วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ตำนานโรดแม็พ 3 ขั้น/ โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On January 16, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

“โรดแม็พ” โดยความหมายตรงตัวคือ “แผนที่การเดินทาง” ถูกนำมาใช้ในความหมายของการดำเนินการ ในอดีตที่ผ่านมาสังคมไทยไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า “โรดแม็พ” หรืออย่างน้อยก็ไม่เคยมีการใช้คำนี้ในทางการเมืองอย่างเป็นทางการ

คำว่า “โรดแม็พ” กลายเป็นคำทางการหลังจากการยึดอำนาจล้มล้างระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็แถลงเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยมีสาระสำคัญว่า คสช. มีเป้าหมายที่จะคืนความสุขให้ประชาชนคนไทยทั้งชาติ รวมทั้งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนเฉพาะหน้าเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ และที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวงตลอดมาได้รับการปกป้องจากคนไทยทุกคน และนำประเทศไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ปราศจากความขัดแย้ง

พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ คสช. จะใช้โรดแม็พ 3 ขั้นคือ ระยะที่ 1 คือช่วงแรกของการควบคุมอำนาจในการปกครอง จะดำเนินการในเรื่องการปรองดองสมานฉันท์ให้เร็วที่สุดในกรอบเวลา 2-3 เดือน ระยะที่ 2 การใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งกำลังดำเนินการจัดทำอยู่ในฝ่ายกฎหมาย จะมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติ สรรหานายกรัฐมนตรี ตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการ ร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญ พร้อมกับการตั้งสภาปฏิรูปเพื่อปฏิรูปการแก้ไขในทุกเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องการและเป็นที่ยอมรับ โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถ้าหากสถานการณ์เรียบร้อยเป็นปรกติ ปฏิรูปสำเร็จ ปรองดองสมานฉันท์กับทุกฝ่าย ประชาชนมีความรักความสามัคคีกัน ก็จะเริ่มดำเนินการก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 คือการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์

การชี้แจง “โรดแม็พ” ครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ย้ำตอนท้ายด้วยว่า “ประชาธิปไตยที่จะต้องเตรียมการแก้ไขปรับปรุงนั้นจะมาถึงในระยะเวลาที่ไม่นานนัก” และ “ทหารก็จะกลับไปทำภารกิจของเราต่อไป และจะคอยเฝ้ามองประเทศชาติและประชาชนชาวไทยก้าวต่อไปข้างหน้าสู่อนาคต”

ตามนัยของการแถลงหมายความว่า คสช. จะดำเนินการเปลี่ยนผ่านตาม “โรดแม็พ” และนำมาสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยภายในไม่เกิน พ.ศ. 2558

โรดแม็พของ คสช. ในระยะที่ 1 ดูเหมือนจะผ่านไปเรียบร้อยดี จึงมีการเปลี่ยนผ่านมาสู่ระยะที่ 2 โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดย พล.อ.ประยุทธ์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญถาวร โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน

แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยชุดนายบวรศักดิ์ถูกคว่ำในสภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558 จึงต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และกลายเป็นข้ออ้างสำคัญที่นำมาสู่การเลื่อนโรดแม็พครั้งใหญ่ของ คสช. โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558 ว่าโรดแม็พใหม่จะเป็นไปตามสูตร 6+4+6+4=20 คือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 6 เดือน ทำประชามติภายใน 4 เดือน เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติจะประกาศใช้ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 จากนั้นจะร่างกฎหมายลูกภายใน 6 เดือน และจะมีการเลือกตั้งในอีก 4 เดือน คือจะเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 นายวิษณุยังอธิบายว่า ที่ต้องใช้เวลานานถึง 20 เดือน เพราะการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนมีความยาก ไม่สามารถทำให้เสร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็วได้

สรุปโรดแม็พตามที่นายวิษณุอธิบายขณะนั้น การครองอำนาจของรัฐบาล คสช. ในระยะเปลี่ยนผ่านขั้นที่ 2 จะยืดยาวจากเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 ถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2560 หรือเลื่อนจาก 1 ปี กลายเป็น 3 ปี แต่เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ก็ยังไม่มีการประกาศใช้ และมีแนวโน้มจะเลื่อนโรดแม็พการเลือกตั้งอีกครั้ง เมื่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ออกมาเปิดประเด็นว่าการเลือกตั้งน่าจะเลื่อนไปเป็นช่วงกลางปี 2561 เพราะร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก 50 ฉบับ อาจจะพิจารณาไม่เสร็จ

การแถลงของนายสุรชัยแม้จะมีเสียงคัดค้านจำนวนมาก แต่เมื่อวันที่ 6 มกราคม นายวิษณุก็อธิบายว่า โรดแม็พยังเป็นเช่นเดิม เพียงแต่เมื่อหลายเดือนก่อนที่รัฐบาลบอกว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2560 เพราะสมมุติฐานที่ว่าได้ทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 คิดว่าน่าจะได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯลงมาในเดือนพฤศจิกายน 2559 แล้วประกาศใช้ต่อไป การเลือกตั้งก็จะมีขึ้นในปี 2560 แต่กรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ทำให้ทุกอย่างเลื่อนไป จนวันนี้ก็ยังไม่พระราชทานรัฐธรรมนูญลงมา จึงนับไม่ถูก ตอบไม่ถูก

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา สวนดุสิตโพลซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโพลเอาใจรัฐบาลทหารได้เปิดเผยผลสำรวจว่า ประชาชน 51.23% เห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองวันนี้ยังไม่พร้อมจะเลือกตั้ง เพราะยังมีความขัดแย้ง กังวลว่าบ้านเมืองจะไม่สงบ อาจเกิดการชุมนุมเคลื่อนไหว แก้ปัญหาการเมืองไทยได้ยาก และยังจะมีพระราชพิธีสำคัญ ขณะที่ประชาชน 48.77% เห็นว่าควรมีการเลือกตั้งตามโรดแม็พ ซึ่งข้อสรุปจากโพลคือ การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปมีผลตอบรับในทางบวก

เมื่อมาถึงขณะนี้จึงเห็นได้ว่า โรดแม็พเดิมของ คสช. ที่เคยแถลงหลังการรัฐประหารกลายเป็น “ตำนาน” ที่ไม่มีใครประเมินได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไร เพราะทราบกันดีว่าการจะให้มีการเลือกตั้งของ คสช. นั้น มาจากการกดดันของนานาชาติที่อยากให้สังคมไทยแก้ปัญหาด้วยการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย

ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าชนชั้นนำไทย รวมถึงชนชั้นกลางในเมือง ไม่เคยเห็นว่าการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป็นทางออกของประเทศ แต่กลับวิตกเสมอว่าประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งความวุ่นวาย นักการเมืองทุจริต และกลับมาบริหารด้วยนโยบายประชานิยม

ดังนั้น เมื่อสังคมภายใต้ระบอบเผด็จการมีเสถียรภาพและมีการปฏิรูปอยู่แล้ว จึงมีโพลหรือข้ออ้างที่จะเลื่อนโรดแม็พการเลือกตั้งต่อไปและคืนความสุขให้ประชาชนกันอย่างนี้


You must be logged in to post a comment Login