วันพฤหัสที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

กคช. วางเกณฑ์หาพื้นที่พัฒนาที่อยู่อาศัย

On January 16, 2017

นางกรแก้ว  ไกรเพ็ชร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติ        ได้พัฒนาระบบภูมิสารสนเทศที่อยู่อาศัย (Geographic Information System – GIS) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กร และบริการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาชนที่สนใจ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง          ตามนโยบายของรัฐบาลด้านการบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาการระบายน้ำ ทั้งนี้การเคหะแห่งชาติได้จัดทำฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศอาคารสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเส้นทางลำน้ำสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลางและภาคเหนือ ครอบคลุม 16 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครสวรรค์ ชัยนาท สุโขทัย พิจิตร อุทัยธานี อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร สุพรรณบุรี สระบุรี นครนายก และปราจีนบุรี นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังได้มอบหมายให้การเคหะแห่งชาติจัดทำแผนการจัดหาที่พักอาศัยแบบถาวรให้กับผู้ที่มีที่อยู่อาศัยตั้งอยู่ในพื้นที่กีดขวางลำน้ำสาธารณะและจะต้องย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งการเคหะแห่งชาติเห็นว่าการจัดหาพื้นที่เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับการย้ายที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำเส้นทางลำน้ำสาธารณะนั้น ต้องอาศัยเทคโนโลยีและเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลภูมิสารสนเทศและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีความจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบโปรแกรมประยุกต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ข้อมูลให้มีความรอบด้าน และเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

การเคหะแห่งชาติจึงได้ร่วมกับบริษัท จีไอเอส จำกัด จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “เรื่องการกำหนดเกณฑ์ ปัจจัยและวิธีที่ใช้ในการวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับแผนการจัดหาที่พักอาศัย” ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้  การจัดทำระบบฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศอาคารสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเส้นทางน้ำและที่ดินว่างเปล่า เพื่อสนับสนุนภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำเกณฑ์ และปัจจัยที่ใช้ในการวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสม (Potential Area) ไว้รองรับแผนการพัฒนาและจัดหาที่อยู่อาศัย สำหรับชุมชน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กีดขวางลำน้ำสาธารณะและกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและประชาชน         ที่เกี่ยวข้องก่อนนำไปดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่อย่างรอบด้าน เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพตามความเหมาะสมของแปลงที่ดินต่อไป


You must be logged in to post a comment Login