วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สวัสดิการดีเกินไปคือการทุจริต! / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On January 5, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

ช่วงท้ายปีเช่นนี้มักมีข่าวจ่ายโบนัสให้พนักงาน เมื่อปีที่แล้วมีวิสาหกิจพัฒนาที่ดินแห่งหนึ่งจ่ายโบนัสถึง 22 เดือน แต่ที่จั่วหัวว่า “สวัสดิการดีเกินไปคือการทุจริต” นั้น ไม่ได้หมายถึงวิสาหกิจดังกล่าว ที่วิสาหกิจบางแห่งสามารถจ่ายโบนัสได้สูงๆ เพราะพนักงานไม่ใช่ปัจจัยการผลิตหลัก เช่น วิสาหกิจพัฒนาที่ดินมีที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เป็นปัจจัยการผลิตหลัก ปัจจัยการผลิตหลักของธนาคารคือเงินต่อเงิน พนักงานเป็นเพียงกลไกหนึ่งเท่านั้น จึงมีการโละเก่ารับใหม่อยู่เรื่อยๆ ปัจจัยการผลิตหลักของโรงงานคือเครื่องจักร คนเป็นเพียงกลไกส่วนเล็กๆ

ถ้าวิสาหกิจเหล่านี้ประสบความสำเร็จก็สามารถจ่ายโบนัสได้มหาศาล แต่วิสาหกิจที่ใช้คนเป็นปัจจัยการผลิตหลักไม่อาจจ่ายโบนัสได้มากมาย

บางท่านอาจงงว่าสวัสดิการที่ดีเกินไปเกี่ยวอะไรกับ CSR (Corporate Social Responsibility หรือความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ) เพราะนึกว่า CSR คือการอาสาทำดีกับสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง CSR คือการมีวินัย ไม่ข้องแวะกับการคอร์รัปชันหรือการโกงกิน

สวัสดิการที่ดีเกินไปย่อมเป็นต้นทุนที่สูง ส่งผลเสียโดยตรงต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้ถือหุ้นทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนรายย่อยกรณีบริษัทมหาชนและผู้บริโภค เพราะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นนั่นเอง

เราคงเคยได้ยินว่าสายการบินบางประเทศให้สิทธิอดีตแอร์โฮสเตสที่ลาออกไปแล้วขึ้นเครื่องบินข้ามทวีปเกือบ 20 ชั่วโมง เสียค่าธรรมเนียมเพียง 500 บาท จากค่าโดยสารปรกติ 50,000 บาท โดยแจ้งล่วงหน้าเพียงวันเดียว หากเป็นอดีตกัปตันก็เสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 1,000 บาท แถมได้นั่งชั้นธุรกิจราคา 130,000 บาท

เมื่อมีผู้ไปใช้ (อภิ) สิทธิ์กันมากๆ รวมทั้งสมาชิกครอบครัวอีก คิดเป็นเงินไม่รู้กี่สิบล้านบาทที่สูญเสียไปแต่ละปี เอาเงินมาแบ่งให้ผู้ถือหุ้นเป็นเงินปันผล ให้พนักงานเป็นโบนัส ให้ผู้บริโภคเป็นส่วนลด หรือคืนกำไรให้สังคมยังจะดีกว่า

สังเกตได้ว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่กำไรงามๆบางประเทศจะแบ่งผลประโยชน์ให้พนักงานอย่างเต็มอิ่ม แง่หนึ่งเพื่อปิดปากไม่ให้พนักงานก่อหวอดเรื่องการโกงกินในระดับสูง ถือเป็นการโกงกินแบบบุปเฟ่ต์ ทั่วถึงตามลำดับขั้น นอกจากนี้วิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่งยังปรนเปรอผู้บริหารระดับสูงด้วยงบประมาณเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างอิ่มหมีพีมัน

การโกงจนเป็นปรกติวิสัยเห็นได้จากข้าราชการระดับสูงบางประเทศได้รับสิทธินั่งในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจต่างๆ บางคนถ่างนั่งหลายเก้าอี้ อู้ฟู่ทั้งเบี้ยประชุมและอภิสิทธิ์ต่างๆ รัฐวิสาหกิจบางแห่งให้ใช้บริการของรัฐวิสาหกิจตลอดชั่วชีวิตอีก บางแห่งใช้งบซื้อรถประจำตำแหน่งราคาหลายล้านบาทให้ แล้วยังให้ค่าซ่อมและค่าน้ำมัน ตั๋วเครื่องบินต้องชั้นธุรกิจ และพักโรงแรมชั้นหนึ่ง

ทุกวันนี้คงไม่มีใครใจแข็งถอนตัวจากอภิสิทธิ์มหาศาลเหล่านี้ เพราะต่างถือหลัก “น้ำขึ้นให้รีบตัก” หรือ T Who T It (ทีใครทีมัน) รัฐวิสาหกิจบางแห่งจ่ายโบนัสเกือบ 12 เดือน ถือว่าเข้าข่ายปล้นเงินจากประชาชนไปใช้สอยส่วนตัว แม้แต่บริษัทมหาชนและสถาบันการเงินใหญ่โตยังไม่สามารถจ่ายโบนัสได้สูงขนาดนี้

ล่าสุดมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งจ่ายโบนัสแก่เจ้าหน้าที่ ทั้งที่มีสวัสดิการมากกว่าภาคเอกชนมากมาย แม้แต่ค่ารักษาพยาบาลยังรวมถึงรุ่นพ่อรุ่นลูก

วิสาหกิจเหล่านี้อาศัยต้นทุนที่ต่ำจากสถานะ (กึ่ง) ผูกขาดหรือจากการขุดทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ ทำให้ได้กำไรงาม จึงโยนผลประโยชน์ให้พนักงาน แต่พนักงานวิสาหกิจเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยการผลิตหลักเลย ปัจจัยการผลิตหลักกลับเป็นอสังหาริมทรัพย์ เครื่องจักร ใบอนุญาตหรือสัมปทาน พนักงานเป็นแค่เบี้ยเท่านั้น

อาจสรุปได้ว่าการโกงทำนองนี้นอกจากไม่สร้างแบรนด์ให้วิสาหกิจแล้ว ยังกัดกร่อนทำลายแบรนด์ตนเอง สังคมสูญเสียความเชื่อมั่น และที่สำคัญผู้บริโภคต้องแบกรับภาระมากขึ้น

ดังนั้น แม้วิสาหกิจเหล่านี้จะทำกิจกรรม CSR ช่วยเหลือสังคมและบริจาคเป็นบ้าเป็นหลังก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น นอกจากขายผ้าเอาหน้ารอด ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือลูบหน้าปะจมูก แล้วยังสร้างโอกาสให้ผู้บริหารวิสาหกิจนั้นๆสร้างชื่อเสียงปูทางสู่การเมืองหรือมีสถานะชั้นสูงในสังคม

จะให้วิสาหกิจทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเติบโตอย่างยั่งยืนและมี CSR จึงต้องแก้การโกงในมิติการให้สวัสดิการที่เกินพอดี เพราะการทุจริตถ่วงความเจริญของชาติ โดยเฉพาะในภาวะที่ไม่มีผู้แทนของประชาชนมาตรวจสอบยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโกงกินมากขึ้น ประเทศชาติก็เศร้าหมอง


You must be logged in to post a comment Login