วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

มีเลือกตั้งแน่นอนปี 59, 60, 61… / โดย ทีมข่าวการเมือง

On January 10, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“เสียชีพอย่าเสียสัตย์” เป็นคำปฏิญาณของลูกเสือเพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงความซื่อสัตย์ ไม่โกหกตอแหล ยอมตายแต่ไม่ยอมเสียคำพูด แต่การเมืองไทยกลับมีคำที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” นั้นทำได้

ใครที่ติดตามข่าวการเมืองมานานคงจำ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ที่ประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่หลังการร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 22 มีนาคม 2535 พรรคสามัคคีธรรมซึ่งได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เสนอชื่อ พล.อ.สุจินดาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ที่ถูกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประกาศว่าเป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐได้เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับกลุ่มค้ายาเสพติดจนชวดการก้าวสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี

การรับตำแหน่งของ พล.อ.สุจินดาตามวลีใหม่ที่ว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” นำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนและเคลื่อนไหวต่อต้านจนทำให้เกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ซึ่งเป็นอุทาหรณ์ทั้งคนในกองทัพและนักการเมืองถึงการรักษาคำสัตย์ต่างๆที่ประกาศต่อสาธารณชนให้ตระหนักว่า “คำพูดเป็นนาย” และ “อย่าถ่มน้ำลายรดฟ้า”

โยนหินตามใบสั่ง?

ขณะที่วิกฤตการเมืองไทยที่ผ่านมาไม่ถึงทศวรรษกลับมีการทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง โดยที่ผู้นำกองทัพต่างยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะไม่ทำรัฐประหารและจะไม่ยอมให้ใครทำรัฐประหาร แต่แล้วก็ทำตรงข้ามกับที่ประกาศ

จึงเป็นธรรมดาที่วันนี้ประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2560 แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะย้ำหลายครั้งว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแม็พและมีการเลือกตั้งในปลายปี 2560 แต่แล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า อาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งจากปลายปี 2560 ไปเป็นต้นปีหรือกลางปี 2561 เพราะมีกฎหมายมากมายที่ยังพิจารณาไม่เสร็จ

ตามด้วย พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ให้ความเห็นว่า หากการเลือกตั้งจะช้าออกไปก็ต้องมีเหตุผลที่ยอมรับได้ ก่อนจัดการเลือกตั้งรัฐบาลควรทำโครงการสำคัญและเรื่องใหญ่ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้ทำงานเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง ดังนั้น ไม่ควรสนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์หากการเลือกตั้งจะช้าออกไป แต่เป็นการทำเพื่อบ้านเมือง หากเวลาในการพิจารณากฎหมายไม่เพียงพอจริงก็สามารถยื้อเวลาออกไปได้

เลื่อนแล้วเลื่อนอีก

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม ถึงกระแสข่าวว่าอาจมีการเลื่อนโรดแม็พการเลือกตั้งไปเป็นปี 2561 ว่า เรื่องนี้ทุกคนถามและได้พูดมาตลอด มันมีขั้นตอนอะไรบ้าง ทุกคนต้องเข้าใจขั้นตอนของโรดแม็พคืออะไร 1.ต้องมีรัฐธรรมนูญ 2.ต้องทำกฎหมายลูก จะกี่ฉบับไม่รู้ แต่มีกรอบเวลาอยู่แล้ว ถ้าทำเกินเวลาแสดงว่าไม่ทัน ถ้าทำเร็วกว่านั้นก็แสดงว่าทำทัน เมื่อทำกฎหมายลูกเสร็จจะมีขั้นตอนดำเนินการในทางการเมืองเรื่องการเตรียมเลือกตั้ง จัดผู้สมัคร หาเสียง การหาเสียงจะวุ่นวายขนาดไหนก็รู้อยู่แล้ว ควรจะทำช่วงไหนต้องดูการเริ่มต้นหาเสียง ซึ่งตนไม่ยุ่ง หาเสียงเสร็จ เลือกตั้งเสร็จ ใช้เวลาประมาณ 150 วัน จากนั้นก็มีขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาลในระยะเวลา 90 วัน

“แล้วผมไปเลื่อนโรดแม็พของท่านตรงไหน หรือถ้าทุกคนจะเอาเร็ว เอาเลือกตั้งตอนนี้ ผมถามว่าแล้วอย่างอื่นจะไปอย่างไร ไอ้คนเร่งคือใคร และเขาต้องการอะไร เขาได้พูดอย่างที่ผมพูดหรือไม่ ผมไม่ได้ไปลดขั้นตอน ถ้าผมลดขั้นตอน ไอ้นี่ก็ไม่ต้องทำ เพื่อให้เลือกตั้งเร็วๆ แล้วมันหมดไหม กฎหมายยังไม่ออกอีกเท่าไร แล้วท่านมาบอกว่าผมไม่ทำอะไร ก็ร่วมมือกับผมสิจะได้ลดงานให้เร็วขึ้น ถ้าไม่ร่วมมือก็จะเป็นอยู่แบบนี้ ถ้าทำไม่ได้ ยุทธศาสตร์ปฏิรูปก็จะเดินไม่ได้ ปฏิทินการเลือกตั้งเป็นไปตามขั้นตอน ถ้าจะเกิดการเลือกตั้งต้องมีกระบวนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องมีกระบวนการดำเนินการทางการเมือง แต่ถ้าให้หาเสียงวันนี้ก็ด่ากันตั้งแต่วันนี้ ผมสัญญากับประชาชนว่าจะคืนความสุขให้ แต่จะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนโรดแม็พ เพราะโรดแม็พคือโรดแม็พ ไม่ต้องไปฟังใครพูดอย่างนั้นอย่างนี้”

คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งทำให้การเลือกตั้งปี 2560 อยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ถือเป็นเรื่องปรกติ เพราะหากย้อนถึงคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าจะมีการเลือกตั้งประมาณช่วงต้นปี 2559 พอวันที่ 28 กันยายน 2558 พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกว่าจะมีการเลือกตั้งประมาณกลางปี 2560 และวันที่ 9 สิงหาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าจะเดินหน้าตามโรดแม็พและมีการเลือกตั้งให้ได้ในปลายปี 2560 สรุปก็คือไม่สามารถสรุปได้

อ้างเงื่อนเวลาออกกฎหมายลูก

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เรื่องนี้ยาว พูดสั้นไม่ได้ ต้องมาคุยกันอีกครั้ง ถ้าพูดตอนนี้อาจเกิดความเข้าใจผิด แต่ยังยืนยันเป็นไปตามโรดแม็พเหมือนเดิม ส่วนกฎหมายที่ค้างการพิจารณาใน สนช. นั้นไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ถ้ากฎหมายค้างก็เร่งพิจารณา

ที่สำคัญการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกจำนวน 10 ฉบับคือ 1.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 4.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 5.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 6.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง 7.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 8.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 9.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และ 10.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งคือฉบับที่ 1-4 ส่วนฉบับที่ 5-10 เป็นกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ ซึ่งในบทเฉพาะกาลมาตรา 267 กำหนดว่า ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ต้องจัดทํา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ให้เสร็จภายในระยะเวลา 240 วัน หรือ 8 เดือน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ เพื่อเสนอต่อ สนช. พิจารณาและประกาศใช้

ปัญหาขณะนี้คือ รัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้ เงื่อนเวลา 8 เดือนในการจัดทำกฎหมายลูกจึงยังขยับได้ตลอดเวลา ขณะนี้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯแล้วและรอพระบรมราชวินิจฉัย แล้วยังมีเงื่อนไขการพิจารณากฎหมายลูก หาก สนช. 2 ใน 3 ไม่เห็นด้วย กฎหมายลูกก็ต้องตกไป แต่ไม่ได้บอกว่าต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งรู้ดีว่า สนช. จะลงมติอย่างไรก็ต้องเป็นไปตาม “ใบสั่ง” ของ คสช.

นอกจากประเด็นกฎหมายลูกแล้วยังมีกฎหมายการปฏิรูปประเทศซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้ สปท. ต้องเสนอร่างกฎหมายต่อ สนช. โดยต้องให้มีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คสช. จึงให้ความสำคัญกับกฎหมายการปฏิรูปประเทศอย่างมาก หากยังไม่พอใจก็ต้องยืดเวลาออกไป เท่ากับ คสช. ต้องอยู่ในอำนาจต่อไป โรดแม็พก็ต้องขยายออกไป รวมถึงการเลือกตั้ง

“ยิ่งลักษณ์” ทวงประชาธิปไตย

การเปิดประเด็นเลื่อนการเลือกตั้งของ สนช. และ สปท. รวมถึงคำพูดแบบไม่แน่ไม่นอนของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากฝ่ายนักการเมืองและฝ่ายประชาธิปไตยทันที ไม่ว่าจะเป็นนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ พรรคประชาธิปัตย์ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล พรรคชาติไทยพัฒนา หรือนายภูมิธรรม เวชยชัย พรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่เห็นด้วยที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก

รวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวถึงทิศทางการเมืองในปี 2560 ว่า เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทั้งรัฐธรรมนูญใหม่ การเลือกตั้งที่จะเดินตามโรดแม็พ จึงเป็นปีที่ต้องช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ต่างๆให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดในการเมืองปีนี้คือ ทุกฝ่ายเดินเข้าหาโรดแม็พที่วางไว้ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อกลับเข้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและคนไทย และจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ

อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ยังขอให้ คสช. ดำเนินการตามโรดแม็พที่วางไว้ เพราะเลื่อนเลือกตั้งหรือเลื่อนโรดแม็พมานานแล้ว ผ่านมา 2 ปีโดยไม่ได้คืนประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนเสียโอกาสต่างๆ ไม่อยากให้เสียอะไรไปมากกว่านี้ อะไรที่ไม่จำเป็นก็อยากให้ช่วยกันประคับประคองแก้ไขกันไป หากจำเป็นจริงๆก็ควรมีเหตุผลเหมาะสมที่จะชี้แจงมากกว่าขอเลื่อนเฉยๆ มิเช่นนั้นโรดแม็พจะเลื่อนไปเรื่อยๆ

ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมืองในปี 2560 ว่า เป็นปีที่เดินเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรดแม็พ มีความแตกต่างจากปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญและเริ่มมองเห็นว่าระยะเวลาที่เหลืออยู่จะกลับเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ในปี 2560 จะเห็นการเดินเข้าสู่การเลือกตั้งเป็นรูปธรรมมากขึ้น

คสช. ยังไม่ลงจากหลังเสือ

นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจว่า คสช. จะยังไม่ลงจากหลังเสือแน่หากยังมีปัญหาเศรษฐกิจเพื่อจะมีอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง และเชื่อ 100% ว่าจะต้องมีนายกฯคนนอก เพราะ คสช. ไม่ไว้ใจนักการเมือง โดยอาศัยเสียง ส.ว.แต่งตั้ง 250 เสียง

นายสุขุมมองว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์คิดว่าสภาพที่เป็นอยู่วันนี้ประชาชนพอใจที่การเมืองนิ่งก็ต้องพยายามยืดการอยู่ในอำนาจออกไปให้ยาวนานที่สุด เมื่อไรที่ประกาศรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องปลดล็อกการเมือง แต่ท่าทางขณะนี้ไม่ใช่แล้ว กฎหมายลูกในอนาคตก็ไม่แน่นอน เพราะต้องผ่าน สนช. ถ้ามีการแก้ไขก็ต้องขยายเวลาออกไป ปี 2560 การเมืองจึงยังถูกคุมกำเนิด แม้พรรคการเมืองพยายามจะดิ้นเพื่อให้กฎหมายลูกคลอดออกมาให้ได้ แต่จะไม่มีแรงมากมาย เพราะประชาชนพอใจสภาพที่เป็นอยู่ และการเลือกตั้งอาจจะเลื่อนออกไปอีก

นายสุขุมย้ำว่า ปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นตัวชี้ขาด ถ้าคะแนนนิยมด้านเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น คสช. ก็ยังไม่ลงจากหลังเสือ ลงไปแล้วแพ้ก็ไม่รู้ว่าจะเสียหายอย่างไร แต่ถ้าเศรษฐกิจดีจะทำให้ คสช. มั่นใจที่จะปล่อยให้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้ คสช. มีโอกาสโดยไม่ตั้งพรรคการเมืองเอง เพราะนโยบายพรรคก็รู้อยู่แล้วว่าประกาศสนับสนุนใคร หรืออาจจะลงเลือกตั้งด้วยความมั่นใจไปด้วยถ้าเศรษฐกิจดี

ส่วน คสช. จะอยู่ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่ามีความแตกแยกกันภายในหรือไม่ มีปัญหาคอร์รัปชันหรือไม่ เพราะคนไทยเกลียดคอร์รัปชัน อย่างในอดีตที่เอือมสุดกับรัฐบาลทหารเรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งรัฐบาลนี้ก็มีหลายเรื่องที่ถูกตั้งคำถาม แต่ตราบใดที่หัวไม่ส่ายก็ยังคุ้มกันได้ เพราะประชาชนยังเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ทุจริต

ด้าน “ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์นักวิเคราะห์ข่าวการเมือง ได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คว่า เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นานๆๆๆๆๆ เลือกตั้งไม่ได้หรอกครับ มีรัฐบาลหลังเลือกตั้งเมื่อไรก็ไม่มีมาตรา 44 ต่อให้มี 250 ส.ว. ต่อให้เป็นลุงตู่มาเอง แต่ลุงตู่ที่ไม่มีมาตรา 44 จะเหลืออะไร

ถ้าจะเลือกตั้งก็ต้องกระชับอำนาจให้มั่นคงเบ็ดเสร็จก่อน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ความมั่นคงทางไซเบอร์ พ.ร.บ.สื่อ ฯลฯ เผลอๆอาจจะมีมาตรา 44 แปลงร่างด้วยซ้ำ

สำหรับผู้รักประชาธิปไตยมีเลือกตั้งพิธีกรรมก็ไม่มีความหมายอะไร (แม้แน่ละเราต้องเรียกร้องให้ทำตามสัญญา) แต่คอยดูเถอะพวกคนระดับบน พวกชนชั้นนำด้วยกันเองนั่นละจะเห็นต่าง หลายคนอยากอยู่อย่างนี้ต่อ เพราะกินอิ่มนอนหลับ อยู่ในศูนย์กลางอำนาจ แต่บางคนที่อยู่ห่างก็อยากให้มีเลือกตั้ง เผื่อไม่มีมาตรา 44 จะได้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น

มีเลือกตั้งแน่นอนปี 59, 60, 61…

เริ่มต้นปี 2560 สถานการณ์การเมืองก็เห็นความวุ่นวายต่างๆที่จะตามมา ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งจะเลื่อนไปปี 2561 หรือไม่เท่านั้น แต่ยังมีปัญหาการปฏิรูปประเทศที่ต้องทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นกฎเหล็กของ คสช. วางเอาไว้ ซึ่งจะไม่ยอมให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งคิดอะไรนอกกรอบนี้ และต้องเดินตามกฎเหล็กนี้อย่างกระดิกกระเดี้ยไม่ได้

การออกมาส่งเสียงเชียร์ของบรรดา “ไอ้ห้อยไอ้โหน” ให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปจึงอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ที่มีอำนาจสูงสุดจะตัดสินใจ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็พูดเป็นนัยแล้วว่าให้เข้าใจขั้นตอนโรดแม็พว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งต้องเป็นไปตามขั้นตอนและสถานการณ์ ทั้งยังถามกลับคนที่เร่งการเลือกตั้งว่าต้องการอะไร แต่ไม่พูดว่าจะปฏิรูปประเทศอย่างไร

“ปี 2560 นี้เป็นปีของการเริ่มต้นการปฏิรูปประเทศ ซึ่งหลายอย่างได้มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้ ได้มีการตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชนว่ารัฐบาลได้ทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง ซึ่งการปฏิรูปประเทศต้องมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จึงขอความร่วมมือกับประชาชนเพื่อเดินหน้าประเทศต่อไป”

โดยคนไทยคงได้หูชากันอีกครั้งกับเพลงใหม่ล่าสุดที่มีชื่อว่า “สะพาน” ที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่งขึ้นช่วงหยุดปีใหม่และนำมาเผยแพร่ให้คนไทยได้ฟังกันในวันทำงานวันแรกของปี 2560 โดยแจ้งว่าได้แต่งเพลงนี้เพื่อให้กำลังใจคณะรัฐมนตรี และเพื่อก้าวข้ามไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

“อาจจะนานที่สุดเพื่อเธอ เพื่อแผ่นดินที่แสนรักมั่น นานแค่ไหนรู้ไว้ไม่หวั่นหัวใจ เมื่อต้องเจอแม่น้ำเชี่ยวกราก อุปสรรคที่แสนยิ่งใหญ่ จะพาเธอให้พ้นทุกข์ภัยเช่นไร อย่าเพิ่งท้อแท้ เพราะฉันไม่เคยจะท้อถอย สองมือจะไม่ปล่อย ขอจงอย่าหวั่นใดใด ฉันพร้อมจะเป็นสะพาน เพื่อให้เธอข้ามไปปลายทางที่ฝัน จะพาถึงฝั่งดั่งที่ตั้งใจ…”

ปี 2560 จึงเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเป็นสถานการณ์แบบไหน เพราะสถานการณ์สร้างได้ กำหนดได้ เหมือนวิกฤตการเมืองกว่า 10 ปีที่ผ่านมา และรัฐประหาร 2 ครั้ง ล้วนเกิดขึ้นเพราะคนทำให้เกิด ไม่ใช่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ

ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งปลายปี 2560 หรือเลื่อนไปปี 2561 เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้กติกาที่เขียนแบบมัดมือชกก็น่าจะเป็นแค่พิธีกรรมเพื่อไปสู่ประชาธิปไตย 99.99% ภายใต้ “ระบอบพิสดาร” เพื่อให้นานาชาติเลิกถามเรื่องเลือกตั้งเสียทีเท่านั้น เพราะ “งาช้างไม่งอกจากปากสุนัขฉันใด ประชาธิปไตยก็มิอาจงอกจากเผด็จการฉันนั้น”

เมื่อทั่นผู้นำยืนยันว่า ทุกอย่างยังเดินไปตามโรดแม็พ (ที่ดิ้นได้) ไม่ว่าหนทางจะคดเคี้ยวเลี้ยวอีกกี่โค้งอันตราย ประชาชนคนไทยก็ต้องเชื่อใจยอมขึ้น “รถตู้ประชาธิปไตย 99.99%” กันต่อไป

ถ้ารักชาติ..ก็ไม่ต้องถาม ไม่ต้องสงสัยว่า คนขับเขาจะพาไปไหน หรือจะไปถึงเมื่อไร.. เข้าใจมั้ย? ..ปัดโธ่!!


You must be logged in to post a comment Login