วันพฤหัสที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

กรมโรงงานฯ ขยายพื้นที่โซนนิ่งภาคการผลิตอีก 6 จังหวัด

On January 3, 2017

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุน หรือการจัดทำโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรม เริ่มตั้งแต่ปี 2557 ด้วยการจัดทำโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรมไปแล้ว 19 จังหวัด ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2559 จัดทำเพิ่มอีก 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่  พิษณุโลก  กำแพงเพชร  นครสวรรค์  ราชบุรี  ปทุมธานี  หนองคาย  ร้อยเอ็ด อุดรธานี  อุบลราชธานี  ระนอง ชุมพร  สุราษฎร์ธานี  และกระบี่

โดยในปี 2559 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการศึกษาการกำหนดพื้นที่โซนนิ่งอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปตั้งในแต่ละจังหวัดว่าจะมีประเภทใดที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ บ้าง ซึ่งการดำเนินงานได้ทำการศึกษาพัฒนาโซนนิ่งพื้นที่ โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) ซึ่งใช้เทคนิคการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ (Potential Surface Analysis : PSA) และเทคนิคการทำ Sieve Mapping เป็นเทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพความพร้อมของพื้นที่ รวมทั้งมีการรับฟังความคิดเห็นจากพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลประเมินผล กำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งผลที่ได้คือแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางการจัดเตรียมพื้นที่รองรับภาคอุตสาหกรรม

นายมงคล กล่าวต่อว่า กรมโรงงานฯ ได้ประเมินศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่และประเภทอุตสาหกรรมและแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม 15 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นที่ศักยภาพอุตสาหกรรมที่เหมาะสม และจะต้องมีการพัฒนาพื้นที่เพื่อเพิ่มศักยภาพของพื้นที่สำหรับประเภทอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของแต่ละจังหวัด โดยจากการศึกษาพบว่า ประเภทอุตสาหกรรมที่เหมาะแก่การลงทุนในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม 2.อุตสาหกรรมเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง 3.อุตสาหกรรมขนส่ง/ยานยนต์ 4.อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน/ทดแทน  5.อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล (เครื่องจักรกลการเกษตร) ยานพาหนะ อากาศยาน และอะไหล่ 6.อุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์สื่อสาร 7.อุตสาหกรรมรีไซเคิล/ใช้ประโยชน์จากขยะหรือกากอุตสาหกรรม 8.อุตสาหกรรมบริการ (ตามการเติบโตของเมือง) 9.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม  10.อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวภาพ  11.อุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง  12.อุตสาหกรรมเครื่องเรือนและผลิตภัณฑ์ไม้ (ยางพารา) 13.อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ 14.อุตสาหกรรมอาหาร (ปศุสัตว์) 15.อุตสาหกรรมการประมงและแปรรูปอาหาร  และ16.อุตสาหกรรมโลจิสติก (Logistic Hub) รวมทั้งท่าเรือและอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับการลงทุนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ นั้น จะต้องดูว่าจังหวัดใดเหมาะสมกับการทำอุตสาหกรรมประเภทใด โดยกรมโรงงานฯ ได้จัดทำแผนพัฒนาโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และส่งเสริมผู้ประกอบการที่กำลังจะเริ่มต้นประกอบกิจการต่างๆ ในพื้นที่อุตสาหกรรม 15 จังหวัดดังกล่าว พร้อมเตรียมจะขยายผลการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามในปี 2560 กรมโรงงานฯ ยังได้เตรียมศึกษาพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุนเพิ่มเติมอีก 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  น่าน  แพร่  ลำปาง  ลำพูน  และนครพนม เพื่อศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพการพัฒนาอุตสาหกรรมแต่ละจังหวัด พร้อมมีการจัดทำทิศทางการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแต่ละจังหวัดด้วย นายมงคล กล่าว


You must be logged in to post a comment Login