วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ไม่รอดนกกระสาแน่..ไอ้กบแดง! / โดย ทีมข่าวการเมือง

On December 26, 2016

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“ผมสงสัยอยู่ว่าในเมื่อเราเป็นประเทศเมืองพุทธ ส่วนใหญ่เขาเขียนคำว่าศีลธรรมอันดี ไม่รู้จักกันเหรอ สื่อรู้จักไหม ถ้ารู้จักก็อย่ามีปัญหามากนัก การทำผิดศีลธรรมอันดีคืออะไร ศีลธรรมคือความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของประเทศชาติ ถ้าไม่เข้าใจคำนี้ก็ไม่ต้องทำอย่างอื่น และที่ท่านถามมา ผมก็จะถามกลับไป ท่านเป็นคนที่ใช้ระบบโซเชียลมากกว่าผม เมื่อเปิดดูแล้วเห็นอันตรายในนั้นหรือไม่ ไม่ว่าจะขายยาเถื่อน ภาพโป๊ หรือการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม หมิ่นประมาท บิดเบือน”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกลุ่มต่อต้านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในชุด “กฎหมายความมั่นคงดิจิทัล” ว่าอย่าให้ความสำคัญมากนัก ตนคิดว่าคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็น เพียงแต่เขาไม่แสดงความคิดเห็นออกมา คนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เป็นคนที่ต่อต้านคัดค้าน บางคนเขาโพสต์มาก็ไลค์ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้ดูสาระข้างในที่อธิบายความหมายแต่ละอันคืออะไร อย่างไร

ส่วนคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาแต่ไม่ไว้วางใจแล้วจะไปยังไง เพราะกฎหมายต้องมีคนทำงาน ต้องไปดูว่าการตั้งคณะกรรมการเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร มีคุณวุฒิคุณสมบัติหรือไม่ เขาไม่ได้มาจ้องจับผิด เฝ้าระวังดูโซเชียลมีเดีย ไม่มีใครอยากจะทำ เพราะมันเหนื่อย อยู่ที่สังคมจะช่วยกันปกป้องอย่างไรให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยในทุกวงการ เพราะการใช้โซเชียลมีเดียในโลกวันนี้มีทั้งวิกฤตและโอกาส

“การที่ประกาศออกมาว่าจะโจมตี ทางรัฐบาลก็มีมาตรการต่างๆ จริงๆแล้วเขามีระบบรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว ฉะนั้นอย่าไปให้เครดิตมากนักเลย การจะล้มโน่นล้มนี่ทำไม่ได้หรอก เพียงแต่ทำให้ไม่สามารถใช้การได้ โดยระดมใช้มาในช่องทางจนความถี่แน่นเกินไป ทุกอันถ้าใช้กันมากๆก็แน่นหมด ใช้ไม่ได้ไประยะหนึ่ง แต่ผมถามว่าเขาจะนั่งโพสต์กันได้ตลอดเวลาไหม ก็เป็นระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จากนั้นเราก็ทำงานต่อ ก็ไม่เป็นไร การจะล้วงระบบต่างๆผมว่าไม่ง่ายนักหรอก เขามีระบบรองรับไว้หลายๆอย่าง โดยเฉพาะระบบการเงินการคลังต่างๆของประเทศ เขาใช้กันทั้งโลก ถ้ามาตรการเหล่านี้แก้ไขอะไรไม่ได้ก็คงวุ่นวายไปหมดแล้วทั้งโลก”

พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์

ที่น่าสนใจแต่อาจน่ากลัวกว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์คือ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงทางไซเบอร์ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเตรียมเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต้นปี 2560 โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) หรือ National Cyber Security Committee (NCSC) มีอำนาจสั่งการได้ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารโดยไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งรายละเอียดต้องดูร่างที่จะเสนอต่อ สนช. ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่เหตุผลหลักคือ ปกป้อง ป้องกัน หรือรับมือกับสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปรกติของดาวเทียม ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของชาติในมิติต่างๆ ครอบคลุมความมั่นคงทางการทหาร ความสงบเรียบร้อยในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

กปช. ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯเป็นประธาน เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 7 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นิติศาสตร์ และด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง

ประกาศสงครามไซเบอร์

การประกาศสงครามไซเบอร์ต่อต้านชุด “กฎหมายความมั่นคงดิจิทัล” ของกลุ่ม “พลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall #opsinglegateway” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกและเรียกร้องให้คนไทยทุกคนร่วมยุทธการ “เด็กปาก้อนหิน : F5” ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญเพื่อสั่งสอนรัฐบาล โดยดีเดย์ตั้งแต่เวลา 14.00 น. วันที่ 20 ธันวาคม “นี่คือสงครามไซเบอร์ที่เราไม่ได้ก่อขึ้น และพวกเราเตือนแล้วว่าจะยกระดับ ลุงตู่คิดใหม่นะครับ ถ้าไม่ยอมรับรองว่าไม่ได้รับเงินเดือนตอนสิ้นเดือนนี้กันแน่ๆๆๆๆ อย่าว่าพวกเราโหดเลยยยย เพราะพวกเราไม่ได้เรียกร้องอะไรไปมากกว่าขอปกป้องเสรีภาพที่มีน้อยนิดเอาไว้เท่านั้น อย่ามาพรากไปจากพวกเราเลย”

เป้าหมายของกลุ่มคือระบบการบริหารการเงินการคลังและระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยกลุ่มได้ขึ้นหน้าเพจ (20 ธันวาคม) โจมตีเว็บไซต์รัฐบาลไทยแล้ว ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 19 ธันวาคม ก็มีรายงานข่าวว่า 4 เว็บไซต์รัฐบาลมีปัญหาล่มและไม่สามารถให้บริการคือ ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th สํานักนายกรัฐมนตรี www.opm.go.th เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา www.ratchakitcha.soc.go.th และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ www.nsc.go.th

ช่วงเช้าวันที่ 20 ธันวาคม “พลเมืองต่อต้าน Single Gateway” ยังขึ้นหน้าเพจว่า บก.จร. (กองบังคับการตำรวจจราจร) โดนโจมตี และช่วงเย็นขึ้นหน้าเพจว่า ระบบการเงินการคลังภาครัฐทั้งประเทศเดี้ยงสนิทแล้ว (ยิงเว็บเดียวกระเทือนไปหลายพันหน่วยงาน)

ส่วนการโจมตีวันที่ 2 คือวันที่ 21 ธันวาคม ยังเป็นระบบการจัดซื้อจัดจ้างของทุกส่วนราชการทั้งประเทศ ซึ่งดับสนิท ข้าราชการฝ่ายพัสดุทุกส่วนราชการพักร้อนยาวได้เลย (รวมทั้งทหาร ตำรวจที่ทำงานพัสดุ) และอีกไม่นานน้ำมันรถของส่วนราชการก็ไม่มีเติมแน่นอน 1 สัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน จะเอาอะไรกินกัน ทนได้ทนไป

รวมศูนย์สั่งการและควบคุม

ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ว่า สะท้อนมุมมองแบบสั่งการและควบคุมอย่างรวมศูนย์ ทั้งยังมีบทบัญญัติที่ไม่ชัดเจน สามารถตีความไปได้ตามอัตวิสัยหรืออคติของผู้ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งตั้งข้อสังเกตบทบัญญัติที่ว่าด้วยการปิดกั้นเว็บไซต์ที่อนุญาตให้ทำได้แม้เนื้อหาจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี การตีความน่าจะถูกตีกรอบโดยบริบททางการเมืองเป็นสำคัญ รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเว็บและคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ มีลักษณะเป็นกึ่งตุลาการที่สามารถสั่งปิดเว็บหรือเปรียบเทียบปรับผู้เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องขอหมายศาล ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวเนื่องกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสิบๆล้านราย และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายและผู้ให้บริการเนื้อหาทั้งในและนอกประเทศที่จะได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวล พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่แก้ไขว่า อาจคุกคามเสรีภาพทางออนไลน์ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้หลักประกันว่าจะยึดมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชี้ว่า เนื้อหาร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย

นายชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ผู้บริหารบริษัท FireOneOne และ Wecosystem Academy บอกว่า แปลกใจที่ภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับใหม่ก่อนใครยังเงียบและไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นสักเท่าไร โดยกลุ่มธุรกิจแรกที่จะได้รับผลกระทบแน่นอนคือ ผู้ให้บริการ Cloud ได้แก่ ISP (ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต) และ IDC (ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์) ซึ่ง ISP และ IDC ในประเทศไทยจะไม่สามารถรักษาข้อมูลของลูกค้าได้อย่างปลอดภัย เพราะภาครัฐมีอำนาจเต็ม เพียงแค่ “สงสัย” ก็สามารถขอเข้าดูและดำเนินการใดๆก็ได้ ทางออกของบริษัทต่างๆที่เก็บข้อมูลไว้กับ ISP หรือ IDC ในไทยก็คือ ย้ายไปใช้บริการ IDC ในต่างประเทศ ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล กฎหมายนี้จึงขัดกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง

“สตาร์ทอัพผัดเป็ด” หนึ่งใน Facebook Page สตาร์ทอัพ ให้ความเห็นผลกระทบที่จะเกิดจาก “อำนาจ” ของเจ้าหน้าที่ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือสั่งให้ “ผู้ให้บริการ” ทำการ decrypt หรือถอดรหัสข้อมูลต่างๆว่า จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าในการใช้บริการ และยังเชื่อมโยงถึงคำจำกัดความของคำว่า “ผู้ให้บริการ” ที่ต้องดูแลข้อความและข้อมูลทุกอย่างที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มที่ให้บริการอย่างดีที่สุด เพราะถ้าเฝ้าระวังไม่ละเอียดอาจจะตกเป็นจำเลยอีกคนหนึ่ง ส่งผลให้ภาคธุรกิจ เช่น เว็บบอร์ด หรือเว็บฝากไฟล์ต่างๆ มีความเสี่ยงทันที และต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลฐานข้อมูลต่างๆมากขึ้น เพื่อป้องกันความผิดที่จะเกิดขึ้น

สุดท้ายสิ่งที่ต้องการความชัดเจนคือ ภาคเอกชน ตัวแทนที่จะมาเป็นคณะกรรมการตาม ร่าง พ.ร.บ. นี้ จะเป็นใคร และจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ อย่างไร

คุมทุกสื่อทุกช่องทาง

เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังมีประเด็นที่มาเงียบๆคือ มีความพยายามควบคุมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเอง โดยร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างเดิมให้ภาคการเมืองและภาครัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนมากขึ้น อาทิ กำหนดให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติประกอบด้วยผู้แทนระดับปลัดกระทรวง และให้คณะกรรมการรับขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกแถลงการณ์คัดค้านว่า ขัดต่อหลักเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างร้ายแรง และเรียกร้องให้ทบทวนการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้ขัดต่อเจตนารมณ์ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการตั้งคณะกรรมการสภาวิชาชีพฯไม่ต่างกับการย้อนยุคไปครั้งกรมประชาสัมพันธ์ทำหน้าที่ออกบัตรให้กับผู้สื่อข่าว แต่ครั้งนี้เปลี่ยนเป็นปลัดกระทรวงมาคุมสื่อแทน

“ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์ โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คกรณีแถลงการณ์ขององค์กรสื่อว่า องค์กรสื่อนั่นแหละตัวดี เป็นตัวตั้งตัวตีเข้าไปร่วมสภาปฏิรูปฯ อยากออกกฎหมายให้อำนาจสื่อควบคุมกันเอง เพราะไม่พอใจที่จะเล่นงานใครก็ไม่ได้ แส่เข้าไปร่วมมือรัฐประหาร อยากได้อำนาจคุมสื่อ แต่รัฐทหาร รัฐราชการ มีหรือจะให้สื่อคุมกันเอง เขาก็ร่างกฎหมายให้มีกรรมการออกใบอนุญาต โดยเอาอำนาจรัฐมาคุม เลยเถิดจากความต้องการ

วิธีคิดของรัฐราชการคือ ประชาชนไทยต้องกลายเป็น “มนุษย์ใบอนุญาต” จะทำอะไรต้องขออนุญาตทางราชการก่อน พร้อมทั้งต้องให้ราชการเข้ามาควบคุมคุณธรรมจริยธรรมในวิชาชีพ ทั้งที่โลกทุกวันนี้ใครก็เป็นสื่อได้ นักคิด นักวิชาการ หรือชาวบ้านที่พบเห็นเหตุการณ์จริงก็เป็นสื่อออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง ใบอนุญาตสำคัญอะไร ด้วยเหตุนี้จึงออก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาคุมความคิดเห็นออนไลน์

อุทาหรณ์“กบเลือกนายได้นกกระสา”

หากพิจารณาอย่างมีสติแล้ว ชุด “กฎหมายความมั่นคงดิจิทัล” ไม่ว่าจะอ้าง “ภัยคุกคามไซเบอร์” หรือ “ความมั่นคงทางทหาร” ก็น่าวิตกสำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกสี ไม่ว่าเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือสลิ่ม กปปส. เพราะมีนิยามที่กว้างมาก แม้แต่เรื่องศีลธรรมอันดี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ตีความถึงความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศชาติ

การให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐและคณะกรรมการที่ตั้งจากคนไม่กี่คนเท่ากับเปิดช่องให้ใช้อำนาจละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและข้อมูลต่างๆ รวมถึงการดักฟังการสื่อสารต่างๆได้เพียงแค่เห็นว่าเข้าข่ายความมั่นคง ซึ่งหลักสากลระบุว่ากฎหมายจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนได้เท่าที่จำเป็นอย่างชัดเจนเท่านั้น

ขณะที่ กปช. มีอำนาจล้นฟ้า สามารถสั่งให้ทุกคนทำตาม ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ซึ่งอาจทำให้เกิดการกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือเป็นช่องทางให้เกิดการคอร์รัปชันได้ แต่รัฐบาลทหารและ สนช. ต่างยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่มีผลดีและมีความจำเป็น โดยไม่สนใจเสียงของประชาชนอีกกว่า 70 ล้านคน ไม่ใช่แค่ผู้ที่ลงชื่อคัดค้านเกือบ 400,000 คนเท่านั้น การลงคะแนน 168 ต่อ 0 ของ สนช. โดยไม่มีใครค้านแม้แต่คนเดียว ยิ่งสะท้อนถึงอำนาจเผด็จการที่กดปุ่มสั่งให้ออกกฎหมายอะไรก็ได้ หากเป็นสภาปรกติในระบอบประชาธิปไตยย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีแม้แต่คนเดียวคัดค้านหรือท้วงติง

กว่า 2 ปีภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของรัฐบาลและ คสช. ใช้กฎหมายที่คิดเอง เขียนเอง และเออเอง มาควบคุมประชาชนและฝ่ายที่เห็นต่าง โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมและยังไม่สามารถตรวจสอบได้อีกด้วย มีแต่ผู้มีอำนาจเท่านั้นที่สามารถไล่ตรวจสอบฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองได้ข้างเดียว

เมื่อกฎหมายกลายเป็นความชอบธรรมในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือควบคุมฝ่ายที่เห็นต่าง ก็มีคำถามว่าแล้วต่อไปประชาชนคนไทยจะอยู่กันอย่างไร เพราะแม้แต่อนาคตของประเทศยังถูกตีกรอบจากคนไม่กี่คนที่ไม่รู้ว่าเป็นคณะเทวดาที่ดีมาจากไหนมาให้ทุกคนต้องทำตาม 20 ปี กฎหมายที่ว่าดีและจำเป็นเป็นไปตามความต้องการของ คสช. และพวกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน

วันนี้คนไทยทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ไม่ว่าสีเสื้อใด จะเหลือง แดง หรือสลิ่ม ล้วนอยู่ภายใต้กฎหมายที่ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือจากตัวแทนที่ตนไม่ได้เลือก ซึ่งคนเสื้อแดงพยายามต่อสู้เพราะถูกกระทำมาก่อน แม้คนเสื้อเหลืองและสลิ่มอาจมีความพอใจและยอมรับอำนาจเผด็จการเพื่อทำลายอีกฝ่ายที่ถูกปลูกฝังมาให้เกลียดชัง แต่วันนี้ไม่ว่าจะสีเสื้ออะไรก็ตระหนักดีถึงสิทธิเสรีภาพที่หายไปภายใต้กฎหมายของรัฐบาลและ คสช. ขณะที่ศาลยังมีอำนาจเท่าเดิม แต่ทำไมจึงต้องมีคณะทำงานที่มีอำนาจล้นฟ้าเพิ่มเข้ามาอีก

ชุด “กฎหมายความมั่นคงดิจิทัล” หรือ “กฎหมายที่จะออกมาควบคุมสื่อมวลชน” ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพได้อย่างกว้างขวาง แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดศีลธรรมอันดีก็มีความผิด โดยเฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีไม่กี่ประเทศเผด็จการที่ใช้กัน ประเทศไทยจึงไม่ใช่ก้าวไปสู่เศรษฐกิจ 4.0 แต่เหมือนย้อนกลับยุคไดโนเสาร์เต่าล้านปีมากกว่า

กฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ที่ได้รับการหนุนส่งหรือไม่ได้คัดค้านจากกลุ่มที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกหาระบอบเผด็จการจากกองทัพจนได้มาซึ่ง “ระบอบพิสดาร” จึงเหมือนนิทานอีสป “กบเลือกนาย” ที่สอนให้รู้ว่า จงพอใจระบอบประชาธิปไตย แม้จะเลวร้ายอย่างไรก็ยังมีสิทธิเสรีภาพที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นและสิทธิความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน ขณะที่ “ระบอบพิสดาร” จะพูดหรือแสดงความเห็นใดๆแม้แต่ในโซเชียลมีเดียยังอาจมีความผิดในข้อหาเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงได้โดยไม่รู้ตัว

เมื่อ “กบในกะลา” แทนที่จะรักษาสิทธิของตนในการเลือกใครก็ได้ แต่กลับปล่อยให้ “นกกระสาลายพราง” มาปกครอง ความจริงก็คือไม่ว่าจะหลงตนว่าเป็นกบสีอะไร สุดท้ายต่างก็ต้องถูกนกกระสาจับกินจนหมดสิ้น

แค่เป็น “กบในกะลา” ก็ย่ำแย่อยู่แล้ว นี่ยังดีใจเมื่อได้ “นกกระสา” มาปกครองอีก.. อนิจจา..กะลาแลนด์!!??


You must be logged in to post a comment Login