วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จีนนำร่องห้ามค้างาช้าง

On January 3, 2017

เป็นข่าวดีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ กรณีประเทศจีนประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม ที่ผ่านมา ห้ามซื้อขายงาช้าง และผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่ทำจากงาช้าง

จีน ซึ่งเป็นตลาดค้าขายงาช้างถูกกฎหมายใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศห้ามซื้อขายงาช้างตามมติของสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้ทุกประเทศหยุดการทำธุรกิจนี้ เพื่ออนุรักษ์ช้างป่า ทั้งช้างเอเชียและแอฟริกา ไม่ให้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะช้างในทวีปแอฟริกา ที่ถูกล่าเอางาอย่างหนัก

องค์กรอนุรักษ์ช้างระบุว่า ช้างในแอฟริกาลดจำนวนลงประมาณ 20% ระหว่างปี 2006 ถึงปีที่แล้ว ปัจจุบันเหลืออยู่ในป่าประมาณ 415,000 ตัว ขณะ 100 ปีที่แล้ว มีประมาณ 3-5 ล้านตัว

ต้นตอสำคัญที่ทำให้ช้างลดจำนวนลง คือธุรกิจค้าขายงา โดยจีนมีโรงงานแปรรูปและแกะสลักงาช้างจำนวนมาก กระจายอยู่ในเมืองใหญ่ 8 เมือง

สำหรับมาตรการห้ามซื้อขายงาช้าง จีนใช้วิธีทยอยสั่งปิดโรงงานและร้านค้า กำหนดสั่งปิดลอตแรก สิ้นเดือนมีนาคมนี้ และให้ยุติการผลิตรวมทั้งการค้าขายเต็มรูปแบบทั่วประเทศ หลังวันที่ 31 ธันวาคม ปีนี้

การนำร่องของจีน ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมไปกดดันตลาดค้าขายงาช้างใหญ่ระดับโลกอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น และฮ่องกง รวมทั้งประเทศไทยด้วย  

สำหรับสหรัฐ ได้บังคับใช้กฎหมายควบคุมการซื้อขายงาช้าง เมื่อ 6 กรกฎาคม ปีที่ผ่านมา โดยเป็นมาตรการเข้มงวดการซื้อขาย ยังไม่ห้ามเด็ดขาดเหมือนจีน

สำนักงานอนุรักษ์ปลาและสัตว์ป่าของสหรัฐ (U.S. Fish & Wildlife Service) ได้เผยแพร่ข้อกฎหมายในเว็บไซต์ ให้ผู้สนใจซื้อขายงาช้างเข้าไปศึกษา เพื่อไม่ให้การซื้อขายละเมิดกฎหมาย

ส่วนฮ่องกง ฝ่ายบริหารท้องถิ่นมีแผนออกกฎหมายห้ามค้าขายเต็มรูปแบบเหมือนจีนแผ่นดินใหญ่ หลังสิ้นปี 2021 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า ขณะกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ เรียกร้องให้ออกกฎหมายห้ามภายในปีหน้า

ความเคลื่อนไหวของฝ่ายบริหารฮ่องกง สร้างความปั่นป่วนให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ โดยสมาคมผู้ประกอบการงาช้าง มีแผนยื่นฟ้องฝ่ายบริหาร หากออกกฎหมายมาบังคับใช้จริง เนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการเสียหาย เพราะไม่สามารถขายสินค้าในสต็อกได้

ทางสมาคมเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารชะลอการออกกฎหมาย จนกว่าผู้ประกอบการจะขายสินค้าในสต็อกได้หมด

ส่วนญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้ประกอบการธุรกิจงาช้างมากถึง 300 ราย มีร้านขายส่ง 500 ร้าน และร้านขายปลีก 8,000 ร้าน ยังไม่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้

แต่คาดว่าอีกไม่นาน คงมีมาตรการออกมา เพราะถูกกดอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งในประเทศและนานาชาติ


You must be logged in to post a comment Login