วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ล่มไม่เสียหาย

On January 20, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การสร้างความปรองดองจากจุดเริ่มมีสัญญาณตอบรับที่ดี แต่เวลาผ่านไม่กี่อึดใจสถานการณ์เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อทุกฝ่ายเริ่มแสดงท่าทีและความต้องการของตัวเองออกมา

ความชัดเจนตอนนี้มีเพียงเรื่องเดียว ทหารจะไม่ร่วมลงนาม MOU ว่าในอนาคตข้างหน้าจะไม่ทำปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนอีก

เหตุผลของการปฏิเสธลงนาม MOU ว่าจะไม่ทำปฏิวัติจากปากของ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือที่ผ่านมาทหารไม่เคยคิดอยากทำปฏิวัติ แต่จำใจทำเพราะต้องการให้บ้านเกิดความสงบ

ที่สำคัญคือทหารจะออกมายึดอำนาจไม่ได้ หากว่าประชาชนไม่เห็นด้วย

ข้อเสนอถูกปัดทิ้งไปหนึ่งเรื่อง โดยที่ยังไม่ทันได้นำขึ้นโต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการ

ส่วนการนั่งโต๊ะคุยกันอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ ต้องบอกว่าสัญญาณในตอนนี้ไม่เด่นชัดเหมือนตอนจุดพลุปรองดองขึ้นมาใหม่ๆ

ดีไม่ดีจะมีการนั่งโต๊ะเจรจา แต่จะใช้วิธีให้แต่ละฝ่ายเสนอแนวทางสร้างความปรองดองมาให้ทหารพิจารณา

หากไม่นั่งคุยกันโดยมีผู้มีอำนาจตัดสินใจ ทุบโต๊ะสั่งได้ว่าเรื่องไหนคุยต่อให้ได้แนวทางปฏิบัติเรื่องไหนยุติเอาไว้ก่อนร่วมวงพูดคุยด้วย การสร้างความปรองดองรอบใหม่ก็แทบปิดฉากตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

ขณะนี้มีความชัดเจนว่าทหารจะไม่ร่วมนั่งคุยในวงปรองดอง เพราะมองว่าตัวเองไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ขอทำหน้าที่แค่รวบรวมความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆมาพิจารณา

ส่วนที่แสดงท่าทีว่าไม่ขอร่วมพูดคุยจะไม่บังคับ

เมื่อเป็นอย่างนี้ ทำให้มีแนวโน้มว่าเรือแห่งความปรองดองล่มตั้งแต่ยังไม่ได้ออกจากท่า

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลทหารคสช.มีความมุ่งมั่นที่จะทำเรื่องปรองดองคงต้องทำในลักษณะคิดเองเออเอง หรือเอาผลการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองของคณะกรรมาธิการในประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไปปรับใช้ โดยมีเสียงของฝ่ายการเมือง กลุ่มการเมืองนั่งวิพากษ์วิจารณ์อยู่ข้างนอก

ตามคิวแล้วการสร้างความปรองดองของรัฐบาลจะเริ่มต้นจากการหารือกันระหว่าง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รองประธาน สนช. และ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รองประธานสปท.

การพูดคุยกันจะมีขึ้นในวันนี้ (20 ม.ค.) มีวาระเพื่อหารือเบื้องต้นถึงการวางกรอบสร้างความปรองดอง

นอกจากนี้ ยังจะใช้วิธีนำผลการศึกษาของคณะกรรมการหลายชุดที่เคยศึกษาเรื่องการปรองดองมาต่อยอดเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยจะนำมาดูว่ามีเรื่องใดบ้างที่เสนอมาแล้วทำไม่ได้ เหตุผลอะไรถึงทำไม่ได้ และจะแก้ปัญหาอุปสรรคนั้นอย่างไร

สรุปคือรัฐบาลทหารคสช. โดยเฉพาะผู้ที่รับหน้าที่สร้างความปรองดองอย่าง พล.อ.ประวิตร น่าจะมีแนวทางอยู่ในใจแล้ว แต่อยากได้ภาพของความร่วมไม้ร่วมมือ ภาพของการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น จึงเริ่มต้นจุดพลุสร้างความปรองดองด้วยการประกาศว่าจะตั้งเวทีให้นักการเมือง กลุ่มการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งมาพูดคุยกัน

ทั้งๆที่รู้ว่าจะมีความเห็นแตกต่างหลากหลายตั้งแต่ยังไม่เริ่มคุยอย่างเป็นทางการ จะมีการโต้เถียงกันจนทำให้ดูวุ่นวายไม่ลดราวาศอก

สุดท้ายแม้จะไม่มีเวทีพูดคุยรัฐบาลทหารคสช.ก็ไม่เสียหาย เพราะสังคมจะมองว่าเวทีปรองดองเกิดขึ้นไม่ได้เพราะฝ่ายการเมือง กลุ่มการเมืองที่ไม่ยอมลดราวาศอกให้กัน เอาความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่สนใจประโยชน์ส่วนรวม

ปล่อยทุกอย่างคาราคาซัง ไม่ทำให้สำเร็จก็ไม่เสียหาย

หรือจะใช้อำนาจทุบโต๊ะทำเองตามที่มีแนวทางอยู่ในใจแล้วก็ยังได้ภาพว่ามีความมุ่งมั่นที่จะทำให้บ้านเมืองสงบเกิดความปรองดอง

นี่คือที่มาของการยืนยันซ้ำหลายครั้งเพื่อให้สังคมเชื่อว่าทหารเป็นคนกลางไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง เพื่อตอกย้ำความเชื่อที่ว่าทหารยึดอำนาจเพราะต้องการสร้างความสงบให้บ้านเมืองจึงไม่จำเป็นต้องเซ็น MOU ว่าจะไม่ปฏิวัติอีกในอนาคต


You must be logged in to post a comment Login