วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ไทม์สแควร์เคาท์ดาวน์ / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On January 9, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

ประเพณีนับเวลาถอยหลังในคืนวันสุดท้ายของปีที่ใจกลางกรุงนิวยอร์กได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่คนทั่วโลกเฝ้ารอชมทุกปี และสิ่งที่แตกต่างไปจากการเคาท์ดาวน์ทั่วไปคือ การปล่อยลูกบอลเป็นสัญลักษณ์การก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่

เวลา 18.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม ลูกบอลขนาดใหญ่ประดับด้วยหลอดไฟสีสันสวยงามถูกดึงขึ้นสู่ยอดเสาบนอาคารเลขที่ 1475 มุมถนนสายที่ 42 ตัดกับบรอดเวย์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่ออาคาร “วันไทม์สแควร์” ซึ่งเป็นอาคาร 25 ชั้น สูง 111 เมตร

ผู้คนนับแสนจากทั่วทุกมุมโลกต่างจับจองที่นั่งบนถนนบรอดเวย์เพื่อรอเวลานับถอยหลังการก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ เวลา 23.59 น. ลูกบอลจะถูกปล่อยให้ตกลงยังโคนเสาจากความสูง 43 เมตร ใช้เวลาทั้งสิ้น 1 นาที ตามด้วยงานแสดงแสงสี ดอกไม้ไฟ และเสียงดนตรี นับเป็นการเสร็จสิ้นประเพณีไทม์สแควร์เคาท์ดาวน์

กำเนิดไทม์สแควร์

จัตุรัสแห่งนี้เดิมทีมีชื่อว่า “จัตุรัสลองเอเคอร์” (Longacre Square) จนกระทั่งในปี 1904 หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สได้สร้างอาคารสูง 25 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารสูงอันดับที่ 2 ของเมืองในเวลานั้น บนหัวมุมถนนสายที่ 42 ตัดกับบรอดเวย์ เพื่อใช้เป็นสำนักงานใหญ่ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวนิวยอร์กก็เรียกสถานที่นี้ว่า “ไทม์สแควร์”

อดอล์ฟ โอชส์ เจ้าของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส วางแผนจะย้ายเข้าสำนักงานแห่งใหม่ในต้นเดือนมกราคม 1905 แต่เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาสทองที่จะทำการประชาสัมพันธ์สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ เขาจึงวางแผนใช้อาคารหลังใหม่เป็นสถานที่เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่สำหรับชาวนิวยอร์กทุกคน

อดอล์ฟต้องการจัดงานเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่อย่างยิ่งใหญ่อลังการแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เขาสั่งให้ติดตั้งพลุและดอกไม้เพลิงจำนวนมากบนดาดฟ้าอาคาร ซึ่งจะถูกจุดขึ้นในเวลา 00.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 1905 จากนั้นตามด้วยเสียงเพลงบรรเลงผ่านเครื่องขยายเสียงที่ว่ากันว่าได้ยินห่างไปไกลถึง 30 ไมล์

ทุกอย่างดำเนินไปตามแผนการที่วางเอาไว้ ความยิ่งใหญ่ของงานเคาท์ดาวน์ที่ไทม์สแควร์ทำให้ชาวนิวยอร์กเปลี่ยนวิถีชีวิต จากเดิมที่เคยไปรวมตัวกันฉลองเทศกาลปีใหม่ที่โบสถ์ทรินิตี้กลับกลายเป็นรอคอยการเคาท์ดาวน์ที่ไทม์สแควร์

กำเนิดลูกบอล

ชาวนิวยอร์กมีโอกาสได้ชื่นชมพลุไฟฉลองวันปีใหม่เพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น เพราะต่อมาในปี 1907 เทศบาลนครนิวยอร์กออกกฎหมายห้ามจุดดอกไม้เพลิงในเขตเมือง วอลเตอร์ พาลเมอร์ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ออกไอเดียว่าเขาเคยเห็นที่อาคารเวสเทิร์นยูเนี่ยนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอาคารไทม์สแควร์เคาท์ดาวน์ด้วยการปล่อยลูกบอล

แต่การปล่อยลูกบอลไม่น่าตื่นเต้นเหมือนการจุดพลุ อดอล์ฟจึงว่าจ้างบริษัทอาร์ตคราฟต์สเตราส์ บริษัทออกแบบสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ชื่อดังของนิวยอร์ก ให้มาช่วยแก้ไขปัญหา และคำตอบที่ได้คือ การสร้างลูกบอลขนาดใหญ่มีแสงสีตระการตาปล่อยลงจากจุดสูงที่สุดของอาคาร

ลูกบอลลูกแรกสร้างจากโครงเหล็กและไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เมตร ภายในประดับด้วยหลอดไฟขนาด 25 วัตต์ จำนวน 100 ดวง มีน้ำหนัก 320 กิโลกรัม ต้องใช้คนงาน 6 คน ช่วยกันนำไปติดตั้งที่เสาธงบนดาดฟ้าแล้วดึงขึ้นไปอยู่บนยอดเสา เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนศักราชก็ให้ปล่อยลูกบอลตกลงสู่โคนเสา

ปี 1907 เป็นครั้งแรกที่มีการเคาท์ดาวน์ด้วยการปล่อยลูกบอลจากยอดเสา และกลายเป็นประเพณีที่ทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าสำนักงานใหญ่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สจะย้ายอีกครั้งไปยังอาคารหลังใหม่ที่ถนนสายที่ 43 ในปี 1914 แต่ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารหลังเดิมอยู่

การเคาท์ดาวน์ที่ไทม์สแควร์มีทุกปียกเว้นปี 1942-1943 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องพรางไฟเพราะอยู่ระหว่างทำสงคราม แต่ชาวนิวยอร์กก็ยังคงมารวมตัวกันที่ไทม์สแควร์ พวกเขาเฉลิมฉลองการเปลี่ยนศักราชด้วยการสั่นกระดิ่ง

เปลี่ยนมือ ไม่เปลี่ยนประเพณี

จริงๆแล้วการเทียบเวลาด้วยการปล่อยลูกบอลจากที่สูงเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 1829 โดยผู้บังคับการเรือ โรเบิร์ต วอก์โฮป แห่งราชนาวีอังกฤษ และนักประดิษฐ์ ซึ่งได้ออกแบบการทิ้งลูกบอลจากที่สูงทุกวันในเวลา 13.00 น. เพื่อให้นักเดินเรือสามารถเทียบเวลาที่ถูกต้องได้ เพราะเวลาที่ถูกต้องมีความสำคัญมากในการเดินเรือ และในยุคสมัยนั้นยังไม่สามารถสื่อสารระยะทางไกลและยังไม่มีนาฬิกาดิจิตอลที่บอกเวลาได้อย่างเที่ยงตรงแม่นยำ

กลับมาที่ไทม์สแควร์ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สคงความเป็นเจ้าของอาคารเลขที่ 1475 จนถึงปี 1961 จึงขายให้กับดักลาส ลีก์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของประเพณีเคาท์ดาวน์ที่ไทม์สแควร์ จึงรักษาประเพณีนี้เอาไว้จนถึงปัจจุบัน

ปี 1920 ลูกบอลได้รับการออกแบบใหม่ มีน้ำหนักน้อยลงเกือบครึ่ง และต่อมาในปี 1955 โครงเหล็กถูกแทนที่ด้วยอะลูมินั่ม ทำให้น้ำหนักลูกบอลลดลงเหลือไม่ถึง 75 กิโลกรัม ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนเป็นทรงแอปเปิ้ลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองนิวยอร์กในช่วงทศวรรษ 1980 และกลับมาใช้รูปแบบทรงกลมแบบเดิมอีกครั้งในปี 1988

ปี 2007 เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีประเพณีปล่อยลูกบอลที่ไทม์สแควร์ บริษัทผลิตกระจกเจียระไน วอเตอร์ฟอร์ดคริสตัล และบริษัทผลิตหลอดไฟชั้นนำของโลก ฟิลิปส์ลักซีออน ร่วมมือกันผลิตลูกบอลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 ฟุต น้ำหนัก 6 ตัน ประกอบด้วยกระจกคริสตัล 2,688 ชิ้น และหลอดไฟแอลอีดีจำนวน 32,256 ดวง เรียกว่าเป็นอภิมหาคริสตัลบอลเลยทีเดียว

เชื่อกันว่ามีการเคาท์ดาวน์ต้อนรับปีใหม่ด้วยวิธีปล่อยลูกบอลไม่น้อยกว่า 150 แห่งทั่วโลก แต่มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่สามารถทำติดต่อกันได้ทุกปีและยิ่งใหญ่เหมือนกับที่ไทม์สแควร์เคาท์ดาวน์


You must be logged in to post a comment Login