วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เลิกกีฬา(ป้าย)สี? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On December 29, 2016

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

เร็วเหมือนโกหก ในที่สุดสัปดาห์สุดท้ายของปีก็มาถึงแล้ว สัปดาห์หน้าชาวไทยทุกคนจะเดินหน้าเข้าสู่ปี 2560 พร้อมๆกัน กว่า 10 ปีแล้วนับจากวันแรกที่มีผู้จุดประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อให้ทหารออกมายึดอำนาจ มีการปฏิวัติรัฐประหารไปแล้วถึง 2 ครั้ง ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องสังเวยชีวิตไปกับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย แต่ประเทศไทยก็ยังย่ำอยู่กับที่ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นอกจากพวกเราทุกคนจะแก่ขึ้นไปอีก 1 ปี

ต้องนับว่าเป็นทศวรรษแห่งความแตกแยกเลยก็ว่าได้ เพราะในห้วงเวลาที่ผ่านมาแม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยมีครั้งไหนที่บ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น จะต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลที่เลือกวิธีการต่อต้านการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารโดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎหมาย

สภาพเช่นนี้ไม่ต่างกับการแข่งขันกีฬาที่ผู้เล่นเพียงฝ่ายเดียวที่แข่งขันได้โดยไม่ต้องสนกติกาและไม่จำเป็นต้องมีกรรมการ ที่แย่ไปกว่านั้นคือ แม้แต่กรรมการก็ไม่รู้หน้าที่ของตัวเอง บางครั้งก็ลงสนามมาทำหน้าที่ผู้เล่นเสียเอง เมืองไทยเลยกลายเป็นประเทศแห่งกีฬาสีที่หาผู้ชนะไม่เจอ และไม่รู้ว่าเมื่อไรเทศกาลการแข่งขันครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเสียที แต่ที่แน่ๆถ้าเราไม่เลิกแข่งกีฬาสีกัน ประชาชนอย่างเราๆนี่แหละที่จะกลายเป็นผู้พ่ายแพ้การแข่งขันครั้งนี้ด้วยกันทุกคน

ถ้าเห็นด้วยเราเลิกแข่งกีฬาสีกันดีกว่า เพราะแข่งกันมา 10 กว่าปีไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้น ถ้าพร้อมใจเลิกกันได้จริงๆ เผด็จการทหารก็หมดข้ออ้างออกมาจากกรมกองอย่างแน่นอน ทหารจะเป็นมืออาชีพก็ต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกองทัพ แต่เมื่อออกมายึดอำนาจและต้องมาทำหน้าที่บริหารประเทศ ผลงานที่ทำได้ก็เป็นอย่างที่ทุกคนเห็นอยู่ในขณะนี้ว่ามันสุดยอดขนาดไหน ถ้าไม่เชื่อก็ลองล้วงกระเป๋าตัวเองดูสิครับ แล้วท่านจะได้คำตอบนี้ทันที

เอาตัวอย่างง่ายๆสักเรื่องก็ได้ เรื่องนี้ผมอยากบ่นให้ฟังอยู่เหมือนกัน นั่นก็คือเรื่อง “พร้อมเพย์” ซึ่งทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษว่า PROMPT PAY นั่นเอง โครงการนี้ริเริ่มโดยกระทรวงการคลังตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงระบบการชำระเงินแบบใหม่โดยใช้บัตรประชาชนแบบชิพ (SmartCard) และใช้ชื่อว่า Any ID ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ PROMPT PAY ในปัจจุบัน

เรื่องนี้เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลซึ่งมีแนวคิดในการส่งเสริม Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิทัล จึงทำให้กระทรวงการคลังต้องรีบดำเนินการให้มีระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติหรือ National e-Payment โดยพร้อมเพย์ถือเป็นโครงการเรือธงโครงการแรกในยุทธศาสตร์ National e-Payment ของรัฐบาลทหาร ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมด้านการเงินของประชาชน และทำให้ภาครัฐสามารถจ่ายสวัสดิการของรัฐและคืนเงินภาษีให้แก่ประชาชนได้สะดวกรวดเร็วและถูกต้อง ซึ่งเริ่มเปิดตัวเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา

พร้อมเพย์คือการบริการโอนเงินและรับเงินโอนแบบใหม่โดยผูกบัญชีเงินฝากธนาคารกับหมายเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะทำให้ประชาชนโอนเงินได้สะดวกง่ายดายมากขึ้น เพียงแค่จำหมายเลขบัตรประชาชนปลายทางที่จะโอนหรือจำเพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือ โดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้หมายเลขบัญชีเงินฝากธนาคารที่ยาวและจำยาก บริการนี้ดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งร่วมมือกันพัฒนาระบบขึ้น เพื่อสนับสนุนระบบการชำระเงินในโครงการ National e-Payment ที่ทำให้ไม่ต้องพกเงินสด และสามารถใช้จ่ายเงินผ่านทาง e-Payment ด้วยวิธีง่ายๆเพียงปลายนิ้วสัมผัส

ที่ผ่านมาพร้อมเพย์ในเฟสแรกเริ่มบริการประชาชนทั่วไปก่อน เพื่อให้บัญชีธนาคารสามารถผูกติดกับบัตรประชาชนและหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งในอนาคตการรับเงินภาษีคืน การรับเบี้ยยังชีพทั้งผู้สูงอายุและคนพิการ ก็จะถูกดำเนินการผ่านทางพร้อมเพย์เช่นกัน จะทำให้ลดขั้นตอน ไม่ต้องรับเช็คไปธนาคารเพื่อรับเงิน สามารถโอนเงินต่อให้ผู้อื่น และรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินกับร้านค้าต่างๆได้ด้วยในอนาคต

เป็นไงครับ ฟังแล้วดูเหมือนทุกอย่างจะดูดีและง่ายไปหมดถ้าเรามีระบบแบบนี้ใช้กันอย่างกว้างขวาง แต่ต้องเรียนว่าแปลกแต่จริงที่โครงการของรัฐโครงการนี้มีพี่น้องประชาชนเข้าร่วมน้อยมาก ผมลองสอบถามเหตุผลจากบุคคลหลากหลายอาชีพว่าทำไมถึงไม่อยากใช้บริการ ก็ได้คำตอบที่คล้ายกันว่าคนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการทำธุรกรรมการเงินที่ต้องนำบัญชีธนาคารไปผูกติดกับหมายเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์ เพราะคิดว่าหมายเลขเหล่านี้น่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่าถูกนำไปใช้เป็นสาธารณะ

แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ คนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่ารัฐมีความพร้อมในการดำเนินโครงการนี้จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยที่จะไม่ถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวทางข้อมูลการเงินของตัวเอง หลายคนยังเชื่อว่ารัฐบาลสามารถแสวงประโยชน์จากระบบดังกล่าวในการเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชนได้โดยง่าย ซึ่งที่ผ่านมาการจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ถือว่ามีความยุ่งยากและต้องใช้อำนาจทางกฎหมายมาบังคับเท่านั้น

สรุปแล้วโครงการนี้ “แป้ก” ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะพร้อมเพย์มีคนร่วมน้อยมาก พร้อมกับเสียงพึมพำของผู้ที่สมัครใช้งานไปแล้ว แต่เมื่อโครงการนี้ถือเป็นโครงการเรือธงของรัฐบาลทหาร ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็เสียชื่อหมด เมื่อไม่มีผู้ใช้บริการที่สมัครใจมากเพียงพอ กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบก็ต้องหามาตรการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการขึ้นมาให้ได้

ดังนั้น ข่าวที่กรมสรรพากรแถลงออกมาเรื่องการคืนภาษีให้กับประชาชนในอนาคตจะเป็นการจ่ายเข้าบัญชีในระบบพร้อมเพย์เท่านั้นจึงเป็นการแก้ปัญหาแบบ “เนียนๆ” ของผู้รับผิดชอบที่ต้องการตอบสนองนโยบายของท่านผู้นำสูงสุด แต่กลายเป็นการ “มัดมือชก” พี่น้องประชาชนที่ไม่ต้องการใช้ระบบพร้อมเพย์ใช่หรือไม่ เมื่อมีปฏิกิริยาจากประชาชนทั่วไปที่เริ่มไม่พอใจ กรมสรรพากรก็ต้องออกมาชี้แจงยืนยันว่า ไม่มีการบังคับให้สมัครพร้อมเพย์ในการรับคืนเงินภาษี ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาชัดเจนว่าถ้าไม่มีพร้อมเพย์ก็ยังไม่รู้ว่าจะคืนกันยังไง

ผมนำเรื่องนี้มาบ่นให้ฟังเพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นตัวอย่างของการบริหารงานแบบ “ทะห้านทะหาร” ของรัฐบาล ผมยืนยันว่าการที่รัฐบาลทหารมีนโยบายเรื่อง National e-Payment และการขับเคลื่อนโครงการ “พร้อมเพย์” เป็นเรื่องที่ดีและถูกต้อง แต่การให้ความรู้และการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมากกว่าความพยายามในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะผมเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จะดีกว่านี้แน่นอนถ้าท่านสอบถามถึงสาเหตุสำคัญต่างๆที่เป็นจุดอ่อนของความสำเร็จในโครงการนี้ และนำเอาจุดอ่อนเหล่านั้นมาแก้ไขให้ตรงจุดตรงประเด็น ก็ขอให้กำลังใจกับผู้รับผิดชอบทุกท่านด้วยความจริงใจ

ท้ายที่สุดนี้ผมขอกราบอวยพรให้ท่านผู้อ่านและมิตรสหายทุกท่านจงประสบแต่ความสุขตลอดปีใหม่ 2560 ที่จะมาถึงนี้ และขอให้สมความปรารถนาในสิ่งดีงามที่ตั้งใจเอาไว้ทุกประการ พบกันอีกทีปีหน้าครับ


You must be logged in to post a comment Login