วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

กพร. ปรับทัพรองรับอุตสาหกรรม 4.0

On January 9, 2017

นายวิษณุ ทับเที่ยง โฆษกและผู้อำนวยการกองบริหารยุทธศาสตร์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ในปี 2560 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะมีการปรับเปลี่ยนบทบาทครั้งสำคัญ จากเดิมที่เน้นการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน ไปสู่บทบาทใหม่ที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และรองรับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ตลอดจนจะมีการปรับเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็นกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและวัตถุดิบ โดยรายละเอียดภาพรวมของภารกิจใหม่ ได้แก่
·     จัดหาวัตถุดิบป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมวัตถุดิบทั้ง 3 ประเภท คือ
(1)    วัตถุดิบขั้นต้น หรือวัตถุดิบจากแหล่งธรรมชาติ (Natural Raw Materials) ได้แก่ แร่ทุกชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ถ่านหิน แร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก ฯลฯ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างตาม Mega Projectเช่น หินก่อสร้าง เหล็ก  ฯลฯ
(2)    วัตถุดิบทดแทน (Secondary Raw Materials – Recycling) จากกระบวนการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย       เพื่อแยกสกัดแร่และโลหะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ทองคำ  ทองแดง  เงิน  ดีบุก  เหล็ก ฯลฯ
(3)    วัตถุดิบขั้นสูง (Advanced Raw Materials) จากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัตถุดิบ/วัตถุดิบทดแทนคุณภาพสูงที่เป็นแร่ โลหะ และสารประกอบของโลหะ เช่น แร่หายาก (Rare Earth) แร่ที่ต้องใช้ในอุตสาหกรรมศักยภาพ
·        พัฒนาความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยสนับสนุนการพัฒนาความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ให้สามารถใช้ประโยชน์วัตถุดิบได้อย่างคุ้มค่า และเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบนำไปสู่การเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย อาทิ การพัฒนาและเชื่อมโยงแร่ควอตซ์ซึ่งมีปริมาณสำรองแร่ควอตซ์คุณภาพในประเทศไทยกว่า 25 ล้านตัน ให้สามารถเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จากโซล่าเซลล์ เป็นต้น
·        ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กพร.จะมีบทบาทในการจัดหาวัตถุดิบธรรมชาติจากอุตสาหกรรมแร่จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม โดยอาศัยจุดเด่นในเรื่องขององค์ความรู้เทคโนโลยี เงินทุน และความต้องการใช้งานภายในประเทศ โดย กพร. จะทำหน้าที่ประสานงานด้านนโยบาย กฎหมาย กฎ และระเบียบ ระหว่างภาครัฐในแต่ละประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการเข้าไปลงทุน

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่ม CLMV ดังกล่าว จะเอื้อประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถนำเข้าแร่ที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ถ่านหิน ทรายแก้ว โลหะ หินปูน จากกลุ่มประเทศดังกล่าวได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งช่วยลดการเสียดุลทางการค้าของภาคอุตสาหกรรมไทย ขณะเดียวกันใน กพร. ตั้งเป้าส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเกิดลงทุนด้านอุตสาหกรรมแร่ในต่างประเทศ เพื่อป้อนวัตถุดิบที่ประเทศไทยมีไม่พอใช้หรือไม่มีกลับมาเพื่อใช้ในประเทศ ไม่น้อยกว่าปีละ 10-20 ราย นายวิษณุ กล่าวเสริม

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นอีกปัจจัยหลักที่ กพร. มีนโยบายในการกำกับ ควบคุม และดูแลอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างสมดุลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เหมืองแร่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ โดยกพร.มีแผนงานในการพัฒนาการกำกับดูแลส่งเสริมการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างความรู้แก่ชุมชนให้มากขึ้นตั้งแต่กระบวนการขอสำรวจแหล่งแร่ไปจนถึงกระบวนการผลิตแร่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาการประกอบการให้เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม  ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา กพร. ได้ดำเนินการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการเหมืองแร่ให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขที่กำหนดได้กว่าร้อยละ 97.49 หรือคิดเป็นจำนวน 1,400 รายจากทั้งหมด 1,436 รายพร้อมตั้งเป้าปี 2560 มุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เข้าร่วมโครงการมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DPIM) จำนวน 10 ราย โครงการอุตสาหกรรมเหมืองแร่สีเขียวให้ได้เพิ่มขึ้นจำนวน 20 ราย ตลอดจนตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานสามารถพัฒนาสถานประกอบการให้ได้การรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว (Green industry) ไม่น้อยกว่า 50 ราย

สำหรับผลการดำเนินงานตลอดปีงบประมาณ 2559(ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 – กันยายน 2559) ที่ผ่านมา กพร. ได้ดำเนินการอนุญาตสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทั้งสิ้น 108 แปลง มีมูลค่าแหล่งแร่ประมาณ 19,764 ล้านบาท ดำเนินการจัดเก็บรายได้ค่าภาคหลวงแร่จำนวน 4,017 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบัน กพร.มีสถานประกอบการอุตสาหกรรมแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานในการกำกับดูแลทั้งสิ้น 1,436 ราย มีการผลิตแร่จำนวน 34 ชนิด รวมมูลค่า 77,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 27.7 สำหรับแร่ที่มีมูลค่าการผลิตสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หินปูน มูลค่า 34,327 ล้านบาท รองลงมาเป็น ลิกไนต์ มูลค่า 14,015 ล้านบาท และยิปซัมมูลค่า 6,290 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนแร่ที่มีการใช้ภายในประเทศมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หินปูน มูลค่า 34,299 ล้านบาท รองลงมาเป็นลิกไนต์ มูลค่า 15,070.9 ล้านบาท และเกลือหิน มูลค่า 2,360 ล้านบาท ตามลำดับ และการส่งออกแร่ที่สำคัญสูงสุด 3 อันดับแรก คือ โลหะดีบุก มูลค่า 4,348.8 ล้านบาท รองลงมาคือ ยิปซัม มูลค่า 4,192.8 ล้านบาท และทองคำ มูลค่า 2,521 ล้านบาท ตามลำดับ


You must be logged in to post a comment Login