วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กับพื้นที่ส่วนตัว? / โดย สำนักข่าวอิศรา

On January 2, 2017

คอลัมน์ : ข่าวไร้พรมแดน
ผู้เขียน : สำนักข่าวอิศรา

สำนักข่าวอิศราได้เผยแพร่บทความของ “ธิติ สุวรรณทัต” เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ 168 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ให้ผ่านวาระ 3 ท่ามกลางเสียงคัดค้านในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการให้อำนาจรัฐเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนมากเกินไปโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมปรกติที่ต้องขอหมายค้นจากศาลก่อน

ประเด็นดังกล่าวนี้ทำให้นึกถึงคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดสหรัฐ (Supreme Court of the United States) เมื่อปี 2014 ในคดีระหว่างนายเดวิด ไรเลย์ กับรัฐแคลิฟอร์เนีย (Riley VS. California) ประเด็นเรื่องการค้น/เปิดดูข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องสงสัยระหว่างกำลังถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยปราศจากหมายค้นนั้นขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่? เพราะบทแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ( the Fourth Amendment) บัญญัติไว้ว่า…

“สิทธิของประชาชนที่จะมีความปลอดภัยในร่างกาย เคหสถาน เอกสาร และทรัพย์สิ่งของ จากการถูกตรวจค้นหรือยึดโดยไม่มีสาเหตุอันควร จะละเมิดไม่ได้ และจะออกหมายเพื่อกระทำดังกล่าวใดๆไม่ได้ เว้นแต่จะมีเหตุอันควรเชื่อถือซึ่งได้รับการยืนยันด้วยคำสาบานหรือปฏิญาณ และโดยเฉพาะต้องระบุสถานที่ที่จะค้นหรือบุคคลที่จะจับกุมหรือสิ่งที่จะยึดไว้ในหมายนั้น”

มูลเหตุคดีนี้เริ่มมาจากวันที่ 22 สิงหาคม 2009 ขณะที่นายไรเลย์กำลังขับรถอยู่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เรียกให้จอด เพราะพบว่าป้ายทะเบียนรถหมดอายุ และเมื่อตรวจสอบใบขับขี่ของนายไรเลย์ก็พบว่ากำลังถูกระงับการใช้งานอยู่ เท่านั้นยังไม่พอ พอค้นรถต่อไปก็พบปืนอีก 2 กระบอกถูกซ่อนไว้ในกระโปรงหน้ารถ ตำรวจจึงทำการอายัดรถไว้ ระหว่างการค้นตัว เจ้าหน้าที่ได้เปิดดูข้อมูลในโทรศัพท์ของนายไรเลย์โดยปราศจากหมายค้น ซึ่งพบหลักฐานหลายอย่าง เช่น รูปภาพ ข้อความ เบอร์โทรศัพท์ต่างๆ คลิปวิดีโอ ที่บ่งบอกว่านายไรเลย์เป็นหนึ่งในสมาชิกแก๊งสเตอร์ชื่อ Lincoln Park gang ที่พัวพันกับเหตุการณ์ฆาตกรรมเมื่อ 20 วันก่อนหน้านั้น และภายหลังเมื่อตำรวจเอาปืนที่พบในรถไปตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ก็พบว่าเป็นกระบอกเดียวกันกับที่ใช้ในเหตุการณ์ดังกล่าว นายไรเลย์จึงถูกส่งฟ้องศาลและถูกตัดสินว่ามีความผิด ต้องโทษติดคุกในข้อหาฆาตกรรมทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย

ระหว่างการต่อสู้ทางศาล ทนายฝ่ายจำเลยพยายามใช้ประเด็นการตรวจค้นข้อมูลในโทรศัพท์ของนายไรเลย์โดยไม่มีหมายค้นมาต่อสู้ว่าการกระทำดังกล่าวขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสหรัฐ ในบทแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 ได้ส่งเรื่องไปยังศาลสูงสุดรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Supreme Court) เพื่อให้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ซึ่งศาลสูงแคลิฟอร์เนียก็วินิจฉัยว่าสามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวมีความแตกต่างกันในหลายรัฐ เช่น ศาลสูงรัฐฟลอริดากับรัฐโอไฮโอมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวขัดกับบทแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญสหรัฐ ขณะที่ศาลสูง รัฐแมสซาชูเซตส์และรัฐจอร์เจียมีคำวินิจฉัยไปในทิศทางเดียวกับศาลสูงแคลิฟอร์เนีย แม้กระทั่งศาลอุทธรณ์ในระดับรัฐบาลกลางก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน เช่น ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ของรัฐบาลกลางสหรัฐ เห็นว่าทำไม่ได้ ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4, 5 และ 7 กลับเห็นว่าทำได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นปัญหานี้จึงถูกนำขึ้นไปสู่ระดับศาลสูงสุดสหรัฐ (Supreme Court of the United States) เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่าการค้นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์/ดิจิตอล (digital data) ในโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องสงสัยในระหว่างการถูกจับกุมโดยปราศจากหมายค้นขัดกับบทแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ

นายจอห์น โรเบิร์ต ประธานศาลสูงสุด ได้เขียนคำวินิจฉัยส่วนตัวตอนหนึ่งพอสรุปได้ดังนี้ “…ข้อมูลดิจิตอลที่เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ (ของผู้ต้องสงสัย) ไม่สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธที่เป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ขณะกำลังจับกุมหรือช่วยให้ผู้ต้องสงสัยหลบหนีได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังคงมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของโทรศัพท์เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธ เช่น ตรวจสอบดูว่าไม่ได้มีใบมีดโกนถูกซ่อนอยู่ในซองใส่โทรศัพท์

แต่ข้อมูลใดๆที่อยู่ในเครื่องโทรศัพท์มือถือนั้นไม่สามารถทำร้ายใครได้ ตราบเท่าที่ (เจ้าหน้าที่) ตรวจสอบจนมั่นใจแล้วว่าลักษณะทางกายภาพใดๆของโทรศัพท์ไม่สามารถถูกใช้เป็นภัยคุกคามต่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นๆได้ และอีกตอนหนึ่งในคำวินิจฉัยของนายโรเบิร์ตเขียนว่า …โทรศัพท์มือถือในยุคสมัยนี้ (Smart phone) สามารถเก็บข้อมูลส่วนตัว (เจ้าของเครื่อง) ไว้ได้มากมายมหาศาลในรูปแบบดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ข้อความต่างๆทั้งอีเมล์และข้อความเสียง เอกสารการทำธุรกรรมต่างๆ ปฏิทินการนัดหมาย ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางการแพทย์ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แต่ก่อนจะถูกเก็บไว้ที่บ้าน ถ้าจะมีการตรวจค้นข้อมูลเหล่านี้เจ้าหน้าที่ต้องมีหมายศาลมาเพื่อขอเข้าไปตรวจค้นในบ้าน แต่ปัจจุบันข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้สามารถเก็บไว้ได้ในโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว

อุปกรณ์ที่บรรจุข้อมูล “ชีวิต (เรื่อง) ส่วนตัว” ของแต่ละคนไว้ และด้วยการที่เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถทำให้ข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกันสามารถถูกพกพาไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกนั้น ก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าในการปกป้องรักษาข้อมูลอันอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของพลเมืองอเมริกันทุกคนลดน้อยลงไปแต่ประการใด ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการปกปักรักษาสิทธิของประชาชนที่จะมีความปลอดภัยในร่างกาย เคหสถาน เอกสาร และทรัพย์สิ่งของ จากการถูกตรวจค้นหรือยึดโดยไม่มีสาเหตุอันควรจะละเมิดไม่ได้…”

แต่ละสังคมต่างก็ให้ความสำคัญในคุณค่าเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว หรือ “พื้นที่ส่วนตัว” ของพลเมือง มากน้อยต่างกันไปตามความศิวิไลซ์ทางการเมือง (political civilization) ของประเทศนั้นๆ


You must be logged in to post a comment Login