วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

11 บทบาท ‘ศาล’ ภายใต้ระบอบ คสช.รอบปี 2559

On December 29, 2016

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการทำคำพิพากษาและคำสั่ง การดำเนินกระบวนการพิจารณา หรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจต่างๆ เกี่ยวกับศาล ในปี 2559 ที่ผ่านมา จำนวน 11 บทบาทด้วยกัน ประกอบด้วย ศาลทหารยังคงมี “บทบาท” พิจารณาคดีพลเรือน, เวลาเปิด-ปิดทำการของศาลทหารที่ไม่ปกติและศาลทหารบางแห่งไม่มีตุลาการประจำ, ศาลทหารกับกระบวนการยุติธรรมที่แสนล่าช้า, บทบาทตุลาการศาลทหารในเวทีนานาชาติทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน, ศาลไม่คุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกภายใต้การลงประชามติ ขณะประชาชนนับร้อยถูกดำเนินคดี, ศาลยุติธรรมรับรองการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. คุมตัวบุคคลเข้าค่ายทหาร, ศาลอุทธรณ์รองรับอำนาจคณะรัฐประหาร ในคดีฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวของบก.ลายจุด, ศาลปกครองรับฟ้องเพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวมทบ. 11, กรณีเมื่อศาลให้ประกันตัวคดีมาตรา 112, การล็อกห้องอ่านคำพิพากษา พร้อมปิดกั้นการเข้าถึงเอกสารในคดี และศาลถอนประกันผู้ต้องหาจากการแสดงออกทางสังคมออนไลน์

โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตลอดปี 2559 ที่กำลังจะผ่านไป การใช้อำนาจโดยการกล่าวอ้างว่ากระทำในนามของ “กฎหมาย” และ “กระบวนยุติธรรม” ของคสช. ยังคงมีบทบาทอย่างเข้มข้นในการควบคุมจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของพลเมืองในสังคมไทย ทหารยังมีบทบาทในการเข้าแจ้งความ จับกุม และนำบุคคลที่แสดงออกทางการเมืองขึ้นพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องตลอดสองปีกว่าที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร
ขณะเดียวกันศาลได้เข้ามามีบทบาทภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ไม่เพียงแต่ศาลทหารที่คสช.ประกาศให้มีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือนแทนศาลยุติธรรม แต่ศาลยุติธรรม หรือแม้แต่ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็เข้าไปมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการทำคำวินิจฉัยที่ยืนยันว่าการยึดอำนาจรัฐประหารของคสช.และการใช้อำนาจของคสช. ในห้วงกว่าสองปีที่ผ่านมากระทำในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งชอบด้วยกฎหมาย ดังที่ทราบกันว่าอำนาจตุลาการเป็นรากฐานหนึ่งของระบบการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐตามหลักการแบ่งแยกของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในแง่นี้อำนาจตุลาการที่รับรองสถานะและการใช้อำนาจของคสช. ไม่ว่าโดยการออกประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใดๆ  จึงมีบทบาทสำคัญที่ส่งผลทางการเมืองหลังรัฐประหาร
ต่อไปนี้เป็นการรวบรวม 11บทบาทศาล ทั้งการทำคำพิพากษาและคำสั่ง การดำเนินกระบวนการพิจารณา หรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจต่างๆ  ในปีพ.ศ.2559 พร้อมกับชี้ชวนให้ร่วมกันพิจารณาว่าระบบตุลาการเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาททางการเมือง และมีส่วนสำคัญต่อการสร้างหรือธำรงความขัดแย้งทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมา มิใช่องค์กรที่อิสระอยู่นอกเหนือแยกขาดออกไปจากการเมือง และไม่สังกัดฝักฝ่ายใดๆตามหลักความเป็นอิสระและเป็นกลางหรือไม่

1) ยังคงมี “บทบาท” พิจารณาคดีพลเรือน

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2559  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 ให้ความผิดที่เกิดนับตั้งแต่วันที่ออกประกาศ ซึ่งมีประกาศคสช.ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารในคดีความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของชาติ คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคสช.และคดีอาวุธ อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม เริ่มตั้งแต่วันออกประกาศเป็นต้นไปหลังจากพลเรือนนับพันคนต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารด้วยผลของประกาศของคสช.กว่า 2 ปีที่ผ่านมา

ตามที่ศูนย์ทนายความฯ ได้รับข้อมูลสถิติของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร  จากกรมพระธรรมนูญ ซึ่งต้นสังกัดของศาลทหาร พบว่าระหว่าง 22 พ.ค.2557 – 31 พ.ค.2559 มีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร จำนวน 1,811 คน และเป็นจำนวนกว่า 1,546 คดี โดยมีคดีที่ยังไม่เสร็จสิ้นการพิจารณากว่า 517 คดี นอกจากนี้  ยังมีกรณีที่ยังไม่เป็นคดีหรือไม่มีการฟ้องร้องคดีในศาลทหาร แต่การกระทำเกิดขึ้นก่อนจะมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 หรือกระทำก่อนวันที่ 12 ก.ย. 2559  ดังนั้น  แม้จะมีคำสั่งหัวหน้าคสช. ดังกล่าว แต่ยังมีพลเรือนอีกมากกว่า 517 คดี ที่ยังคงเผชิญชะตากรรมในศาลทหารต่อไป

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.สำราญราษฏร์ในคดีที่ล่าสุดที่จะถูกพิจารณาในศาลทหาร

นอกจากนี้ ภายหลังการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ยังคงมีการดำเนินคดีบุคคลในศาลทหารอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ที่แสดงความเห็นในเวทีเสวนาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 12 ก.ย.58 แต่ปรากฏว่าหมายจับออกเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2559 เช่นเดียวกับกรณีของศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความที่ถูกแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ร่วมกับ 14 นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากเหตุการณ์เมื่อเดือนมิ.ย.2558 แต่กลับเพิ่งมีการออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อ เดือน ก.ย.2559 โดยหากมีการสั่งฟ้องคดี ทั้งสองคดีก็จะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร เนื่องจากเป็นคดีที่มีการกระทำเกิดขึ้นระหว่างมีการประกาศใช้ศาลทหารนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าแม้จะหยุดใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน แต่ก็ยังมีพลเรือนที่ยังถูกดำเนินคดีในศาลทหาร  ทั้งคดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและคดีที่ยังไม่มีการฟ้องคดีเลย แต่ปรากฏว่าในระยะเวลาสองปีกว่านี้  มีคดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีสืบเนื่องจากเหตุผลการเมืองในศาลทหารที่มีการสืบพยานจนเสร็จและมีคำพิพากษาแล้วเพียงสองคดีเท่านั้น

2) เวลาเปิด-ปิดทำการของศาลทหารที่ไม่ปกติและศาลทหารบางแห่งไม่มีตุลาการประจำ

ตามปกติแล้ว “ศาล” จะมีเวลาทำการตามเวลาราชการคือตั้งแต่เวลา 8.30 น. – 16.30 น. แต่ปรากฏว่าการพิจารณาคดีในศาลทหาร กลับมีเวลาทำการที่ไม่แน่นอน และไม่ใช่เพื่อเป็นไปในทางคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังกรณี 15 ผู้ต้องหาตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย (นปป.) ที่ถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ภายหลังจากเสร็จสิ้นการสอบปากคำผู้ต้องหาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปขอฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพฯ  เมื่อศุกร์ที่ 19 ส.ค.59 เวลา 14.30 น. และทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาในวันเดียวกัน  แต่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าเนื่องจากใกล้หมดเวลาราชการแล้ว ไม่ให้ยื่นคำร้องขอประกันตัวในวันดังกล่าว แต่ให้มายื่นในวันจันทร์ ทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกส่งตัวไปคุมขังภายในเรือนจำถึง 3 วัน  แต่ในวันเดียวกันนี้ เวลา 20.30 น. ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น กลับมีการเปิดทำการเพื่อรับฟ้อง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” จากคดีทำกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พ.ค.58  โดยให้คุมขังนายจตุภัทร์ระหว่างการพิจารณาคดี จึงทำให้นายจตุภัทร์ถูกนำไปขังที่เรือนจำกลางขอนแก่นตั้งแต่คืนดังกล่าว

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ระหว่างรอการพิจารณาคดีที่ศาลทหารขอนแก่น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งแต่เมื่อปี 2558 ในกรณี 14 นักศึกษา-นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ เปิดรอรับคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนจนถึงเวลา 22.00 น. และกว่ากระบวนการขอฝากขังและคัดค้านทั้งหมดจะเสร็จสิ้น ก็เป็นเวลา 00.30 น.ไปแล้ว ราวกับศาลทหารจะเปิดปิดทำการได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากเจ้าหน้าที่รัฐจะดำเนินการ ทาง “กฎหมาย” กับผู้ต้องหาทางการเมือง

นอกจากนี้แล้ว ศูนย์ทนายความฯ ยังพบกรณีที่ตุลาการในศาลทหารหลายจังหวัดเดินทางไปปฏิบัติงานที่ศาลทหารอื่น ตามระบบการหมุนเวียนตุลาการในศาลมณฑลทหาร จนทำให้บางวัน ศาลทหารไม่มีตุลาการประจำอยู่ และไม่มีผู้พิจารณาคำร้องต่างๆ ที่ประชาชนไปยื่นต่อศาล เช่น กรณีช่างตัดแว่นพ่อลูกอ่อนที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ญาติได้เดินทางไปยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาที่ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 37 จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 25 ต.ค.59 แต่ไม่ได้รับการพิจารณาโดยตุลาการในวันดังกล่าว  เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระบุว่าตุลาการเดินทางไปพิจารณาคดีที่ศาลทหารอื่น ส่งผลให้สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคำร้องขอประกันตัวของผู้ต้องหาต้องล่าช้าออกไป

3) ศาลทหารกับกระบวนการยุติธรรมที่แสนล่าช้า

ปรากฏการณ์สำคัญของการพิจารณาคดีในศาลทหารที่ค่อยๆ เด่นชัดขึ้นในปีนี้ คือกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะในคดีที่จำเลยถูกขังในระหว่างพิจารณาคดีและมีการต่อสู้คดี ด้วยรูปแบบการนัดสืบพยานที่ไม่ต่อเนื่องกันเหมือนศาลพลเรือน ศาลทหารจะมีการนัดสืบพยานต่อนัดเป็นครั้งๆไป และแต่ละคดีมีการสืบพยาน 1 นัด เป็นเวลา 2 ถึง 3 เดือนต่อครั้ง บางคดีมีการพิจารณาคดีเฉพาะในช่วงเช้าในแต่ละนัดเท่านั้น  ทำให้พยานบางปากต้องใช้เวลาสืบพยานหลายนัด  อีกทั้งในหลายๆคดีพบว่ามีการเลื่อนการสืบพยานโจทก์บ่อยครั้ง  ทั้งที่พยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องมาเบิกความเป็นพยานตามหมายเรียกพยานของศาล  ซึ่งหากพยานที่โจทก์ออกหมายเรียกไว้ไม่มาศาล  จะทำให้ต้องยกเลิกวันนัดในวันดังกล่าวและต้องหาวันนัดใหม่เพราะโจทก์จะออกหมายเรียกพยานมานัดละคนและทีละนัดเท่านั้น ทำให้จนถึงปัจจุบันจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองซึ่งจำเลยมีการต่อสู้คดี มีคดีที่สืบพยานเสร็จสิ้นและศาลทหารมีคำพิพากษาไปแล้วเพียงสองคดี

สิรภพ ขณะรอการพิจารณาคดีในศาลทหาร

ในปีนี้ ศาลทหารเพิ่งมีคำพิพากษาในคดีของสิรภพ ในข้อหาฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช. เขาถูกควบคุมตัววันที่ 25 มิ.ย.57 ก่อนถูกฟ้องคดีต่อศาลวันที่ 15 ส.ค.57 โดยศาลทหารกำหนดวันนัดสืบพยานโจกท์ลำดับแรกวันที่ 11 พ.ย.57 แต่ก็ไม่สามารถสืบพยานปากแรกนี้ได้เป็นเวลากว่า 6 เดือน เพราะพยานติดภารกิจไม่สามารถมาศาลได้ กว่าการสืบพยานลำดับแรกนี้จะเสร็จสิ้นก็วันที่ 4 พ.ย.58 รวมระยะเวลาในการนัดและสืบพยานปากนี้ทั้งหมด 1 ปีเต็ม ก่อนที่การสืบพยานจะแล้วเสร็จและศาลอ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย.59 รวมเวลาพิจารณามากกว่า 2 ปี  โดยคดีนี้จำเลยถูกขังในระหว่างการพิจารณาคดีและคดีฝ่าฝืนรายงานตัวมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสองปีเท่านั้น

ตัวอย่างความล่าช้าที่น่าสนใจ ได้แก่ คดีอัญชัญ จำเลยในคดีมาตรา 112 คดีนี้มีการจับกุมตัวจำเลยเมื่อวันที่ 30 ม.ค.58 หลังจากสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23 เม.ย.58 กว่า 1 ปี 8 เดือน จึงมีการสืบพยานโจทก์  แต่มีการเลื่อนคดีเนื่องจากพยานโจทก์ไม่มาศาล 3 นัด  และเนื่องจากนัดพิจารณาครั้งละวันไม่ใช่นัดต่อเนื่อง  ทำให้แต่ละนัดห่างกันหลายเดือน  คดีนี้สืบพยานโจทก์ไปแล้วเพียง 2 ปาก ทั้งจำเลยยังถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีตลอดมา  เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว  หรือในคดี “ขอนแก่นโมเดล” ที่มีการจับกุมผู้ต้องหาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557  ภายหลังรัฐประหาร แต่กว่าการสืบพยานโจทก์ปากแรกจะเริ่มขึ้น (28 ต.ค.59) ก็หลังจากอัยการยื่นฟ้องจำเลยมากว่า 2 ปี ทั้งโจทก์ยังอ้างพยานบุคคลรวม 90 ปาก ซึ่งหากสืบพยานได้ปีหนึ่งราว 10-12 ปาก คดีนี้อาจใช้เวลากว่า 7-9 ปีกว่าจะสืบพยานแล้วเสร็จ  คดีนี้จำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี

4) บทบาทตุลาการศาลทหารในเวทีนานาชาติ UPR

ท่ามกลางการจับตาจากนานาชาติต่อสถานการณ์การใช้ศาลทหารต่อพลเรือน ปีที่ผ่านมายังเป็นปีที่มีการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodical Review หรือ UPR) ที่นครเจนีวา ซึ่งเป็นรอบการประชุมทบทวนสถานการณ์ของประเทศไทย ทางรัฐบาลไทยเองก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นศาลทหารโดยตรง ได้แก่ พันโทเสนีย์ พรหมวิวัฒน์ หัวหน้าตรวจและร่างกฎหมาย กรมพระธรรมนูญทหาร กระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นหนึ่งในทีมคณะผู้แทนรัฐบาลไปชี้แจงต่อที่ประชุม

พันโทเสนีย์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 59 ว่าศาลทหารถูกนำมาใช้กับพลเรือนในความผิดที่จำกัด รวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาในความผิดร้ายแรง จำเลยในศาลทหารยังได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้เข้ารับการไต่สวนในศาลพลเรือน ศาลทหารยังต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และสิทธิของจำเลยที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ตุลาการศาลทหารจำเป็นต้องมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในกฎหมายอาญา เช่นเดียวกับผู้พิพากษาในศาลพลเรือน

คณะผู้แทนไทยชี้แจงต่อที่ประชุมคณะทำงาน UPR (ขอบคุณภาพจาก กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ)

ขณะที่หากติดตามสถานการณ์ของพลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหารของไทยตลอดสองปีเศษที่ผ่านมาแล้ว พบว่าในความเป็นจริง คดีที่นำพลเรือนมาขึ้นศาลทหารจำนวนมากล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และไม่ใช่คดีร้ายแรงแต่อย่างใด เช่น คดีกินแม็คโดนัลด์ต่อต้านการรัฐประหาร, คดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคสช., คดีจัดกิจกรรมรำลึกถึงการเลือกตั้ง, คดีเดินเท้าจากบ้านไปศาลทหารคนเดียว, คดีนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตในโครงการราชภักดิ์, คดีล้อเลียนหัวหน้าคณะรัฐประหาร, คดีนักวิชาการแถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร, คดีถ่ายรูปกับขันแดง, คดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ, คดีจัดเวทีวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เข้าไปสังเกตการณ์กิจกรรม ก็ถูกดำเนินคดีที่ต้องพิจารณาคดีในศาลทหาร เป็นต้น

พลเรือนที่ขึ้นศาลทหารยังไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับศาลพลเรือนดังที่พันโทเสนีย์กล่าว เช่น คดีที่เกิดขึ้นในช่วงการใช้กฎอัยการศึกไม่ได้รับสิทธิการอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลทหารไม่มีกระบวนการในการสืบเสาะ ไม่มีระบบทนายขอแรงในช่วงแรก ไม่ให้ทนายความคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาในบางคดี ความแตกต่างเรื่องรูปแบบหลักทรัพย์ในการประกันตัว หรือการนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่กำลังยื่นขอประกันตัวไปเรือนจำ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาหญิงหลายรายจากกระบวนการค้นตัวผู้ต้องหาก่อนเข้าเรือนจำ เป็นต้น ทั้งในกระบวนการพิจารณาตามธรรมนูญศาลทหารองค์คณะที่ร่วมเป็นตุลาการในศาลทหาร เป็นเพียงนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่แต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาทหารของหน่วยต่างๆ ไม่ได้จบการศึกษาด้านกฎหมายแต่อย่างใด

อีกทั้ง ในเมื่อกล่าวอ้างว่าศาลทหารไม่มีความแตกต่างจากศาลพลเรือน เหตุใดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ที่ระบุเรื่องการให้คดีกลับมาพิจารณาในศาลพลเรือน จึงต้องระบุเหตุผลในคำสั่งว่าเป็นการ “ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงอีก เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ใช้สิทธิ ปฏิบัติหน้าที่ของตน และได้รับความคุ้มครองตามกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะประกาศใช้ในเร็ววัน ตลอดจน ตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน” ราวกับจะยอมรับโดยนัยว่าภายใต้การใช้ศาลทหารต่อพลเรือนนั้นไม่ได้มีการคุ้มครองหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนอยู่แต่อย่างใด

5) ศาลไม่คุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกภายใต้การลงประชามติ ขณะประชาชนนับร้อยถูกดำเนินคดี

แม้ไม่เกินความคาดหมายว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2557 มาตรา 4 หลังประชาชนกลุ่มหนึ่งยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เหตุผลในคำวินิจฉัยก็สร้างความผิดหวังให้กับฝ่ายประชาธิปไตยอย่างมาก เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับรองให้ “องค์กรของรัฐมีบทบาทในการกำกับควบคุมการจัดการออกเสียงประชามติ…” ในสภาวะที่ประเทศประสบวิกฤตการณ์ทางการเมือง ยกเว้นหลักการสากลซึ่ง “รัฐมีหน้าที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้แสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ข้อมูลเหตุผลอย่างอิสระและเท่าเทียมกัน” หรือ Free&Fair!!

ทั้งประชาชนยังต้องผิดหวังซ้ำสองจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้องที่ภาคประชาสังคมฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศกกต.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ เนื่องจากมีเนื้อหาที่จำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นจนเกินสมควรและขัดต่อกฎหมายศาลปกครองวินิจฉัยในทางเทคนิคกฎหมายเท่านั้นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีได้ โดยใช้เหตุผลว่า ประกาศดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำ การฝ่าฝืนไม่มีโทษทางอาญา

การไม่คุ้มครองการแสดงออกของประชาชนในการออกเสียงประชามติดังกล่าว ปรากฏผลให้เห็นในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกในช่วงประชามติซึ่งมีอย่างน้อย 207 คน ในจำนวนนี้ถูกกล่าวหาว่าผิดพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 อย่างน้อย 47คน มีกิจกรรมที่ถูกข่มขู่และห้ามจัดมากมายไม่นับว่าประชาชนโดยทั่วไปตกอยู่ในความหวาดกลัวไม่กล้าแสดงความเห็น หรือแม้แต่ใส่เสื้อ Vote No ที่น่าตกใจมีการดำเนินคดีนักข่าว และนักสิทธิมนุษยชนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ด้วย

ในบรรดาคดีที่ถูกตั้งหาข้อหาว่า ผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ซึ่งผู้ต้องหามักจะงุนงงสงสัยว่า ถูกดำเนินคดีได้อย่างไร แต่ทั้งศาลพลเรือนและศาลทหารกลับอนุญาตให้ฝากขังและให้ประกันด้วยเงินประกันสูงลิบ (60,000-200,000 บาท) สร้างภาระหนักหนาแก่ประชาชนที่แค่ใช้สิทธิแสดงความเห็นในเรื่องที่สำคัญกับชีวิตตนอย่างรัฐธรรมนูญลงท้ายด้วยอัยการส่งฟ้อง และศาลรับฟ้องนับแต่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติจนถึงปัจจุบันอย่างน้อย 8 คดีแล้ว ทั้งที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ยากว่า การดำเนินคดีต่อไปมีประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไร

แม้ว่ายังไม่มีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยยืนยันต่อสู้คดี แต่แนวโน้มของศาลที่ปรากฏให้เห็นดังเช่นในนัดสมานฉันท์ของคดีแจกสติ๊กเกอร์ Vote No ศาลจังหวัดราชบุรีมีลักษณะเจรจาให้จำเลยรับสารภาพ และได้บันทึกลงในกระบวนพิจารณาว่า “ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย ขั้นตอนการดำเนินคดี และการเสริมสร้างการรู้สำนึกและความรับผิดชอบจากการกระทำความผิดตามขั้นตอนแล้ว จำเลยทั้ง 5 คนแถลงยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องและประสงค์ที่จะต่อสู้คดี”

เช่นนี้แล้ว สาธารณชนก็ไม่อาจมีความหวังได้ว่า ปลายทางของกระบวนการยุติธรรมจะเอื้อต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน!!!

6) ศาลยุติธรรมรับรองการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. คุมตัวบุคคลเข้าค่ายทหาร

ในรอบปี 2559 คสช. ยังคงใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลเข้าค่ายทหารด้วยการอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้งฉบับที่ 3/2558และฉบับที่ 13/2559 ที่ออกมาตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวอย่างต่อเนื่อง แต่ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการใช้อำนาจคุมตัวบุคคลของ คสช.ลักษณะนี้ คือการที่ศาลยุติธรรมยังแสดงบทบาทในการรับรองการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารตามคำสั่งของคณะรัฐประหารอีกครั้ง จากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสนธิกำลังเข้าจับกุมควบคุมตัวจำเลยในคดี 8 แอดมินแฟนเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” เมื่อเดือนเม.ย.2559

กรณีนี้ทั้ง 8 คน ถูกจับกุมโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่แสดงหมายจับและแจ้งสาเหตุการควบคุมตัว กว่าครอบครัวจะได้ทราบชัดเจนว่าทั้ง 8คน ถูกควบคุมตัวไปที่ไหนก็เมื่อพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ออกมาแถลงว่าจะนำไปที่ มทบ.11 แต่เมื่อญาติติดตามไปขอเยี่ยม ก็ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐถือได้ว่าเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ครอบครัวของผู้ที่ถูกควบคุมตัว 4 ใน 8 คน พร้อมทนายความจึงได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เพื่อขอให้มีการไต่สวนและปล่อยตัวบุคคลจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ศาลกลับไม่ไต่สวนในทันที และวันถัดมาศาลมีคำสั่งว่าการควบคุมตัวครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 และการควบคุมตัวยังไม่ครบ 7 วัน

ผู้ต้องหา 2 ใน 8 คดีทำเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ถูกทหารคุมตัวจากมทบ.11 มาถึงกองปราบฯ (ภาพโดย : Banrasdr Photo)

นอกจากนั้นในปีนี้ยังมีกรณีที่ต่อเนื่องมาจากปี 2558 คือกรณีที่ ธเนตร อนันตวงษ์ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 116 จากการโพสต์เกี่ยวกับข่าวการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์  เมื่อมีการควบคุมตัว ธเนตร สิรวิชญ์ ในฐานะเพื่อนจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวเนื่องจากการควบคุมตัวไม่ชอบแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง  โดยไม่มีการไต่สวนใดๆ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนกรณีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกครั้ง

ศาลให้เหตุผลที่ยกคำร้องในครั้งแรกว่าคดีไม่มีมูลเพราะ สิรวิชญ์ แค่ฟัง ปิยรัฐ จงเทพ ที่เป็นเพื่อนเล่าให้ฟัง และครั้งที่ 2 ศาลอ้างว่าเป็นการคุมตัวชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะมีหมายจับของศาลทหารและเป็นคดีที่มีฐานความผิดอยู่ในพิจารณาของศาลทหารตามประกาศฉบับที่ 37/2557 และควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งถือได้ว่าศาลยุติธรรมรองรับการใช้อำนาจของ คสช.  ทั้งนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนใหม่อีกครั้งวันที่ 20 มิ.ย.59 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง และจำหน่ายคดีออกจากสารบบเนื่องจาก ธเนตร ได้รับการปล่อยตัวแล้ว

การที่แม้กระทั่งศาลยุติธรรมแสดงบทบาทรับรองการควบคุมตัวของทหารโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ออกตามมาตรา 44 เช่นนี้ ทำให้ญาติและทนายความจะทำการตรวจสอบหรือติดตามตัวคนที่ถูกคุมตัวไปได้ยากลำบาก จนทำให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในสภาพที่ถูกตัดการติดต่อกับโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง จึงสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ตามมา และยังทำให้เกิดการควบคุมตัวในลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นต่อไป

7) ศาลอุทธรณ์รองรับอำนาจคณะรัฐประหาร ในคดีฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวของบก.ลายจุด

นอกจากการรับรองการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลของทหารแล้ว รอบปีที่ผ่านมาศาลยุติธรรมยังมีบทบาทในการรับรองอำนาจคณะรัฐประหารในหลายคดี กรณีที่สำคัญคือกรณีของสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด ที่ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวของคสช. โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.59 แก้จากศาลชั้นต้น ซึ่งเห็นว่าการไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช.ไม่เป็นความผิดเนื่องจากกฎหมายไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้  แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

สมบัติ บุญงามอนงค์

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยจะอ้างว่าคสช.ควบคุมการปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย “ข้อเท็จจริงก็ปรากฏอยู่แล้วว่าเป็นการยึดอำนาจโดยสำเร็จคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์”  ส่วนที่จำเลยกล่าวอ้างว่าการรัฐประหารจะสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์เมื่อมีพระบรมราชโองการรองรับสถานะทางกฎหมายของคณะรัฐประหารโดยมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการตีความดังกล่าว “ย่อมจะทำให้เกิดผลแปลกประหลาดและเป็นปัญหาในการควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นการก้าวล่วงทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่เหนือการเมือง ต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะการพิจารณารับรองผลของการยึดอำนาจว่าสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์แล้วหรือไม่ การยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเมื่อเกิดการยึดอำนาจขึ้น”

ส่วนประเด็นข้อต่อสู้เรื่องการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังกับจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า “กฎหมายต่างๆที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกใช้บังคับนั้นมีผลอยู่แล้ว เพียงแต่มีการบัญญัติรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 อีกครั้งว่าเป็นเรื่องที่ชอบและมีผลต่อไป กรณีจึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด” คดีนี้นับเป็นอีกหนึ่งคำพิพากษาในปีที่ผ่านมาที่ช่วยยืนยันอำนาจของคณะรัฐประหาร แม้จะไม่มีกฎหมายใดรองรับ และมาตรา 113  ประมวลกฎหมายอาญาจะบัญญัติให้ผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญมีความผิดฐานกบฎก็ตาม

8) ศาลปกครองรับฟ้องเพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวมทบ. 11

การตั้งเรือนจำชั่วคราวภายในค่ายทหารยังเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐบาลทหารต่อเนื่องมา โดยตั้งแต่ปลายปี 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งจัดตั้งเรือนจำนั้นมีเนื้อหาที่มีความหมายไม่ชัดเจนแน่นอนที่บุคคลทั่วไปจะเข้าใจอันขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง การจัดตั้งเรือนจำจากเหตุผลทางการเมืองเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่สุจริต ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ และใช้ดุลพินิจไม่สอดคล้องกับความพอสมควรแก่เหตุ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนหวังว่าศาลปกครองจะเข้ามามีส่วนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ในทางหนึ่ง ภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงว่าเรือนจำแห่งนี้นอกจากจะตั้งในพื้นที่ทหารแล้วจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 47 คน  ยังถูกคุมขังโดยผู้คุมพิเศษที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารถึง 80 นาย เทียบกับจำนวนผู้คุมจากกรมราชทัณฑ์เพียง  6 คนเท่านั้น และสถานที่ดังกล่าวยังเป็นที่สุดท้ายในการควบคุมตัว สุริยัน สุจริตพลวงศ์ (หมอหยอง) และพ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ก่อนทั้งสองจะเสียชีวิตอย่างปริศนา

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองเพิ่งมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 3 พ.ย.59 โดยขั้นตอนต่อไปศาลจะดำเนินการส่งคำฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การ กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เพิ่งเริ่มต้นหลังการรับฟ้อง  ศาลปกครองใช้เวลา 11 เดือน ในการมีคำสั่งรับฟ้องหลังจากยื่นคำฟ้องดังกล่าว นับเป็นความล่าช้าในการตรวจสอบการกระทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่เคยปรากฏในคดีอื่นมาก่อน

9) เมื่อศาลให้ประกันตัวคดีมาตรา 112

ตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา ทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างน้อยถึง 10 ราย จากปกติที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดี 112 มีความหวังริบหรี่เหลือเกินที่จะได้โอกาสออกมาต่อสู้คดีนอกห้องขัง เพราะศาลมักจะเห็นว่าคดีเหล่านี้เป็นคดีความมั่นคงของชาติที่มีความร้ายแรง มีโทษหนัก จึงเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ในจำนวนคดีที่ได้ประกันตัวเหล่านี้อาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกเป็นคดีที่ศาลเห็นว่าการกระทำไม่ร้ายแรง หรืออาจจะไม่เข้าข่ายความผิด อาทิ กรณีโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง กรณี “จ้า” ของแม่จ่านิว และกรณีแชร์ข่าวจากเว็บไซต์บีบีซีไทย แต่ศาลอาจตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติมในการปล่อยตัวชั่วคราว เช่น ห้ามยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เป็นต้น

พัชนรี (ขวา) แม่ของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำหญิงกลางหลังศาลทหารอนุญาตให้ประกัน

อีกกลุ่มที่อาจไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างนัก คือกลุ่มจำเลยที่เป็นผู้ป่วยจิตเภท อาทิ เสาร์ จำเลยที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากเขียนคำร้องยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อทวงเงินจากอดีตนายกรัฐมนตรี หลังได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าเสาร์มีอาการป่วยทางจิตมานาน และศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าเสาร์จะรักษาตัวจนสามารถกลับมาต่อสู้คดีได้ ศาลทหารก็อนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงินสด 4 แสนบาท นอกจากเสาร์แล้วยังมีฤชา ผู้ถูกดำเนินคดี 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก ซึ่งเขาอ้างว่าพระแม่ธรณีเป็นคนโพสต์ เพราะคนธรรมดาไม่สามารถทำกราฟฟิกได้ ทนายความได้ขอให้ศาลส่งตัวเขาเข้ารับการตรวจรักษาอาการทางจิต เมื่อศาลทหารได้รับรายงานผลการตรวจจากแพทย์จึงอนุญาตให้ฤชาได้รับการประกันตัว

อย่างไรตาม ในยุครัฐบาล คสช. มีความพยายามดำเนินคดี 112 อย่างหนัก แนวโน้มการลงโทษสูงขึ้น พร้อมกับตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางจนถึงขนาดที่ทำให้การกดไลค์ก็อาจจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ กฎหมาย 112 จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกำจัดคนเห็นต่าง อีกทั้งมีการดำเนินคดีแม้กระทั่งผู้ป่วยทางจิต ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางสาธารณะแต่อย่างใด อีกทั้งในหลายคดี ผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ยังคงไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี และเป็นคดีที่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวจำนวนสูง

10) ล็อกห้องอ่านคำพิพากษา พร้อมปิดกั้นการเข้าถึงเอกสารในคดี

ปัญหาการพิจารณาคดีเป็นการลับในคดีมาตรา 112 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่หลังรัฐประหาร คดีมาตรา 112 ที่มีการต่อสู้คดีในศาลทหาร ถูกสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ เช่นเดียวกับในศาลพลเรือน ทำให้ผู้สังเกตการณ์และประชาชนที่สนใจไม่สามารถเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้ รวมทั้งปัญหาการขอคัดถ่ายกระบวนการพิจารณาหรือคำเบิกความต่างๆ ในศาล ก็ยังเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่องทั้งในศาลทหารและศาลพลเรือน

ภาพจากห้องพิจารณาคดีของ จตุภัทร บุญภัทรรักษา ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งพบปัญหาศาลพิจารณาโดยไม่เปิดเผยต่อสาธารณะเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างคดีสำคัญและแสดงชัดถึงปัญหานี้ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ คดีของปิยะ อดีตโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นและจำเลยในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปิยะถูกฟ้องในข้อหาเดียวกันนี้สองคดี และทั้งสองคดีถูกศาลอาญาสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ โดยในคดีที่สองของปิยะมีการสืบพยานในช่วงปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ศาลได้สั่งพิจารณาคดีลับ ไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฟังการพิจารณา และทำการล็อกห้องไม่ให้บุคคลอื่นเข้าไปได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีที่กระทบต่อความมั่นคงและสถาบันกษัตริย์ ในการอ่านคำพิพากษาช่วงเดือนต.ค.ก็เช่นเดียวกัน ที่ศาลให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีออกจากห้องพิจารณาและมีการล็อกประตูห้องระหว่างอ่านคำพิพากษา  อีกทั้งคดีนี้ ศาลยังไม่อนุญาตให้ทนายความคัดถ่ายบันทึกคำเบิกความของพยาน และไม่อนุญาตให้คัดถ่ายคำพิพากษา แต่อนุญาตให้ทนายความคัดลอกด้วยการเขียนได้

การพิจารณาคดีโดยเปิดเผย และสิทธิของคู่ความในการเข้าถึงสำนวนและเอกสารในคดีต่างๆ เป็นหลักการสำคัญของการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial)  ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยให้การรับรองเป็นภาคี ข้อ 14 (1) เอง ก็ระบุว่า บุคคลมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม รวมถึงต้องเปิดเผยคำพิพากษาในคดีอาญา หรือคำวินิจฉัยข้อพิพาทในคดี มีข้อยกเว้นเฉพาะกรณีที่เป็นคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน หรือกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทของคู่สมรสในเรื่องการเป็นผู้ปกครองเด็กเท่านั้น โดยแม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ของไทย จะให้ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ แต่มาตรา 182 วรรคสอง ระบุชัดเจนให้ศาลต้องอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผย โดยไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นใดๆ  การล็อกห้องอ่านคำพิพากษาของศาลจึงขัดต่อทั้งหลักการสากลและกฎหมายภายในประเทศเอง

11) ศาลถอนประกันผู้ต้องหาจากการแสดงออกทางสังคมออนไลน์

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา(กลาง เสื้อดำ) หลังได้รับการปล่อยตัวในคดี 112 หลังจากนั้นศาลได้ถอนประกันในเวลาต่อมา

ส่งท้ายปีด้วยการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาว่า จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ตาม มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์บีบีซีไทย ซึ่ง จตุภัทร์ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวนเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.59 อย่างไรก็ตาม 22 ธ.ค.2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นได้ไต่สวนคำร้องของพนักงานสอบสวนที่ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนสัญญาประกันตัว จตุภัทร์ โดยสั่งพิจารณาลับเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงก่อนศาลมีคำสั่งถอนประกัน โดยอ้างเหตุ “ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ”

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.59 ศาลอุทธรณ์ได้รับรองคำสั่งถอนประกันอีกครั้ง เนื่องจากศาลเห็นว่า “ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก หากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” ศาลอุทธรณ์จึงยกคำร้อง

คำสั่งดังกล่าวสร้างความสงสัยต่อนักกฎหมายและสังคมไม่น้อยว่าการแสดงออกทางออนไลน์นั้นเป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐอย่างไร และ  “การเย้ยหยันอำนาจรัฐ” นั้นเป็นเหตุให้ถอนประกันได้อย่างไร อีกทั้งการไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้นยิ่งเป็นการยืนยันได้อย่างชัดแจ้งว่าผู้ต้องหานั้นไม่ได้ยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐานแต่อย่างใด

11 บทบาทการทำหน้าที่ศาลในฐานะองค์กรตุลาการข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายคดีที่น่าศึกษาถึงการบังคับใช้กฎหมายและการให้เหตุผลว่าศาลมีบทบาทอำนวยความยุติธรรมอย่างไรเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้

 


You must be logged in to post a comment Login