วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘แรงงานเด็ก’แรงงานทาสยุคใหม่ / โดย ภูริวรรณ วรานุสาสน์

On January 9, 2017

คอลัมน์ : China Today
ผู้เขียน : ภูริวรรณ วรานุสาสน์

ผู้จัดการโรงงานเสื้อผ้าในเมืองฉางซู มณฑลเจียงซู ถูกตำรวจเข้าจับกุมในข้อหาใช้แรงงานเด็ก หลังจากที่มีการปล่อยคลิปวิดีโอลับไปทั่วโลกโซเชียลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

จากคลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นภาพของกลุ่มเด็กวัยรุ่นจากมณฑลหยุนหนานถูกนายหน้าคนกลางขนมายังเมืองฉางซูเมืองที่จัดว่าเป็นเมืองศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย

โดยเด็กๆจะได้รับเงินเดือนน้อยกว่า 2,000 หยวน (ประมาณ 10,000 บาท) ขณะที่เงินเดือนเฉลี่ยของผู้ใหญ่อยู่ที่ 5,000 หยวน (ประมาณ 25,000 บาท) อีกทั้งเด็กๆจะถูกบังคับให้ทำงานตั้งแต่ 07.00 น.ถึงประมาณเที่ยงคืน

เด็กสาวรายหนึ่งเปิดเผยว่า หากพวกเธอทำงานเสร็จเร็ว คนคุมก็จะสั่งงานเพิ่มให้ บางครั้งพวกเธอต้องทำงานไปจนถึง ตี 2-ตี 3 เลยทีเดียว

ฉางซูเป็นที่ตั้งของโรงงานสิ่งทอและเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายกว่า 1,000 แห่ง มูลค่าการผลิตมากถึง 1.3 หมื่นล้านหยวนต่อปี (ประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้ทางเมืองยังเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ดังของโลกอีกหลายแห่ง โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 340 ล้านหยวน (ประมาณ 1,700 ล้านบาท)

หนึ่งในเจ้าของธุรกิจแห่งหนึ่งกล่าวว่า หากมีเวลามากขึ้นในการผลิต นั่นหมายถึงผลกำไรที่จะได้รับ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วไปว่า ในธุรกิจที่ดำเนินกิจการแบบครอบครัว มักมีคนงานที่อายุน้อยทำงานตลอดวันตลอดคืน

เหล่า ฮั่น ผู้ผลิตคลิปวิดีโอดังกล่าวได้เปิดเผยว่า แรงงานเหล่านี้เรียกได้ว่าไม่ได้หยุดพักเลย จะได้พักในช่วงสั้นๆ ตอนรับประทานอาหารกลางวันช่วง 11.00 น.และช่วง 17.00 น.

สำหรับอาหารก็เลวร้ายมาก เด็กๆจะได้รับเพียงข้าวและผักไม่กี่ชิ้น แค่พอหนึ่งอิ่มเท่านั้น ซึ่งตามปรกติแล้วจะไม่มีการให้เนื้อสัตว์ แต่หากที่ไหนใจดีหน่อยก็อาจจะมีให้สัก 2-3 ชิ้น

แน่นอนว่าขณะทำงาน เด็กๆไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกัน ทำให้ระยะเวลาตลอด 15 ชั่วโมงของการทำงานจะเครียดมาก ซึ่งหลังจากที่เหล่า ฮั่นแฝงตัวเข้าไปทำงานในโรงงานเพื่อแอบถ่ายคลิปวิดีโอนี้เขากล่าวว่า เขารู้สึกปวดไปทั้งตัว และหลังจากเขาทำงานที่นั่นไป 4 วัน มือทั้งสองข้างก็บวม

ในโรงงานเล็กๆที่เขาแฝงตัวเข้าไปนั้น คนงานที่เป็นชาย 10 คนจะอาศัยในห้องพักสกปรก 8 ห้อง โดยเด็กชายวัย 15 ปีและ 16 ปีจะต้องนอนเตียงเดียวกัน และอีกสองคนก็ต้องนอนแบบนั้นเช่นกัน

หากใครลาออกก่อนสิ้นปี หัวหน้าก็จะไม่จ่ายค่าแรงใดๆ แถมยังบังคับให้จ่ายค่าตั๋วรถไฟเข้าเมือง

ด้วยปัจจัยแวดล้อมในที่ทำงานอันแสนจะเลวร้ายและค่าแรงที่แสนจะถูก ทำให้โรงงานไม่มีแรงดึงดูดให้คนมาทำงาน ขณะที่เขาทำงานอยู่นั้น มีเด็ก 3 คนหนีออกไปจากโรงงาน หัวหน้าตามจับกลับมาได้ บัตรประจำตัวและคอมพิวเตอร์ส่วนตัวถูกยึดและต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 3,000 หยวน (ประมาณ 15,000 บาท) สำหรับค่าเสียเวลาที่หนีไป

แน่นอนว่าบทลงโทษแบบนี้ ไม่มีเด็กคนไหนกล้าหนีอีกเลย

เหล่า ฮั่น เล่าอีกว่า เด็กๆหลายคนเคยกรอกข้อมูลไว้ให้กับฝ่ายทรัพยากรมนุษย์หรือแจ้งตำรวจ แต่ไม่เคยมีใครยื่นมือเข้ามาช่วย การออกมาทำงานยังต่างแดน ไกลจากบ้านเกิดจากคนรู้จัก แรงงานเด็กเหล่านี้จึงไม่เคยคิดที่จะปกป้องสิทธิ์ของตนและเกรงกลัวที่จะคุยกับตำรวจ

แรงงานเด็กส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้านห่างไกลในชนบทและอยากทำงานมากกว่าเรียนหนังสือ ด้วยแนวคิดที่ว่า “การศึกษาไร้ประโยชน์”

แรงงานเด็กที่กลับไปเยี่ยมบ้านในวันตรุษจีน พวกเขาจะกลับพร้อมกับเสื้อผ้าและผมทรงใหม่ เด็กๆในหมู่บ้านจะพากันชื่นชมและตัดสินใจเดินตามรอยเด็กๆกลุ่มนั้น โดยการลาออกจากโรงเรียน

ตราบใดที่ทางการยังไม่จริงจังกับการใช้แรงงานเด็ก ก็จะยังมีเด็กจำนวนมากเข้าสู่วงจรมืดเหล่านี้เรื่อยๆ


You must be logged in to post a comment Login