วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วิมานในอากาศ

On December 27, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ประเทศไทยมีแต่เรื่องในอุดมคติ สองมาตรฐาน หรือที่ภาษาสมัยนี้เรียกว่า“โลกสวย”

ถามกลางคำถามที่สังคมต้องการคำตอบชัดเจนเรื่องที่มีนายตำรวจใหญ่ไปรับเงินนอกระบบราชการจากกรณีไปรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่เดือนละครึ่งแสนบาทว่าเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ เข้าข่ายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ขัดต่อจริยธรรมอันดีหรือไม่

แต่เรื่องดังกล่าวกลับไม่มีความชัดเจนจากผู้มีอำนาจ มีแต่การโยนกลองกันไปมาว่าเป็นเรื่องส่วนตัวบ้าง เป็นเรื่องที่กฎหมายไม่ได้ห้ามบ้าง โยนให้เป็นเรื่องขององค์กรตรวจสอบบ้าง

ขณะยังหาความชัดเจนต่อเรื่องดังกล่าวไม่ได้ แต่กลับมีเรื่องโลกสวยประเภทต้องการเข้ามาปฏิรูปให้เกิดความโปร่งใส ทำให้ระบบข้าราชการมีคุณธรรม มีจริยธรรม ปลอดจากระบบอุปถัมภ์ ทำให้เกิดธรรมาภิบาลเพื่อสร้างเครดิตให้ตัวเองออกมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างกรณีล่าสุดที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาการศึกษาการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง เป็นประธาน เสนอรายงานการศึกษาเรื่อง “การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม” ต่อที่ประชุม สนช.เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา

ข้อเสนอที่เป็นไฮไลต์เพื่อแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการให้เห็นเป็น รูปธรรม คือ แก้หรือออกกฎหมายที่มีช่องว่างให้เกิดระบบอุปถัมภ์ให้มีความทันสมัย ยกระดับการแก้ปัญหาอุปถัมภ์เป็นวาระแห่งชาติ การมีประมวลจริยธรรมที่ต้องมีจิตสำนึกและปฏิบัติอย่างจริงจัง เช่น

ห้ามรับของขวัญ รับเลี้ยง รับสินบน หรือเล่นกอล์ฟกับผู้มีส่วนได้ประโยชน์ ห้ามข้าราชการที่เกษียณอายุเป็นที่ปรึกษาให้ภาคธุรกิจที่ข้าราชการผู้นั้นเคยมีอำนาจในหน่วยราชการนั้นๆอย่างน้อย 2 ปี กำหนดระเบียบปฏิบัติราชการให้ผู้บริหารระดับสูงพึงระวังในการลดการมีผู้ติดตามหรือช่วยงานในกรณีพิเศษให้น้อยลงเท่าที่จำเป็น เพื่อลดโอกาสการใช้ความใกล้ชิด ประจบสอพลอให้เกิดการอุปถัมภ์ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่ทำงานในระบบปรกติ

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้ลดขั้นตอนกระบวนการเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้รวดเร็ว เป็นธรรม กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าข้าราชการมีมูลความจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกร้องเรียน ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น

ยังมีข้อเสนอที่พูดกันมาอย่างยาวนานอย่าง จัดอบรมหลักสูตรปลูกฝังนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง ให้ทำงานโดยยึดประโยชน์ของบ้านเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ให้คนไม่ดีใช้เวทีการฝึกอบรมมาหาคอนเนกชั่นเพื่อประสานผลประโยชน์ระหว่างกัน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับเรื่องโลกสวยยุคปฏิรูปที่จะเข้ามาแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ ทำให้เกิดคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงาม สร้างระบบธรรมาภิบาล

ก่อนหน้านี้หากจำกันได้ก็เคยมีเรื่องให้ฮือฮามาแล้วจากกรณีที่มีรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งออกมาเปิดเผยว่ารัฐบาลกำลังจะออกกฎหมายที่เรียกว่า “7 ชั่วโคตร” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อนและเป็นความหวังใหม่ที่จะทำให้การทำงานภาครัฐมีความโปร่งใส ปราศจากสิ่งที่เรียกว่าทุจริตคอร์รัปชันหรือผลประโยชน์ทับซ้อนมากขึ้น

กฎหมายนี้ไม่ได้ห้ามแต่เฉพาะข้าราชการหรือฝ่ายการเมืองแต่ยังห้ามไปถึงลูกเมียพ่อแม่พี่น้องเพื่อไม่ให้เกิดกรณีเอาตำแหน่งหน้าที่ของคนในครอบครัวไปใช้หาผลประโยชน์ใส่ตัว หรือเอาของราชการไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

ห้ามกันถึงขนาดไม่ให้เอาโทรศัพท์มือถือมาเสียบชาร์จแบตในที่ทำงาน ห้ามเอาซองตราครุฑไปใส่เงินเพื่อช่วยงานบวช งานแต่ง งานศพ ห้ามเอารถหลวงไปใช้ในภารกิจส่วนตัว ฯลฯ

เรื่องนี้พูดกันมาพักใหญ่ๆแล้ว ตอนที่พูดบอกว่าร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะส่งให้ สนช.พิจารณาตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา นี่เวลาก็ล่วงเข้ามาปลายปีแต่เรื่องกลับเงียบไปไม่มีความคืบหน้าให้ประชาชนรับทราบว่าพิจารณากันไปถึงไหนอย่างไร

นี่เป็นเพียง “น้ำจิ้ม” เป็นตัวอย่างของ เรื่อง “โลกสวย” ที่เกิดขึ้นในยุคปฏิรูปไม่นับเรื่องที่ลอยหน้าลอยตาพูดกันอยู่ทุกวันว่าจะสร้างสังคมที่โปร่งใสเป็นธรรมไม่สองมาตรฐาน

แม้เวลาจะล่วงมาถึงโค้งสุดท้ายของการปฏิรูปก่อนลงจากอำนาจจัดให้มีการเลือกตั้งแต่เรื่อง “โลกสวย” ที่ว่านี้ก็ยังเป็นแค่การวาด “วิมานในอากาศ” ที่ยังไม่มีอะไรให้สัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมเสียที


You must be logged in to post a comment Login