วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘เศรษฐกิจจีน’แกร่งเกินวิกฤต

On January 16, 2017

มีกระแสความวิตก หวาดหวั่น เกิดขึ้นเป็นระลอกต่อเนื่องมาหลายปี ท่ามกลางจีนแสดงบทบาทเป็น “ขาใหญ่” ในวงการเศรษฐกิจโลก และดูเหมือนกระแสจะร้อนแรงมากขึ้นในปีนี้

กระแสดังกล่าว คือความหวั่นวิตกว่า เศรษฐกิจจีนจะเผชิญภาวะฟองสบู่แตก จมดิ่งสู่ความวิกฤต เหตุจากปัญหารุมเร้าหลายอย่าง ที่ก่อตัวเสี่ยงอันตรายมากขึ้นตามลำดับ ไล่ตั้งแต่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว  

ภาคเอกชนมีหนี้ท่วม ตัวเลขรวมของหนี้พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 250% ของจีดีพี เนื่องจากทำธุรกิจผิดพลาด ส่วนใหญ่มาจากการผลิตถ่านหินและเหล็กล้นตลาด สร้างที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานที่ขายไม่ได้

ปัญหาสำคัญอีก 2 อย่าง คืออัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่อง และเหล่าเศรษฐีหอบเงินหนีออกนอกประเทศ ไปฝากเป็นเงินสกุลอื่น รวมทั้งนำไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อความปลอดภัย

ทอม ฮอลแลนด์ นักวิเคราะห์มากประสบการณ์ แห่งหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ของฮ่องกง มองว่าปัญหาที่ระบุทั้งหมด เป็นความจริงระดับหนึ่ง

ขณะประเด็นที่นำมาโหมกระแสความหวั่นวิตก ฮอลแลนด์มองว่าเป็นประเด็นที่เกินจริง เป็นการประโคมข่าวไม่ต่างกับการเล่านิทานสยองขวัญ ที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง แต่มันเป็นเพียงนิทานไม่ใช่เรื่องจริง

ฮอลแลนด์ระบุว่า รัฐบาลจีนมีมาตรการที่ทรงประสิทธิภาพพอต่อการแก้ปัญหาทั้งหมด ไม่ให้บานปลายสู่ภาวะวิกฤต เช่น มาตรการเข้มงวดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศรายบุคคล จำกัดการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ

แผนแก้ปัญหาอีกส่วนหนึ่ง คือมาตรการควบคุมหนี้ภาคเอกชนไม่ให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ และกำชับให้ลดการผลิตถ่านหินและเหล็กไม่ให้ล้นตลาด

ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทางการจีนตั้งเป้าอัตราขยายตัวไว้เท่ากับปีที่แล้วที่ 6.5%

ทั้งหมดทั้งปวง ฮอลแลนด์ฟันธงว่า รัฐบาลจีนมีมาตรการส่งเสริมและปกป้องเศรษฐกิจในปีนี้ ให้แข็งแกร่งเกินกว่าจะดิ่งสู่ภาวะวิกฤตได้

จีนเป็นยักษ์เศรษฐกิจของโลก ถ้าล้มย่อมเสียงดัง และมีพลังกระเพื่อมส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้าง

แต่จากมุมมองของฮอลแลนด์ น่าจะช่วยคลายความวิตกให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีนได้บ้าง

หรืออย่างน้อย ก็น่าจะลดความน่าเชื่อถือของข่าวปั่นกระแสหวั่นวิตกลงได้


You must be logged in to post a comment Login