที่สืบเนื่องจากสิ่งที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัฒน์” โดยเห็นว่าควรใช้คำที่สื่อความหมายตรงกว่านั้นคือ “การเมืองเชิงตุลาการ” หมายถึงตุลาการเข้ามาแทรกแซงและมีบทบาททางการเมืองโดยตรง
ปัญหาสำคัญประการแรกคือ การกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันตุลาการในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป รวมทั้งหลักการตามรัฐธรรมนูญไทยก่อน พ.ศ. 2549 นั้น ถือหลักการแบ่งแยกอำนาจคือ อำนาจตุลาการ มีสถานะเป็น 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตยควบคู่กับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร แนวคิดเช่นนี้ตุลาการจะมีอำนาจในการตัดสินคดีความ หรือถ้าจะเกี่ยวข้องในทางการเมืองคือ การวินิจฉัยชี้ขาดกรณีมีข้อขัดแย้งทางกฎหมาย แต่เรื่องการเมืองเชิงตุลาการจะมีหลักการอีกแบบหนึ่งคือ เปิดทางให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองได้อย่างชอบธรรม โดยถือว่าศาลคือองค์กรที่เป็นกลางและมีความเที่ยงธรรม ศาลจึงต้องเข้ามาทำหน้าที่ในการกอบกู้วิกฤตทางการเมือง หรือแก้ปัญหาจากการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ด้วยเหตุนี้อำนาจตุลาการจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับ “เผด็จการรัฐสภา” และ “ทุนนิยมสามานย์”
“การเมืองเชิงตุลาการ” ในสังคมไทยมีจุดตั้งต้นเมื่อมีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549 ว่าปัญหาทางการเมืองของประเทศนั้นจะแก้ไขโดยการขอนายกฯพระราชทาน ให้พระมหากษัตริย์เข้าแทรกแซงตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้ เพราะการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจได้ทุกอย่าง ถ้าทำเช่นนั้นจะถือว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ แต่ทางออกที่ดีคือการใช้การประชุมร่วมกันของศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหาทางแก้ปัญหา ให้ตุลาการช่วยคิดช่วยทำ เพราะ “ประชาชนทั่วไปเขาหวังในศาล”
ต่อมา ธีรยุทธ บุญมี นักสังคมวิทยา (ไม่ใช่นักกฎหมาย) ก็บัญญัติศัพท์ “ตุลาการภิวัฒน์” ขึ้นมา โดยวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2549 เสนอว่า ตุลาการจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปสังคมและการเมืองไทยครั้งใหม่ เพราะการเมืองไทยภายใต้ระบอบทักษิณได้เปลี่ยนลักษณะเป็นเรื่องของอำนาจดิบ ไม่มีความชอบธรรม การเลือกตั้งใหม่ตามกระบวนการประชาธิปไตยไม่ใช่ทางออกของปัญหา ต้องใช้มิติของกฎหมายหรือกระบวนการตุลาการภิวัฒน์เข้ามาแก้ปัญหา เพราะ “อำนาจยุติธรรมเก่าแก่กว่าประชาธิปไตย” กระบวนการตุลาการภิวัฒน์คือการใช้อำนาจตุลาการเข้ามาเป็นกลไกในการเปลี่ยนแปลง เพื่อขยายพื้นที่ความยุติธรรมสำหรับประชาชนให้กว้างขวางขึ้น เพื่อให้ฝ่ายตุลาการมีบทบาทในการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไม่ให้ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม
หลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 นำเอาหลักของตุลาการภิวัฒน์มาใช้อย่างเต็มที่ เปิดทางให้ฝ่ายตุลาการเข้ามามีอำนาจวินิจฉัยทางการเมืองในกรณีสำคัญหลายครั้ง ซึ่งนายสมชายอธิบายว่า แท้จริงแล้วคือ Judicialization of Politic หรือกระบวนการที่ทำให้ประเด็นปัญหาทางการเมืองเข้าไปอยู่ในการตัดสินของฝ่ายตุลาการ
ปัญหาสำคัญของตุลาการภิวัฒน์มาจากสมมุติฐานที่ว่า ศาลเป็นองค์กรที่เป็นกลาง มีความยุติธรรม ไม่มีผลประโยชน์ มีความบริสุทธิ์ ไม่มีความฝักใฝ่ทางการเมือง ศาลจึงสามารถละเมิดหลักการแบ่งแยกอำนาจโดยเข้าไปมีบทบาทควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารได้ แต่สมมุติฐานนี้มีปัญหา เพราะตามความเป็นจริงผู้พิพากษาเป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นอิสระจากสังคม ผู้พิพากษาจึงอาจมีอคติทางสังคม สถานะ ค่านิยม แม้แต่ผลประโยชน์ทางการเมือง เมื่อโครงสร้างศาลไทยยังมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม สถาบันตุลาการจึงกลายเป็นเครื่องมือในการธำรงไว้ซึ่งอำนาจดั้งเดิม หรืออำนาจนำ หรือเครื่องมือของชนชั้นนำในการรักษาระเบียบสังคมเก่าเสมอ
เงื่อนไขเฉพาะอีกประการหนึ่งของตุลาการไทยคือ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมทางการเมือง เพราะสถาบันศาลในประเทศประชาธิปไตยต้องให้ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน การใช้อำนาจของศาลในการวินิจฉัยทางการเมืองจึงต้องยืนอยู่บนหลักการแห่งอำนาจของประชาชน แต่สถาบันศาลไทยถือว่าตนเองใช้อำนาจในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมเช่นนี้ทำให้ศาลไทยยอมรับการวิจารณ์ได้ยาก และปรับตัวในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ยากกว่า
ดังนั้น เมื่อตุลาการภิวัฒน์เปลี่ยนศาลไทยจากองค์กรทางกฎหมายเป็นองค์กรทางการเมือง ศาลจึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม เมื่อระบอบการเมืองเปลี่ยนเป็นเผด็จการทหาร สถาบันตุลาการก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในกลไกของรัฐเผด็จการไปด้วย เพราะสถาบันตุลาการไม่เคยมีจารีตในการปฏิเสธผลทางกฎหมายของการรัฐประหาร เมื่อมีการรัฐประหารครั้งใด สถาบันตุลาการก็พร้อมจะยอมรับว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คำสั่งและประกาศของคณะรัฐประหารกลายเป็นกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ได้ ศาลจึงกลายเป็นองค์กรต่อต้านประชาธิปไตยและเป็นเครื่องมือจัดการกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร
ในการดำเนินการของศาลไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา จึงมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสองมาตรฐานในการตัดสิน ขึ้นอยู่ว่าคู่กรณีเป็นฝ่ายไหน แต่ก็มีข้อโต้แย้งจากนักวิชาการเช่นธงชัย วินิจจะกูล ที่ว่า ศาลไทยไม่ได้มีสองมาตรฐาน แต่มีมาตรฐานเดียวเสมอคือ มาตรฐานของชนชั้นนำ ไม่ว่าชนชั้นนำจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม
ตุลาการภิวัฒน์ยังมีส่วนสำคัญในการทำลายการถ่วงดุลทั้งหมด เพราะทำให้องค์กรตุลาการมีอิสระอย่างมากในตัวเอง ตัวอย่างกรณีศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระซึ่งเกิดภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีที่มาจากองค์กรหลายส่วน พรรคการเมืองกับรัฐสภาเข้าไปมีส่วนกำหนด แต่หลังจากการเกิดตุลาการภิวัฒน์ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระถูกกำหนดและครอบงำด้วยองค์กรศาลด้วยกันเองเป็นสำคัญ
กรณีนี้ทำให้อำนาจทางการเมืองของตุลาการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นอำนาจอันคับแคบและเป็นปัญหาอย่างยิ่ง
You must be logged in to post a comment Login