วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปัญหาโลกแตก / โดย ลอย ลมบน

On December 26, 2016

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

การแก้ปัญหาทุจริตการเลือกตั้งในบ้านเราดูเหมือนจะเป็นปัญหาโลกแตกที่แก้ได้ยาก

มีความพยายามคิดวิธีแก้ไขหลายวิธี และที่ใช้มาแล้วดูเหมือนได้ผลไม่มาก จึงต้องคิดหาวิธีแก้ไขกันอีก

ในอดีตนั้นการจัดการเลือกตั้งเป็นของกระทรวงมหาดไทย ปัญหาที่พบคือความไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากฝ่ายการเมืองที่ถือครองอำนาจอยู่ในตอนนั้นแทรกแซงการทำงานได้ง่าย

ในอดีตจึงได้เห็นกรณีนับคะแนนอยู่ไฟฟ้าดับ พอไฟมาผลคะแนนกลับพลิกผัน ฝ่ายที่นำอยู่กลับเป็นฝ่ายตามหลังและพ่ายแพ้ไปในที่สุด

เพื่อแก้ปัญหานี้จึงเปลี่ยนวิธีการใหม่ โดยตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทนกระทรวงมหาดไทย

แต่จุดบอดของ กกต. คือไม่มีคนของตัวเองมากพอที่จะใช้จัดเลือกตั้งได้ ต้องอาศัยข้าราชการจากหน่วยงานอื่นมาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ทั้งคนจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ

แม้จะออกแบบให้มี กกต.จังหวัดเป็นผู้ดูแลการเลือกตั้งในพื้นที่ แต่ก็มีปัญหาว่า กกต.จังหวัดส่วนใหญ่เป็นคนของนักการเมืองในพื้นที่

หลังจากรัฐประหารครั้งล่าสุดจึงคิดวิธีแก้ปัญหาทุจริตเลือกตั้งใหม่ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ออกแบบให้ยกเลิก กกต.จังหวัด แล้วกำหนดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นมาทำหน้าที่แทน

ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะใช้วิธีจับฉลากเลือกจากผู้สมัครในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ไม่ให้อยู่ในอำนาจตลอดไปจนกว่าจะหมดวาระเหมือน กกต.จังหวัด

กรธ. เห็นว่าการอยู่นานทำให้มีอำนาจและอิทธิพลมาก ง่ายต่อการแทรกแซงหรือง่ายต่อการเอื้อให้เกิดทุจริต นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ที่จะมาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องไม่เป็นข้าราชการหรือที่ปรึกษาหน่วยงานราชการ และยังให้ออกไปทำหน้าที่นอกเขตพื้นที่ตัวเองเพื่อป้องกันความไม่เป็นกลางอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าการออกไปทำหน้าที่คุมการเลือกตั้งต่างพื้นที่ซึ่งไม่มีความคุ้นเคยจะทำให้ทำงานยาก และการกำหนดให้ทำหน้าที่เฉพาะกิจ ไม่มีสถานะเป็นคนของ กกต. ทำให้ง่ายต่อการถูกซื้อตัว

จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ให้ กกต.จังหวัดเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง หรือให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ก็ไม่พ้นข้อครหาไม่เป็นกลาง ถูกแทรกแซง ถูกซื้อตัว

การจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใสเป็นธรรมจึงเข้าข่ายปัญหาโลกแตกสำหรับการเมืองไทย และไม่ว่าจะออกแบบวิธีการจัดการควบคุมการเลือกตั้งอย่างไรก็เชื่อว่าจะมีหลายคนแสดงความไม่เห็นด้วยและชี้ให้เห็นช่องโหว่ของระบบที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่

ความจริงปัญหาทุจริตเลือกตั้งแก้ง่าย และไม่ต้องคิดระบบวิธีการใดๆขึ้นมาใช้ให้ซับซ้อนยุ่งยาก

วิธีง่ายๆที่ว่านั้นคือการแก้ไขที่คน หากคนมีความเที่ยงธรรม ตรงไปตรงมา ไม่ทุจริตคดโกง ทั้งผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และผู้ควบคุมการเลือกตั้ง ก็ไม่ต้องเสียเวลาคิดหาวิธีการแก้โกงหรือปราบโกงเลือกตั้ง

แต่วิธีง่ายๆนี่แหละเป็นวิธีที่ทำได้ยากมากที่สุด

หลักการของการแก้ปัญหามีอยู่ 2 อย่างที่ระบุไว้ในตำรา

นั่นคือให้แก้ที่คน หากแก้ที่คนไม่ได้ก็ต้องแก้ที่ระบบ เพื่อให้ระบบควบคุมคนให้อยู่ในกรอบกติกา

เมื่อปัญหาการเลือกตั้งของไทยยังแก้ที่คนไม่ได้ แม้ที่ผ่านมาจะเสียงบประมาณจำนวนมากกับการจัดอีเวนท์ฝึกอบรมสัมมนา ทั้งที่ทำกับเด็กและผู้ใหญ่ แต่เมื่อยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรจึงต้องคิดระบบมาใช้ควบคุมคน

แน่นอนว่าทุกระบบย่อมมีช่องว่าง เพราะคนจะโกงไม่ว่าระบบจะดีแค่ไหนอย่างไรก็หาช่องว่างเพื่อกุมความได้เปรียบเหนือคนอื่นจนได้

สิ่งที่อยากเห็นตอนนี้ไม่ใช่การออกมาคัดค้านต่อต้าน หรือการชี้หน้าฝ่ายคัดค้านต่อต้านว่ากลัวโกงไม่ได้จึงไม่เห็นด้วย แต่อยากให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ รับฟังเหตุผลของกันและกัน เพื่อร่วมกันออกแบบระบบให้ดีที่สุด

กรธ. นั้นแม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการร่างกฎหมาย แต่ไม่ได้มีประสบการณ์ตรงในสนามเลือกตั้ง จึงควรเปิดใจรับฟังข้อเสนอแนะและคำท้วงติงจากนักการเมือง พรรคการเมือง หรือ กกต.

ส่วนของนักการเมือง พรรคการเมือง ก็ควรเสนอความเห็นอย่างสร้างสรรค์ อย่าคัดค้านอย่างเดียวโดยไม่ชี้ทางออกจากปัญหา

ไหนๆบ้านเมืองก็เดินมาถึงจุดนี้แล้ว จุดที่กลับไปแก้ไขการเข้าคุมอำนาจรัฐของกองทัพไม่ได้ เมื่อมีโอกาสที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปเพื่อให้หลุดพ้นจากสิ่งไม่ดีในอดีตก็ควรหันหน้ามาร่วมมือกัน

ทั้งนี้ เชื่อว่าไม่มีนักการเมืองคนไหนอยากโกงเลือกตั้ง เพราะการโกงเลือกตั้งมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการสู้กันอย่างตรงไปตรงมา ถ้าโกงแล้วไม่ชนะก็เสียเงินฟรี หรือโกงแล้วชนะก็ไม่มีศักดิ์ศรี

เมื่อร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญพ้นจากมือ กรธ. ไปแล้ว ตามขั้นตอนก็ยังสามารถปรับปรุงแก้ไขได้อีกในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้เวลา สนช. พิจารณาร่างกฎหมายลูกฉบับละไม่เกิน 60 วันหลังจากรับร่างกฎหมายมาจาก กรธ.

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. บอกว่าเมื่อรับกฎหมายลูกมาพิจารณาแล้ว หากกฎหมายเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดจะให้มีตัวแทนจากหน่วยงานนั้นเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแปรญัตติร่างกฎหมายด้วย เช่น ร่าง พ.ร.บ.กกต. ก็จะให้มีตัวแทนจาก กกต. ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการด้วย และถ้าจะให้ดี กกต. ควรส่งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ที่ค่อนข้างจะเห็นต่างจาก กรธ. มาร่วมนั่งในคณะกรรมาธิการ

ส่วนตัวแทนพรรคการเมืองนั้นคงยากที่จะได้เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ เพราะภาพมันขัดแย้งกัน แต่ สนช. ก็ควรเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายการเมืองได้แสดงความคิดเห็นทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ได้กฎหมายที่ดีที่สุดมาใช้ควบคุมการเลือกตั้ง

ต้องไม่ลืมว่าการทุจริตเลือกตั้งเป็นหัวข้อหนึ่งที่ถูกใช้โจมตีนักการเมือง จนทำให้นักการเมืองไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนเท่าที่ควร และการทุจริตเลือกตั้งก็ถูกสร้างกระแสว่าเป็นต้นทางของการทุจริตของฝ่ายการเมือง เพราะต้องถอนทุนคืน และการทุจริตก็เป็นเหตุผลหลักข้อหนึ่งในหลายๆข้อที่ใช้อ้างทำรัฐประหารจากกองทัพ

การแก้ทุจริตเลือกตั้งจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทาง ซึ่งจะทำให้ฝ่ายการเมืองมีเกียรติมากขึ้น ได้รับการยอมรับมากขึ้น และยังไม่ทำให้เกิดข้ออ้างทำรัฐประหารได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทุจริตเลือกตั้งแม้จะเป็นปัญหาโลกแตก แต่แก้ได้หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน


You must be logged in to post a comment Login